คอลัมนิสต์

เปิด25ข้อทวงศักดิ์ศรี  ครูไทยกลับคืน

เปิด25ข้อทวงศักดิ์ศรี ครูไทยกลับคืน

09 ธ.ค. 2562

เปิด 25 ข้อ ทวงศักดิ์ศรี ครูไทยกลับคืน ....ทำไมต้องทวงคืน...หาคำตอบได้จาก...คมชัดลึกออนไลน์

 

      

            ด้วยจิตวิญญาณของ “พ่อพิมพ์-แม่พิมพ์”ของชาติ ตามวิถีครูไทยในชนบทแล้ว ครูเป็นที่พึ่งของคนในชุมชน ครูเป็นศูนย์รวมของชุมชน ครูเป็นที่รักและเคารพ ครูเป็นวิชาชีพอันทรงเกียรติ เพราะ“ครูคือผู้สร้างคนให้เป็นคน”เด็กๆในชนบทแดนไกลชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีเพราะมีครูดี 

 

     อ่านข่าว :  นัด ครู-ผอ.ร.ร.ทั่วประเทศแต่งดำ ค้านยุบ-เลิกเขตพื้นที่กศ.

     

             แต่ใครจะคาดคิดว่า ยุคคสช. โดย "คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา"  หรือบอร์ดกอปศ.ที่มี "นพ.จรัส สุวรรณเวลา" อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั่งเป็นประธานนั้นได้ “ยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ”หลังจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ถูกมองว่าล้าสมัย ใช้มานานจะ20ปี จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามพลวัตรของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

     

            แต่ดูเหมือนว่า เนื้อหาสาระของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับ “หมอจรัส” อ่านกี่ครั้งผู้เขียนก็ไม่สะบาย ดูหมิ่นเหม่และล่อแหลมต่อการหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นครูไทยเป็นอย่างยิ่ง และเกรงว่าหากผ่านขั้นตอนเป็นกฏหมายบังคับใช้ หรือ ใช้อำนาจพิเศษออกเป็นพระราชกำหนดแล้ว จะกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ด้วยหรือไม่

  

             เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (สบมท.)เปิดเผย “คมชัดลึกออนไลน์” ว่า สบมท. รับไม่ได้กับร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับ กอปศ. จึงออกมาเรียกร้อง25ข้อทวงศักดิ์ศรีครูไทยกลับคืน เพื่อคุณภาพการศึกษาไทย เพื่อความมั่นคงของชาติ  เพราะการศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ ดังนี้ 1.ให้มีการนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่กอปศ. ยกร่างมาพิจารณาใหม่ โดยให้มีการแต่งตั้งข้าราชการครูให้มีส่วนร่วมในการยกร่างและให้มีการทำประชาพิจารณ์ทั้งฉบับอย่างแท้จริง

 

            2.ให้ยกเลิกมติ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่ให้งดจัดสรรอัตรา ทดแทนให้กับโรงเรียนทีมีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน กรณีครูหรือผู้บริหารโรงเรียนเกษียณอายุราชการ และให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีระยะห่างจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ในตำบล เดียวกันน้อยกว่า 6 กิโลเมตร

 

 

           3.ให้มีการลงนามตั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเป็นเขตจังหวัดให้ครบทุกจังหวัด 4. ให้มีการดำเนินการยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 19  5. ให้มีการตั้งกรมการมัธยมศึกษาและกรมการประถมศึกษา 6. ให้มีเจ้าหน้าที่สนับสนุนการสอน เช่น เจ้าหน้าที่ธุรการ เจ้าหน้าที่พัสดุ บรรณารักษ์ ฯลฯ ให้ครบทุกโรงเรียนเพื่อคุณครูจะได้ปฏิบัติหน้าที่สอนอย่างเดียว

   

            7. ให้มีนักการภารโรงให้ครบทุกโรงเรียน 8. ให้มีพนักงานขับรถทุกโรงเรียนที่มีรถของโรงเรียน 9. ให้มีการเปิดสอบคัดเลือกบุคคลเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนทุกจังหวัดทุกปี แม้ไม่มี อัตราว่างก็ตาม เพื่อจะได้ให้โอกาสรองผู้อำนวยการได้สอบขึ้นบัญชีไว้สำหรับการเรียกตัวเป็นผู้อำนวยการ ทดแทนอัตรากำลังเกษียณอายุราชการในแต่ละปี และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักเกณฑ์การย้ายตาม ว 9 ที่ยังมีผลใช้บังคับ 10. ให้เพิ่มหลักเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะตาม ว 13 และ ว 17 

       

           11. ให้มีการเสนอให้ครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและรองผู้อำนวยการโรงเรียน  วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ได้รับเครื่องราชฯ ชั้นสายสะพาย เมื่อเกษียณอายุราชการ 12. ให้มีการแก้ไขหนี้สินครูอย่างจริงจังโดยให้มีการพักหนี้ หรือ ลดดอกเบี้ย และขยายเวลาการชำระหนี้  13. ให้ครูอัตราจ้างที่จ้างด้วยเงินงบประมาณของทางราชการได้รับการบรรจุ เป็นข้าราชการครู หลังจากผ่านการประเมิน

       

           14. ให้มีผู้แทนครูและผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาในองค์คณะการบริหารงานบุคคล ทุกคณะ 15. ให้มีการปรับปรุง สร้างบ้านพักครูหรือแฟลตของครูให้เหมาะสมและเพียงพอ 16. ให้มีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนของนักเรียนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของ การเปลี่ยนแปลงของโลกและให้ลดวิชาการเรียนให้น้อยลงแต่สอดคล้องกับความต้องการในการประกอบอาชีพของนักเรียน 17. ให้มีการปรับปรุงแก้ไขวิธีการวัดและการประเมินผลให้มีแนวทางที่เป็นการวัด เพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง

                   

 

 

             18.ให้รัฐวางแผนการผลิตบุคลากรอาชีพต่างๆ ล่วงหน้า 10 ปี ให้มีความเพียงพอ ต่อความต้องการของประเทศ ไม่ผลิตบุคคลากรในวิชาชีพที่ล้นงานและให้วางแผนการสร้างบุคคลากรในวิชาชีพ นั้นๆ ตั้งแต่ในระดับมัธยมศึกษา 19. ให้ยกเลิกการทำ PLC และการทำ Logbook และไม่ให้นำเอาเรื่องดังกล่าวไปผูกติด กับการเลื่อนวิทยฐานะ 20. ให้ครูมีหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียว ไม่ให้นำโครงการพิเศษใดๆ มาให้ครูทำอันเป็น การเพิ่มภาระ

 

         21.ในรอบปีหนึ่งๆ ให้มีการประเมินคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาเพียงครั้งเดียว 22. ข้าราชการครูประเภท ๓๘ ค (๒) ต้องได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนข้าราชการครู 23. กรณีข้าราชการครูเกษียณอายุราชการ หรือสถานศึกษามีอัตราว่าง ขอให้มีการ บรรจุและแต่งตั้งโดยเร็วโดยในส่วนของผู้บริหารโรงเรียนนั้นให้ไปปฏิบัติหน้าที่ภายในวันที่ 1 ตุลาคม และในส่วน ของคุณครูให้ไปปฏิบัติหน้าที่ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี

 

             24. กรณีรัฐบาลขยายระยะเวลาเกษียณอายุราชการ นั้น ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการให้เท่าเทียมกับข้าราชการกระทรวงอื่น และ25. ข้าราชการครูบรรจุใหม่ต้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอย้ายได้เมื่อบรรจุครบ2ปี

     

         "ผมฝากถึงคุณครูที่เคารพครับ ทุกท่านต้องร่วมแรงร่วมใจและมีส่วนร่วมในการดำเนินการใดๆ เพื่อเป็นการปกป้องไม่ให้ใครก็ตามมาลดเกียรติภูมิของครู ลดคุณค่าของครู ลดสิทธิประโยชน์ของครู และทำให้นักเรียนเสียโอกาสในการพัฒนา ดังนั้นหากผู้นำองค์กรครูแต่ละองค์กรพบเห็นการกระทำใดๆ ของหน่วยงานของรัฐ ที่กระทำการอันเป็นการกระทบกับคุณภาพการศึกษาและขอความร่วมมือใดๆ จากคุณครูขอได้โปรดอย่านิ่งนอนใจ และโปรดให้ความร่วมมือด้วยครับ" ดร.รัชชัยย์ กล่าวในที่สุด

 

         ว่ากันว่า ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับ กอปศ. มีความเร่งรีบในการดำเนินการ หลายขั้นตอน เพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นกฏหมาย...เกาะติดเรื่องนี้กับ...คมชัดลึกออนไลน์