คอลัมนิสต์

บินช่วงปีใหม่ผู้บริโภคต้องได้รับความเป็นธรรม

บินช่วงปีใหม่ผู้บริโภคต้องได้รับความเป็นธรรม

11 ธ.ค. 2562

บินช่วงปีใหม่ผู้บริโภคต้องได้รับความเป็นธรรม คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย  โดย...  ทีมข่าวอาชญากรรม

 

 


          นับวันผู้คนสนใจเดินทางด้วยสายการบินมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหยุดยาวอย่างปีใหม่ แม้ราคาค่าตั๋วจะแพงกว่ารถทัวร์กับรถไฟ แต่ส่วนใหญ่ต้องการ “ซื้อเวลา” เพราะมีความสะดวกรวดเร็วกว่าการเดินทางด้วยรถ เนื่องจากการจราจรติดขัด บางคนเสียเวลาไปเป็นวันกว่าจะถึงภูมิลำเนา หรือสถานที่ท่องเที่ยวเป้าหมาย ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจสายการบินและตัวแทนขายตั๋วโดยสารต่างหา “กลยุทธ์ดึงดูดลูกค้า” ใช้วิธีการขายหรือโฆษณาผ่านทางช่องทางต่างๆ เพื่อจูงใจผู้บริโภคให้เกิดความสนใจ ซึ่งแน่นอนว่าบ่อยครั้งกลยุทธ์เหล่านั้นมีการ “ล้ำเส้น” จนนำไปสู่การ “เอาเปรียบ” ผู้บริโภค

 

 

บินช่วงปีใหม่ผู้บริโภคต้องได้รับความเป็นธรรม

 

 

          สำหรับปัญหาการใช้บริการของสายการบินโลว์คอสต์ที่พบบ่อย ได้แก่ 1.สายการบินเลื่อนเวลาเดินทางหรือยกเลิกเที่ยวบินโดยไม่แจ้งล่วงหน้าหรือแจ้งกระชั้นชิด 2.กรณีจองตั๋วโดยสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมีการคิดค่าบริการซ้ำซ้อนเนื่องจากระบบ ERROR 3.ไม่สามารถยกเลิกการเดินทางหรือเปลี่ยนชื่อผู้เดินทางได้ 4.สายการบินคิดค่าใช้จ่ายในการขอเปลี่ยนเส้นทาง หรือขอเลื่อนการเดินทางสูงกว่าราคาตั๋วโดยสาร 5.กระเป๋าเดินทางชำรุด หรือสูญหาย หรือทรัพย์สินภายในกระเป๋าสูญหาย 6.การโฆษณาจัดโปรโมชั่นลดราคาโดยไม่แจ้งเงื่อนไขที่ชัดเจน เช่น จำนวนที่นั่ง ราคาค่าใช้จ่ายอื่นๆ

 

 

 

บินช่วงปีใหม่ผู้บริโภคต้องได้รับความเป็นธรรม

 


          ขณะเดียวกันกรณีสายการบินโลว์คอสต์ยกเลิกเที่ยวบินจะมีประกาศ กระทรวงคมนาคม เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ.2553 เที่ยวบินล่าช้า 1) ล่าช้าเกินกว่า 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง 2) ล่าช้าเกินกว่า 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมง 3) ล่าช้าเกินกว่า 5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง 4) ล่าช้าเกินกว่า 6 ชั่วโมง ส่วน การยกเลิกเที่ยวบิน หรือปฏิเสธการขนส่งระหว่างประเทศ จะมี พ.ร.บ.การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ.2558 กำหนดไว้ใน มาตรา 12 และ มาตรา 15 ทั้งนี้ ต้องดูถึงสาเหตุของความล่าช้าด้วยว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เช่น สภาพอากาศ ปัญหาด้านความปลอดภัย หรือปัญหาการจัดการหรือความไม่พร้อมของสายการบิน และหากผู้บริโภคได้รับความเสียหายเกินกว่าที่มาตรการตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทย ในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ.2553 ผู้บริโภคสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนพร้อมเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าเสียหายได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ “สคบ.”

 

 

บินช่วงปีใหม่ผู้บริโภคต้องได้รับความเป็นธรรม



          เพื่อเป็นการป้องปรามและรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้จะถึงนี้ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เป็นประธานการประชุมหารือ “มาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้บริการสายการบิน” ร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพฯ

 

 

 

บินช่วงปีใหม่ผู้บริโภคต้องได้รับความเป็นธรรม

 


          นายเทวัญ กล่าวว่า ปัญหาของผู้บริโภคในการเดินทางท่องเที่ยวและเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลปีใหม่และในช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่อง ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยนิยมใช้บริการสายการบินในการเดินทาง เพราะมีความสะดวกสบาย ประหยัดเวลาในการเดินทาง ส่งผลให้ สคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค เกี่ยวกับกรณีการได้รับความเสียหายจากการใช้บริการสายการบินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น การยกเลิกเที่ยวบิน สายการบินเดินทางล่าช้า สัมภาระผู้โดยสารสูญหาย เสียหายจากการขนย้าย ระบบการจองตั๋วโดยสารเครื่องบินผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตขัดข้อง การจองตั๋วโดยสารผ่านตัวแทนจำหน่ายไม่เป็นไปตามสัญญา สคบ.จึงดำเนินการบูรณาการเพื่อหามาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้บริการสายการบิน


          หากผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้บริการสายการบิน สามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วน 1166 หรือร้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ www.ocpb.go.th หรือมาร้องเรียนด้วยตนเองที่ สคบ.

/////////////////

ภาพประกอบ

ID: 20191209100814861

ID: 20191209100858621

ID: 20191209100926586

ID: 20191209100953697