คอลัมนิสต์

 ปิดจ๊อบ เรือดำน้ำ

 ปิดจ๊อบ เรือดำน้ำ

12 ธ.ค. 2562

 ปิดจ๊อบ เรือดำน้ำ คอลัมน์...  ถอดรหัสลายพราง  โดย...  พลซุ่มยิง

 

 

 

          ยังเป็นประเด็นไม่จบสิ้นสำหรับการจัดซื้อเรือดำน้ำชั้นหยวนคลาส เอส 26 ที ประเทศจีน ระยะที่สองและสามจำนวน 2 ลำ ด้วยงบประมาณรวม 22,500 ล้านบาทของกองทัพเรือ ซึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าอาจต้องชะลอไปอีกขยักหนึ่ง เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรตามงบประมาณประจำปี 2563 จำนวน 4.7 หมื่นล้านบาท อาจไม่เพียงพอที่จะผลักดันโครงการดังกล่าว 

 

 

          ซึ่งตามแผนเดิม ‘กองทัพเรือ’ ดำเนินการจัดซื้อเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ แบบจีทูจี ซึ่งผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีในกรอบวงเงิน  3.6 หมื่นล้านบาท โดยได้ดำเนินการจัดซื้อลำแรกไปแล้ว ด้วยงบผูกพัน 7 ปี คือ 2560-2566 และใช้เวลาต่อเรือ 6 ปี ส่วนลำที่สองและสามจะทยอยจัดซื้อให้แล้วเสร็จภายใน 11 ปี นั้นหมายความว่าไทยจะมีเรือดำน้ำครบ 3 ลำ ประมาณปี 2570 


          ต่อประเด็นดังกล่าว พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ และโฆษกกองทัพเรือ เคยออกมายืนยันว่า ทุกอย่างยังคงเดินตามแผนเดิม แต่อาจต้องรัดเข็มขัดกันครั้งใหญ่เพราะเป็นการใช้งบประมาณในส่วนของกองทัพเรือที่จะต้องไปบริหารจัดการเป็นการภายในให้เพียงพอและที่สำคัญหากจบโครงการนี้ได้จะส่งผลดีเพราะจีนยังคงตรึงราคาเดิมไว้ ไม่ได้ปรับเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อ


          เรื่องเก่าเพิ่งเคลียร์จบเรื่องใหม่ก็ตามมาเมื่อ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะอนุกรรมาธิการคณะกรรมาธิการครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้างและรัฐวิสาหกิจ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ระบุ อนุกรรมาธิการได้แขวนงบประมาณโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำระยะที่สองของกองทัพเรือไว้ก่อน


          ทำเอาคนใน ‘กองทัพเรือ’ เช็กข่าวกันให้วุ่นว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะไม่ได้เตรียมแผนรองรับ หากโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำระยะที่สองถูกแขวนตามที่เป็นข่าว จนได้ข้อสรุปว่าต้องรอมติที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการคณะกรรมาธิการครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้างและรัฐวิสาหกิจ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่มีการประชุมไปเมื่อ 10 ธันวาคม 2562 ภายใต้การนำของ พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม เสนาธิการทหารเรือ พร้อมคณะทำงานโครงการจัดซื้อเรือดำ พร้อมข้อมูลเข้าชี้แจงเพิ่มต่อคณะกรรมาธิการอย่างครบถ้วนและสามารถตอบข้อสงสัยได้ทุกประเด็น ส่งผลโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำระยะที่สอง และที่ 3 จำนวน 2 ลำผ่านไปด้วยดี และไม่ได้ถูกแขวนงบอย่างที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ แม้จะถูดตัดงบรถดับเพลิงไปเล็กน้อยแต่ไม่ส่งผลกระทบอะไร




          ในขณะที่ พล.ร.อ.สิทธิพร ได้รายงาน พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ให้รับทราบ โดยขั้นตอนต่อไปเมื่อโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำระยะที่สองและสามผ่านชั้นคณะกรรมาธิการแล้วจะเข้าสู่การอนุมัติแผนและขั้นตอนอื่นตามลำดับ และจากนั้นเป็นเรื่องกองทัพเรือที่ต้องบริหารจัดการงบประมาณตัวเองและดำเนินการเรื่องว่าจ้างต่อไป


          อย่างไรก็ตามแผนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไม่ได้มีเพียงของกองทัพเรือเท่านั้น ในส่วนของกองทัพบกมีโครงการที่น่าสนใจทั้งการจัดซื้อยานเกราะลำเลียงพล หรือสไตรเกอร์ ลอต 2 จำนวน 50 คัน ตั้งงบไว้ที่ 4,500 ล้านบาท หลังจัดซื้อลอตแรกไปแล้ว 37 คัน ตามวงเงิน 2,960 ล้านบาท หลัง  พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จัดซื้อลอตแรกไว้ที่ 37 คัน ตามวงเงิน 2,960 ล้านบาท


          นอกจากนี้ยังมีแผนจัดซื้อปืนใหญ่ขนาด 155 มม. เพื่อทดแทนจของเก่า โดยตั้งงบไว้ที่ 2,000 ล้านบาท และอีก 900 ล้านบาท ตั้งงบไว้จัดซื้อปืนใหญ่ขนาด 105 มม.ด้วย พร้อมตั้งงบไว้ 1,350 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องบินแบบใช้งานทั่วไป ซึ่งนโยบายคือการจัดซื้อจากสหรัฐ รวมถึงการแผนจัดซื้อรถถังวีที 4 ลอตที่ 3 จำนวน 1,600 ล้านบาท เพื่อทดแทนรถถังเอ็ม 41 โดยงบผูกพันตั้งแต่ปี 2563-2565 


          ส่วนกองทัพอากาศ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ตั้งแผนจัดซื้อเครื่องบินขับไล่เพื่อทดแทนเอฟ-16 ตามโครงการระยะที่ 1 จำนวน 5,000 ล้านบาท โดยเป็นงบผูกพัน 3 ปี คือตั้งแต่ 2563-2566 ส่วนกริพเพนที่ตกไปก่อนหน้านี้ยังไม่มีแผนในการจัดซื้อเพิ่ม แต่ได้ตั้งงบประมาณไว้ 3,700 ล้านบาท ในการพัฒนาปรับปรุงขีดความสามารถในการส่งกำลังบำรุง และปรับสมรรถนะในเรื่องเทคโนโลยีและอุปกรณ์การฝึกโดยเป็นงบประมาณผูกพัน 3 ปีเช่นกัน 


          นอกจากนี้กองทัพอากาศยังตั้งงบประมาณไว้ 2,450 ล้านบาท ตามโครงการลอตที่ 4 เพื่อจัดซื้อเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นแบบ T-50TH เพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่/ฝึกแบบที่ 1 หรือ L-39 อีกจำนวน 4 เครื่องเพื่อให้ครบ 1 ฝูงบิน หรือ 16 เครื่อง