คอลัมนิสต์

ความหลงผิดของ โบว์ กับอีโก้ ธนาธร 

ความหลงผิดของ โบว์ กับอีโก้ ธนาธร 

17 ธ.ค. 2562

ความหลงผิดของ โบว์ กับอีโก้ ธนาธร  คอลัมน์...  กระดานความคิด   โดย...   บางนา บางปะกง

 

 

 


          แถลงข่าวครั้งแรกของ ธนวัฒน์ วงค์ไชย เปิดเผยถึงกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 มกราคม 2563 ย้ำเป็นกิจกรรมวิ่งอย่างเดียว ไม่ใช่ม็อบ และไม่ได้เกี่ยวกับพรรคอนาคตใหม่ เพราะผู้จัดใช้ชื่อ “คณะกรรมการแนวร่วมสมาคมสมาพันธ์ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุงเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน” (สธช.)

 

 

          จะว่าไปแล้ว พี่เลี้ยง “บอล ธนวัฒน์” ก็คือ “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำกลุ่มพลังมด โดยสองสามปีก่อน โบว์เคลื่อนไหวในนามกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ร่วมกับรังสิมันต์ โรม, อานนท์ นำภา และ “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

 

 

ความหลงผิดของ โบว์ กับอีโก้ ธนาธร 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 

 


          จากการจัดแฟลชม็อบของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่สกายวอล์ก “โบว์” ได้เข้าไปร่วมแต่ไม่ได้เป็น “ดารานำ” ประจำม็อบ หลังยุติการชุมนุม “โบว์” โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นเกี่ยวกับม็อบเบื่อประยุทธ์ยาวพอประมาณ


          เธอยอมรับว่า เป็นก้าวแรกของการแสดงพลังที่พูดได้เต็มปากว่าประสบความสำเร็จ ผู้มาร่วมชุมนุมมาจากหลายปัจจัย ทั้งความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ และมาจากแฟนคลับของพรรคอนาคตใหม่


          “ความท้าทายอยู่ที่ก้าวต่อไป อนค.ต้องเข้าใจชัดเจนว่า คนที่ออกมาในวันนี้ คือคนที่ไม่พอใจกับรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากคณะรัฐประหาร ที่ร่างกติกาบิดเบี้ยวและสร้างวัฒนธรรมการเลือกปฏิบัติอย่างเข้มข้นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ”


          โบว์เริ่มหวาดระแวงพรรคอนาคตใหม่ “อนค.หรือผู้นำการชุมนุมตามจุดต่างๆ ต้องไม่เข้าใจผิดว่าทุกคนที่ออกมาคือกองเชียร์ธนาธร หรือ อนค. แม้จะเป็นแนวร่วม แต่หากสารที่สื่อในการชุมนุมหรือการส่งเสียงนำมวลชนไขว้เขวไปเป็นเรื่องของพรรค จะเป็นการจำกัดกลุ่มผู้เข้าร่วม และขยายตัวยาก”

 

 

 

ความหลงผิดของ โบว์ กับอีโก้ ธนาธร 

ณัฏฐา มหัทธนา

 


          วัฒนธรรม “ม็อบการเมืองไทย” นับแต่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จนถึงการชุมนุมของมวลมหาประชาชน ปี 2556-2557 การจะระดมผู้คนได้เรือนหมื่นเรือนแสน ต้องมี “ดารานำ” 


          แน่นอน เหตุแห่งความไม่พอใจรัฐบาลโกงกิน หรือชิงชังเผด็จการทหาร เป็นปัจจัยพื้นฐาน แต่วัฒนธรรมการเมืองไทย แยกไม่ออกจากวัฒนธรรมลิเก ที่ต้องมี “พระเอก” เป็นผู้นำมวลชน  


          อย่างม็อบขับไล่รัฐบาลสุจินดา การก้าวออกมาเป็นผู้นำมวลชนของ “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง”  ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งประเทศ แม้แกนนำนักศึกษาสมัยนั้น จะรู้สึกไม่พอใจที่ “มหาจำลอง” มาชิงธงการนำมวลชน


          นอกจากมหาจำลองจะอยู่บนหลังคารถเครื่องขยายเสียง ก็ยังมี “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” เดินเกมหลังม่าน รวบรวมไพร่พลเคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่มอำนาจ รสช.


          ตลอดปี 2534 ครป. และ สนนท. พยายามเคลื่อนไหวจัดชุมนุมคัดค้านการร่างรัฐธรรมนูญ 2534 แต่ก็ไม่มีคนสนใจมากนัก กระทั่งมีเลือกตั้ง พรรคพลังธรรมมีชัยในสนามกรุงเทพฯ ชนิดแลนด์สไลด์ สะท้อนบารมีของมหาจำลองชัดเจน


          ปี 2548-2549 ปรากฏการณ์สนธิ ทำให้ “สนธิ ลิ้มทองกุล” เป็นผู้นำมวลชน ลบคำปรามาสจากพรรคไทยรักไทย ที่มองว่า การทำม็อบไม่ง่าย แต่การชุมนุมนัดแรก มีผู้เข้าร่วม 4 หมื่นคน ทำเอาทักษิณ ชินวัตร และคนใกล้ชิดตกตะลึง


          ปี 2552-2553 ปรากฏการณ์แดงทั้งแผ่นดิน เกิดขึ้นเพราะอดีตนายกฯ ที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ใครก็รู้ว่า ผู้นำม็อบตัวจริงไม่ใช่ “ตู่-เต้น” ด้วยเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ ทำให้ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นผู้นำม็อบผ่านการโฟนอินทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม 


          ปี 2556-2557 เวทีผ่าความจริงของพรรคประชาธิปัตย์ จัดขึ้นทั่วประเทศ เหมือนการสะสมความไม่พอใจต่อระบอบทักษิณ เมื่อ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” นักการเมืองผู้มากบารมีกระโจนออกจากรัฐสภามานำม็อบ พลังมวลมหาประชาชนจึงอุบัติขึ้น


          สำหรับการเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.นั้น เริ่มก่อการมาแต่ปี 2558 จนถึงปี 2560  “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา ร่วมกับ รังสิมันต์ โรม พยายามปลุกม็อบอีกรอบ แต่ไม่สำเร็จ 


          จุดอ่อนของม็อบคนอยากเลือกตั้งคือ ผู้นำอย่างโบว์หรือโรม ไม่ใช่แม่เหล็กที่จะดึงดูดผู้คนออกมา ต่างจากธนาธรในวันนี้ ที่ได้แรงหนุนจากสนามเลือกตั้งมาแล้ว


          หากวันหน้า โบว์ยังหลงทฤษฎีการเมืองมวลชนแบบงูๆ ปลาๆ ก็จะแตกหักกับธนาธร เพราะระดับไพร่หมื่นล้าน ย่อมมีความมั่นใจในตัวเองสูง ไม่ยอมให้พวกเด็กๆ มาชี้นำอย่างแน่นอน