ปุ๊กกี้ พันยาเสพติด...อีกหนึ่งดาราอับแสง
ปุ๊กกี้ พันยาเสพติด...อีกหนึ่งดาราอับแสง
นับเป็นคดีดังอีกคดีในรอบปี 2562 กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.ปส. จับกุม น.ส.ปริศนา พรายแสง หรือพริสซิลลา จิวเมลลี่ หรือ “ปุ๊กกี้” อายุ 40 ปี อดีตนักร้องสาวชื่อดังในยุค 90 พร้อมด้วย นายชลวิทย์ คีตะตระกูล อายุ 49 ปี สามี และนายหง เจิ้ง อี้ อายุ 28 ปี ชาวไต้หวัน พร้อมของกลางยาเคตามีน 5.2 กก. ยาไอซ์ 98.3 กรัม ยาบ้า 8 เม็ด ยาอี 10 เม็ด กัญชาแห้ง 40 กรัม อุปกรณ์การผลิต และที่เขี่ยบุหรี่ที่มีช่องลับ 39 อัน เตรียมซุกยาส่งไปยังประเทศไต้หวัน มูลค่ากว่า 10,452,800 บาท โดยจับกุมตรวจยึดของกลางได้ที่บ้านพัก ซอยรามอินทรา 65 ถนนรามอินทรา เขตบางเขน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2562 และขยายผลยึดของกลางในอีกหลายจุดในพื้นที่กรุงเทพฯ
ต่อมาเจ้าหน้าที่ยังตามจับกุม นายกันต์ธร หรือมิว แก้วกระจ่าง อายุ 28 ปี และ น.ส.ธาริณี ขาวบัณฑิต อายุ 23 ปี ขณะหลบหนีไปที่ท่าเรือเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ทั้งนี้เป็นผลมาจากการรวบรวมพยานหลักฐานและตรวจสอบการเงินของปุ๊กกี้ พบว่ามียอดเงินหมุนเวียนจำนวนมาก มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางการเงินหลายคน เมื่อดูจากพยานหลักฐานอื่นประกอบแล้ว พบว่านายกันต์ธรทำหน้าที่เป็นผู้จัดหายาเสพติดให้กลุ่มปุ๊กกี้ จึงออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งสองคนดังกล่าวและตามควบคุมตัวมาได้ ซึ่งสอบสวนได้ข้อมูลว่านายกันต์ธรและน.ส.ธาริณีรู้จักกันผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยฝ่ายหญิงมีอาชีพจัดงานอีเวนต์
และเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ศาลอาญา รัชดาฯ นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีที่ปุ๊กกี้ แฟนหนุ่ม และผู้ต้องหา รวมทั้งหมด 5 ราย ในความผิดร่วมกันค้ายาเสพติด ปรากฏว่าจำเลยที่ 1-3 คืออดีตนักร้องสาว แฟนหนุ่ม และผู้ต้องหาชาวไต้หวัน ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 4-5 คือ นายกันต์ธร และ น.ส.ธาริณีให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ซึ่งจำเลยที่ 4 เพียงรู้จักกับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 เคยรับโอนเงินจำนวน 50,000 บาท จากจำเลยที่ 4 ที่เป็นคู่รักกันเท่านั้น โดยกำหนดนัดสืบพยานนัดแรกในวันที่ 8 กันยายน 2563
คดีนี้ในช่วงจับกุมตอนแรกมีกระแสข่าวออกมาว่ามีดาราหลายรายเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งเป็นผู้ซื้อยาเสพติดรวมไปถึงเป็น้ผู้รับช่วงยาเสพติดไปขายรายย่อยต่อก็มี ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขยายผลแต่จนปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานแน่ชัดที่เชื่อมโยงไปถึงดาราคนอื่น โดยก่อนหน้านี้ก็มีดาราบางคนออกมายืนยันความบริสุทธิ์ใจว่าเงินที่โอนเข้าบัญชีของปุ๊กกี้เป็นเงินค่าจ้างในวงการบันเทิง อาทิ เป็นพิธีกรในงานอีเวนต์ เป็นดาราเชิญมาร่วมงานต่างๆ เป็นต้น
สำหรับอดีตนักร้องสาวปุ๊กกี้ได้ห่างหายวงการบันเทิงไปพอสมควร แต่ยังมีงานโฆษณาสินค้าและออกรายการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์บ้าง รวมทั้งมีงานแสดงคอนเสิร์ตของค่ายเพลงที่เคยสังกัดอยู่ เมื่อมาถูกจับกุมฐานพัวพันค้ายาเสพติดจึงกลายเป็นข่าวครึกโครมที่คนมีชื่อเสียงไปยุ่งเกี่ยวทำผิดกฎหมาย อีกทั้งยาเสพติดเป็นสิ่งต้องห้ามการไปเสพหรือเกี่ยวข้องย่อมกลายเป็นแกะดำไม่สามารถอยู่ในวงการบันเทิงได้ เท่ากับพฤติการณ์ของตนเองส่งให้เจ้าตัว “อับแสง” บนถนนบันเทิง
หากย้อนไปในอดีตก็จะพบว่าเหล่าบุคคลในวงการบันเทิงที่มีชื่อเสียงได้ตกเป็นประเด็นร้อนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งเป็นผู้เสพและพัวพันการค้ายาด้วยจำนวนไม่ใช่น้อย มีทั้งดาราชาย-หญิงที่ต้อง “อับแสง” ไปทันใด เพราะยิ่งมีสถานะเป็นคนของประชาชนยิ่งต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนรวมทั้งสังคมด้วย จึงถือว่าการที่ดารานักแสดงเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็นการกระทำความผิดที่มากกว่าบุคคลธรรมดา และไม่บ่อยครั้งนักที่เส้นทางบนถนนบันเทิงจะเปิดต้อนรับให้โอกาสอีกครั้งสำหรับดาราหรือคนบันเทิงที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดก็คงหนีไม่พ้นใน 3 หัวข้อหลัก คือ 1.การป้องกันทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่กลุ่มเสี่ยง รวมถึงเด็กและเยาวชน การให้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ เช่น โทษและอันตรายของยาเสพติด รูปลักษณะของยาเสพติด การป้องกันตนเองให้พ้นจากยาเสพติด เป็นต้น รวมถึงส่งเสริมการป้องกันในสถาบันครอบครัวให้มีความอบอุ่น ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการเสพยาเสพติดและสนับสนุนให้สมาชิกในครอบครัวหันไปสนใจในเรื่องกีฬาและออกกำลังกายในยามว่าง การป้องกันมิให้มีการลักลอบผลิตและจำหน่ายยาเสพติด ซึ่งเป็นในเรื่องเข้มงวดควบคุมสารสำคัญและสารประกอบที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดพร้อมทั้งมีบทลงโทษที่เข้มแข็งด้วย
2.การปราบปรามผู้ที่ลักลอบผลิต-นำเข้าและจำหน่ายยาเสพติดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีการตั้งสินบนรางวัลนำจับแก่ผู้ให้เบาะแสและผู้จับกุมผู้กระทำผิด และลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเหมาะสม และ 3.การบำบัดรักษาผู้ที่เสพยาเสพติดที่ต้องการจะเลิกเสพยา ทางการแพทย์และทางราชการให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ป่วยสามารถเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลรักษาผู้ติดยาเสพติดทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพจนหายแล้ว ก็จะสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ และเป็นคนดีของสังคมได้
สำหรับในรอบปี 2562 โดยสรุปภาพรวมผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด พบว่าตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 ถึง 18 กันยายน 2562 พบว่ามีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคดียาเสพติดกว่า 350,000 คดี ยึดของกลางยาบ้ากว่า 512 ล้านเม็ด ยาไอซ์เกือบ 15 ตัน เฮโรอีนกว่า 800 กิโลกรัม โคเคน 25 กิโลกรัม เคตามีน 720 กิโลกรัม กัญชากว่า 13,000 กิโลกรัม และขยายผลยึดทรัพย์สินของเครือข่ายยาเสพติดอีกกว่า 3,000 ล้านบาท รวมมูลค่ายาเสพติดกว่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขมหาศาล สะท้อนให้เห็นว่าภัยยาเสพติดยังไม่หมดไปจากประเทศอย่างง่ายๆ แน่นอน และตัวสะท้อนอีกประการคือผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศจากคดียาเสพติดมีมากที่สุด
เมื่อต้นเดือนธันวาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลปี 2563 โดยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) หัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนกลางและภูมิภาค ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร และผู้แทนภาคประชาชนกว่า 500 คนเข้าร่วมงานครั้งนี้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำนโยบายว่า รัฐบาลมีเจตนารมณ์ในการแก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง โดยรัฐบาลนี้ต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็ง เข้มงวด เด็ดขาด แก้ปัญหาในองค์รวมให้ได้ และสามารถจับกุมผู้ค้าได้เป็นล้านรายแต่ก็มีการพูดกันว่ายาเสพติดมากขึ้น ทั้งที่เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติแต่กลับแก้ไม่ได้สักที พร้อมกันนี้นายกฯ ยังระบุว่า อยากให้เน้นย้ำในมาตรการป้องกันมากกว่าปราบปราม เพราะจะสิ้นเปลืองข้าวในคุกและเสียงบประมาณ และขอให้ดำเนินการทุกอย่างด้วยความระมัดระวัง สอดคล้องกับกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งการปราบปรามยาเสพติดถือเป็นนโยบายเร่งด่วนทุกปีจะปราบปรามจนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่งหรือจนกว่าจะไม่มีรัฐบาล
“ต่อจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีความคิดริเริ่มในการแก้ปัญหา ไม่ใช่รอแต่สั่ง หรือรอแต่นโยบาย ให้คิดเองบ้าง ทำอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย และปีต่อไปนี้ ผมจะติดตามแผนงาน ผลสัมฤทธิ์ต่างๆ ว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้วหรือไม่” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการติดตามประเมินผลการทำงาน
ดังนั้นต้องดูกันต่อไปว่าการแก้ปัญหายาเสพติดจะเดินหน้าไปในทิศทางใด หรือยังแค่วนในอ่างที่ต้องเสียเวลา-เสียเงินตั้งงบประมาณในแต่ละปีไม่ใช่น้อย !