ทษช.-อนค. สองพรรคสุดร้อน บนเวทีการเมืองไทย
ทษช.-อนค. สองพรรคสุดร้อน บนเวทีการเมืองไทย โดย... ทีมข่าวการเมือง เครือเนชั่น
“พรรคไทยรักษาชาติและพรรคอนาคตใหม่” คือสองพรรคการเมืองที่มีสีสันที่สุดสำหรับการเมืองไทยในรอบปีที่ผ่านมา...
“ทษช.” คือพรรคนอมินีของพรรคเพื่อไทยที่แตกตัวมาชิงพื้นที่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันออกแบบมามิให้มีพรรคเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะบทเรียนในวันวานซึ่งพรรคเสียงข้างมากดำเนินนโยบายที่ทำความเสียหายให้บ้านเมือง ฉะนั้นการสลายกำลังของพรรคอันดับหนึ่งของประเทศ (พรรคไทยรักไทย, พลังประชาชน, เพื่อไทย) ที่ชนะเลือกตั้งสามครั้งหลังสุดนั้น มิควรได้รับโอกาสนี้อีก เพราะรัฐบาลผสมคือเป้าหมายที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้วางไว้
แกนนำของพท.จึงหารือเพราะมองกันแล้วว่าคะแนนพึงมีที่จะใช้คำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพท.นั้น คงจะเกิดไม่ได้ เว้นแต่จะมีการชนะเลือกตั้งในแต่ละเขต 5 หมื่นคะแนนขึ้นไป แต่มองแล้วเป็นไปได้ยาก เพราะ "พรรคพลังประชารัฐ” ที่รวบรวมคนการเมืองหลากพรรคมาสังฆกรรมและวางตัวเป็นคู่แข่งกับพท.เป็นการเฉพาะ เพราะมีหลายปัจจัยเกื้อหนุน
วันนั้น “ทักษิณ ชินวัตร และคณะ” ได้เคาะโต๊ะให้มีการแตกหน่อพท.ออกมาเป็นพรรคเพื่อธรรม ตอนนั้นมีการเปิดตัว ”สมพงษ์ อมรวิวัฒน์“ เป็นหัวหน้าพรรค แต่โมเดลนี้ก็ยุติไป โดยมีการคลอด ”ทษช.” ออกมาแทน โดยใช้คนรุ่นใหม่จากพท. ส.ส.หน้าใหม่และมวยใหญ่ทางการเมือง รวมทั้งแกนนำนปช.บางคนไปร่วมงาน และยังมีการสร้าง “พรรคเพื่อชาติ” มาเป็นพรรคของ ”คนเสื้อแดง” เป็นการเฉพาะ
แปลว่าสามพรรคที่ลงเลือกตั้งครั้งล่าสุดนั้น “คนไกลบ้าน” วางแผนและเดินเกม “แบ่งขุมกำลัง ร่วมกันเดิน แยกกันตี” โดยจะไปแบ่งพื้นที่หาแต้มในแต่ละจังหวัด โดยเมื่อทราบผลเลือกตั้งแล้วจะไปรวมตัวกันอีกครั้ง ณ รัฐสภา
“ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช” ส.ส.ขอนแก่น พท. ในตอนนั้นทำหน้าที่หัวหน้าพรรค ทษช. โดยรับรู้กันทั่วว่า ร.ท.ปรีชาพล มีความแนบชิดกับ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เพียงใด... รวมทั้งลูกหลานในเครือชินวัตรก็มาอยู่ที่ทษช.และเปิดตัวชัดแจ้ง ตอนนั้น ทษช.วางเป้าส่งผู้สมัครส.ส.ในบางจังหวัดว่า "ชนะแน่นอน” และหวังผลได้ "อันดับที่สองและสาม” ในเขตที่ พท.ปักธงไม่ได้หลายสมัย โดยมีการคาดว่า อันดับที่สองและสามในแต่ละเขตนั้นจะเป็นคะแนนที่ทำให้ทษช.ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หลายคน และตอนนั้นมีการตั้งเป้าไว้สี่สิบส.ส.
สิ่งที่ฮือฮาที่สุดคือการเสนอรายชื่อบุคคลที่จะเป็นแคนดิเดตของทษช. 8 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคไทยรักษาชาติยื่นพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสนอขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติระบุว่า “พระองค์ท่านทรงมีพระเมตตาตอบรับและให้พรรคไทยรักษาชาติเสนอพระนามในบัญชีนายกฯ ของพรรค”
ต่อมาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 12.30 น. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติตามมาตรา 92 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ตามมติในที่ประชุม กกต. เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ต่อศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นพรรคไทยรักษาชาติร้องคัดค้านการยุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562
กระทั่งวันที่ 7 มีนาคม 2562 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติพร้อมตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง จดทะเบียนจัดตั้งพรรคใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นเวลา 10 ปี
ปิดฉากการเมืองสำหรับพรรคที่มีแคมเปญหาเสียง "โลกต้องก้าวไกล ไทยต้องก้าวทัน” บนถนนการเมือง
ส่วน "พรรคอนาคตใหม่” นั้น เปิดตัวร้อนแรงในหลายวาระที่หาเสียง หวังกุมคะแนนคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกและคนที่หน่ายการเมืองแบบเดิมๆ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรค หาเสียงโจมตี คสช.และหวังปฏิรูปการเมืองใหม่ทั้งระบบ โดยเสี่ยเอกเคยกล่าวกับสื่อบางแขนงว่า อนค.จะมีส.ส.ระบบเขตหลายคน และอนค.น่าจะได้ส.ส.สองระบบทะลุสี่สิบคน
พรรคสีส้มประกาศนโยบาย 12 วาระ ในงาน “เปิดวิสัยทัศน์ เปลี่ยนอนาคต” ได้แก่ 1.ยุติระบบราชการรวมศูนย์ กระจายอำนาจ กระจายคน กระจายงบ 2.ไทยเท่าเทียมสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร 3.ปฏิวัติการศึกษา ลงทุนให้ถูกจุด ลดความเหลื่อมล้ำ 4.ทลายเศรษฐกิจผูกขาด ล้างระบบเส้นสาย หยุดทุนใหญ่กินรวบประเทศ 5.ขนส่งสาธารณะเพื่อทุกคน เดินทางได้โดยไม่ต้องซื้อรถ สร้างเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมรถไฟ 6.เกษตรก้าวหน้า ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยเทคโนโลยี แก้ปัญหาเอกสารสิทธิ ปลดหนี้เกษตรกร 7.เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อประชาชน พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยี ส่งเสริมธุรกิจยุคใหม่ 8.เปิดข้อมูลรัฐกำจัดการทุจริต สร้างรัฐโปร่งใส ให้อำนาจตรวจสอบในมือประชาชน 9.โอบรับความหลากหลาย เคารพความแตกต่าง ศักดิ์ศรีคนต้องเท่าเทียม 10.สิ่งแวดล้อมยั่งยืน ลดใช้พลาสติก สร้างเศรษฐกิจจากขยะ 11.ปฏิรูปกองทัพ ลดนายพล ละอาวุธ เลิกเกณฑ์ทหาร 12.ปักธงประชาธิปไตย ล้างมรดกรัฐประหาร สร้างการเมืองแบบใหม่ เจ้านายคือประชาชน
วันนั้นหลายคนไม่เชื่อสิ่งที่เสี่ยเอกระบุไว้ และเมื่อทษช.สลายไป มีกระแสข่าวว่า แต้มในมือของทษช.ที่มีอยู่ให้เทไปให้พรรคสีส้มในฐานะพันธมิตร เพราะเขตเลือกตั้งที่ทษช.ส่งผู้สมัครนั้น พท.มิได้ส่งแข่งขัน “ส้มหล่น” บางส่วนของทษช.จึงไหลไปยังอนค. และบังเกิดตัวเลข 81 ส.ส.พรรคสีส้ม (ปัจจุบันคือ 80 ส.ส.เพราะเสียพื้นที่นครปฐมเขตห้าในการเลือกตั้งซ่อม) จนฮือฮากันทั่ววงการ เพราะตอนนั้น อนค.คือพรรคอันดับสามแห่งสภาผู้แทนราษฎร...
เสี่ยเอกเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของอนค. และเจ็ดพรรคร่วมที่เรียกตัวเองว่าเป็น "ฝ่ายประชาธิปไตย” ในตอนนั้น ก็เสนอชื่อเสี่ยเอกชิงตำแหน่งนี้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562 ณ หอประชุมทีโอที แจ้งวัฒนะ แต่สุดท้ายลุงตู่เป็นผู้มีสิทธิคัมแบ็กตึกไทยคู่ฟ้าจากการลงมติของส.ส.และส.ว.ด้วยคะแนน 500 เสียง ต่อ 244 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง
แต่วิบากกรรมของเสี่ยเอกและอนค.นั้น มีคดีความกว่ายี่สิบคดีที่ต้องสู้กันหลายยก โดยคดีที่เสี่ยเอกหลุดเก้าอี้ส.ส.ถาวรหลังจากต้องยุติการทำหน้าที่ไปชั่วคราวหลังจากมีการร้องเรียนว่าเสี่ยเอกถือหุ้นสื่อในวันลงสมัครส.ส. โดยวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 วินิจฉัยให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเสี่ยเอกในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่สิ้นสุดลง จากกรณีถูกกล่าวหาว่าถือหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดอันเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (3) มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ทำให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6)
ศาลวินิจฉัยว่าเมื่อไม่พบว่าบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งทำนิตยสาร มีการจดแจ้งยกเลิกการพิมพ์ ดังนั้นจะอ้างว่าปิดกิจการและเลิกจ้าง/แจ้งหยุดกิจการชั่วคราวไปแล้วไม่ได้ เพราะจะกลับมาทำอีกเมื่อไรก็ได้ จึงเท่ากับว่า “วี-ลัค มีเดีย” ยังประกอบกิจการสื่อมวลชนในวันที่ธนาธรสมัครเลือกตั้ง
ส่วนในกรณีการโอนหุ้นในวันที่ 8 มกราคม 2562 จากเสี่ยเอกให้ "สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่ไม่ปรากฏการส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ซึ่งโดยปกติ "วี-ลัค มีเดีย" จะจัดส่งสำเนาต่างๆ ด้วยระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์มาโดยตลอดอยู่แล้ว ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องจึงฟังไม่ขึ้น
และอีกหนึ่งคดีที่ส่งผลต่อพรรคสีส้มแน่แท้คือ...คดี กกต.มีมติเสนอศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 กรณีการกู้เงินหัวหน้าพรรค โดยกกต.ทั้งเจ็ดมองว่าการที่พรรคอนาคตใหม่กู้เงินจากหัวหน้าพรรคนั้น ผิดกฎหมายพรรคการเมือง ตามมาตรา 62, 66 และมติ กกต.5 ต่อ 2 เสียงเสนอยุบพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา72,92 โดย กกต.ใช้เวลาสองร้อยหกวันในการดำเนินการกรณีนี้และมีการให้พรรคอนาคตใหม่ส่งเอกสารเพิ่มเพื่อชี้แจงและให้ความเป็นธรรม แต่พรรคอนาคตใหม่ต่อรองเพิ่มเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน กกต.ไม่อนุญาตและให้เวลาเพียงเจ็ดวัน แต่พรรคอนาคตใหม่ไม่ดำเนินการ กกต.จึงดำเนินการวินิจฉัยและเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน
ต้องลุ้นกันว่ากรรมการบริหารพรรค อนค.สิบห้าคน และเป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สิบคน จะโดนตัดสิทธิทางการเมืองหรือไม่ โดยต้องดูว่าจะรับโทษ 5 ปี 10 ปี 20 ปี และหากโดนยุบพรรคห้วงเวลาหกสิบวันตามที่กฎหมายระบุให้ส.ส.หาพรรคใหม่สังกัด โดยเสี่ยเอกมองว่า “หกสิบส.ส.” จะไปอยู่พรรคใหม่ของพรรคอนาคตใหม่ และ “ยี่สิบส.ส.” จะไปสังกัดพรรคอื่น (ชาติพัฒนา พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย) เพราะมีกระแสข่าวว่าจะใช้ ”หลักลิงกินกล้วย”
หากพรรคอนาคตใหม่โดนยุบ สมการการเมืองเปลี่ยนไป เพราะจำนวนส.ส.ฝ่ายค้านจะลดลงทันที เพราะบางส่วนจะไปอยู่พรรคร่วมรัฐบาล รัฐบาลเรือเหล็กเสียงจะไม่ปริ่มน้ำแล้ว
ทษช.และอนค.คือสองพรรคร้อนแรงประจำปี 2562 ที่สร้างตำนานบทใหม่บนประวัติศาสตร์การเมืองไทยแบบที่ยากจะหาพรรคใดเลียนแบบได้....