ไทย..2562 กระแสต้านขยะพลาสติกในทะเล
ประมวลข่าวเด่นรอบปี2562 ไทย...2562 กระแสต้าน ขยะพลาสติกในทะเล โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ช่วงปลายเดือนเมษายน 2562 ชาวโซเชียลพากันตื่นเต้นกับกระแสโพสต์ช่วยชีวิต “น้องมาเรียม” ลูกพะยูนตัวเมียวัย 6 เดือน ที่พลัดหลงจากแม่จนถูกคลื่นซัดมาเกยตื้นแถวอ่าวนาง จ.กระบี่ ด้วยความน่ารักของพะยูนตัวน้อย ทำให้กลายเป็นขวัญใจชาวไทยที่เฝ้าติดตามข่าวตั้งแต่เช้าถึงเย็นว่าน้องมาเรียมมีกิจกรรมอะไรบ้าง
อ่านข่าว : รำลึกมาเรียมเก็บขยะลดใช้พลาสติก
โดยเฉพาะช่วงที่เจ้าหน้าที่ดูแลช่วยกัน “ป้อนนม” “กินหญ้าทะเล” หรือ “สอนว่ายน้ำ” เพื่อฝึกให้น้องมาเรียมสามารถกลับสู่ท้องทะเลไปตามหาแม่พะยูน ซึ่งคาดกันว่าน่าจะว่ายน้ำวนเวียนหาลูกอยู่ไม่ไกลจากแถวนั้นมากนัก ภาพคลิปลูกพะยูนไม่ยอมว่ายไปในทะเล แต่พยายามว่ายเข้าหาพี่เลี้ยง สร้างความน่าเอ็นดูเป็นอย่างมาก
“มาเรียม” หมายถึง “ผู้หญิงแห่งท้องทะเลผู้มีความสง่างาม” เป็นชื่อที่ตั้งโดยทีมเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในแต่ละวันมีชาวบ้านและอาสาสมัครกว่า 30 ชีวิต ช่วยกันดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ประมาณวันที่ 10-11 สิงหาคม น้องมาเรียมเริ่มมีอาการซึมและอ่อนเพลีย หายใจผิดปกติ มีกลิ่นเหม็นจากเนื้อเยื่อเมือกบริเวณในช่องปากมีแผล 2-3 แห่ง สัตวแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นว่าน่าจะติดเชื้อในกระแสเลือดและปอดอักเสบ
ผ่านไปไม่กี่วัน วันที่ 17 สิงหาคม ทีมสัตวแพทย์ออกประกาศว่า “น้องมาเรียม ได้จากพวกเราไปแล้ว” สร้างความช็อกให้คนไทยผู้ติดตามให้กำลังใจพะยูนน้อยกำพร้าแม่มาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
ทีมพี่เลี้ยงบางคนร้องไห้ด้วยความเศร้า !
หลังผ่าพิสูจน์สืบหาการเสียชีวิต ทีมสัตวแพทย์ไม่ต่ำกว่า 10 คน ต้องตะลึงหลังพบ เศษพลาสติกเล็กๆหลายชิ้นขวางลำไส้ ส่งผลให้เกิดการอุดตันและอักเสบ ทำให้มีแก๊สสะสมเต็มทางเดินอาหาร และพบการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง
แต่ไม่มีใครแน่ใจว่า “ขยะพลาสติก” ที่เจอในท้องน้องมาเรียมนั้น เป็นถุงพลาสติกที่มีอยู่ตั้งแต่เจอครั้งแรกที่ทะเลกระบี่ หรือเป็นพื้นที่ทะเลเกาะลิบง
“จตุพร บุรษพัฒน์” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้สัมภาษณ์ว่า
“มาเรียมได้ทำหน้าที่เป็นทูตสันถวไมตรี ช่วยให้มนุษย์ได้มีโอกาสใกล้ชิดและเข้าใจความต้องการของสัตว์ทะเลหายากอย่างพะยูนมากยิ่งขึ้น มาเรียมเป็นเหมือนคนในครอบครัว และสมาชิกของชุมชน เป็นความผูกพันระหว่างพะยูนกับคนไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พร้อมทั้งประกาศจัดทำ “มาเรียมโมเดล” เพื่อให้คนไทยและทั่วโลกตระหนักถึงพิษภัยของการทิ้งขยะไม่เป็นที่ โดยเฉพาะขยะพลาสติก ต้องร่วมมือช่วยกันดูแล แก้ไขปัญหาการทิ้งขยะจากบนบกไม่ให้ไหลลงสู่ท้องทะเล เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และสัตว์ทะเลหายากในอนาคตต่อไป
ผ่านพ้นความเศร้าไปไม่กี่วัน คนไทยก็ต้องสลดใจกับ ปัญหาพลาสติก ในท้องทะเลอีกครั้ง กับเรื่องราวของ “ปลาทูไมโครพลาสติก”
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 “ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล” จ.ตรัง สุ่มเก็บตัวอย่างปลาทูเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม นำมาตรวจพบ “ไมโครพลาสติก” ในกระเพาะ ผลปรากฏว่าพบเฉลี่ยตัวละ 78 ชิ้น ทำให้ต้องรีบศึกษาเพิ่มเติมว่าจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ที่กินปลาทูมากน้อยเพียงไร
จากนั้นวันที่ 21 กันยายน 2562 เจ้าหน้าที่ชายฝั่งทะเล 24 จังหวัดทั่วไทย ลงพื้นที่เก็บขยะมากกว่า 2.3 แสนชิ้น น้ำหนักไม่กว่า 10 ตัน โดยชนิดขยะในทะเลที่พบมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ “ถุงพลาสติก” ร้อยละ 22, “ขวดพลาสติก” ร้อยละ 16, “โฟมบรรจุอาหาร” ร้อยละ 9, “ขวดแก้ว” ร้อยละ 5 และ “หลอดดูด” ร้อยละ 5
การพบเศษถุงพลาสติกเต็มท้อง “น้องมาเรียม” และไมโครพลาสติกในท้อง “ปลาทู” สร้างความวิตกให้กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง สาวกสื่อสังคมออนไลน์ช่วยกันแชร์ถึงอันตรายของขยะพลาสติกในท้องทะเลไทย...
รวมถึงการแชร์เรื่องราว “วาฬตายที่สงขลา ผ่าซากเจอถุงพลาสติกดำหนัก 8 กิโล” เต็มกระเพาะอาหาร ซึ่งรูปภาพนี้ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ตอกย้ำปัญหา “ไทยแลนด์” ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล อันดับ 6 ของโลก !
ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.statista.com อ้างถึงกลุ่มประเทศปล่อยขยะลงทะเลมากสุดคือ “กลุ่มอาเซียน”เรียงจากอันดับ 1–6 ได้ดังนี้ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ศรีลังกา และไทย
มีการแสดงความเป็นห่วงเรื่อง “ไมโครพลาสติก” หรือ “พลาสติกจิ๋ว” ที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน เนื่องจากเป็นพลาสติกที่มองแทบไม่เห็น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะปนเปื้อนไปกับน้ำหรืออาหารจากธรรมชาติที่พวกเราดื่มกินเข้าไปในร่างกายโดยไม่รู้ตัว และยังไม่รู้ว่าจะกำจัดทิ้งโดยวิธีใด
“ไมโครพลาสติก” (Microplastics) คือเศษพลาสติกขนาดเล็กกว่า 0.5 เซนติเมตร แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ “กลุ่มเม็ดพลาสติก” ผลิตขึ้นมาเป็นส่วนประกอบของสินค้าต่างๆ เช่น “เม็ดสครับ” ในสบู่ล้างหน้า, “คริสตัล บีดส์” ในผงซักฟอก และ “กลุ่มพลาสติกแตกหัก” หรือเศษหลุดลอกเสื่อมสลาย แตกหักออกมาจากพลาสติกขนาดทั่วไป เช่น เศษถุงพลาสติก กล่องพลาสติกที่เปื่อยหรือแตกแล้ว
ขณะนี้กลุ่มนักวิจัยทางการแพทย์ทั่วโลก กำลังระดมสมองช่วยกันค้นคว้าพิสูจน์ว่ากลไกร่างกายมนุษย์จะขับไมโครพลาสติกทิ้งออกจากร่างกายมนุษย์ได้หรือไม่ เพราะเป็นขนาดเล็กมากๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรืออนุภาคขนาดเล็กของพลาสติกเหล่านี้จะเข้าไปเกาะติดในเนื้อเยื่อหรือผนังทางเดินอาหาร หากสะสมจำนวนมากจะส่งผลให้อวัยวะภายในร่างกายเกิดความผิดปกติได้หรือไม่
ดร.สเตฟานี ไรท์ จากสถาบันการศึกษาคิงส์คอลเลจ ของอังกฤษ เตือนว่า ไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในน้ำและอาหารเหล่านี้ อาจไปซ่อนตัวอยู่ในเซลล์ภูมิคุ้มกันในผนังกระเพาะ หรือสะสมอยู่ที่ต่อมน้ำเหลือง หรือเข้าสู่กระแสเลือดไปสะสมที่ตับได้
ยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์บางคนเตือนว่า อาจมีอันตรายถึงขั้นทำให้เกิดมะเร็งบางชนิด หรือทำให้จำนวนอสุจิลดลง นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาประเมินว่า คนอเมริกันรับไมโครพลาสติกเข้าร่างกายปีละประมาณ 7–9 หมื่นหน่วย
ช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศเริ่มประกาศยกเลิกการใช้ เช่น อังกฤษ สั่งยกเลิกการใช้ไมโครพลาสติกในการผลิตสินค้าเกือบทุกชนิด ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 เกาหลีใต้ยกเลิกการผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพช่องปาก เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของไมโครพลาสติก ตั้งแต่ปี 2560
ล่าสุดวันที่ 21 สิงหาคม 2562 องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกรายงานเกี่ยวกับ “ผลกระทบไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์” โดยมีเนื้อความสำคัญสรุปได้ว่า “ไมโครพลาสติกที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.15 มิลลิเมตร จะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ แต่ถ้าขนาดเล็กกว่านั้นโดยเฉพาะนาโนพลาสติก จะก่อให้เกิดอันตรายได้มากกว่า นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการพบพลาสติกจิ๋วในขวดน้ำดื่มที่วางขายทั่วไปด้วย”
“ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี” นักวิจัยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ให้ข้อมูลว่า คนไทยยังไม่ค่อยตระหนักถึงอันตรายของไมโครพลาสติก ปัจจุบันนี้การผลิตพลาสติกได้ใส่สารอันตรายเติมแต่งลงไปด้วย และยังดูดซับมวลสารพิษอื่นๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ แหล่งดินตามธรรมชาติ ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีสุดคือ ทุกคนต้องช่วยกันลดการใช้พลาสติกให้เหลือน้อยที่สุด เริ่มจากชีวิตประจำวัน เช่น นำถุงพลาสติกมาใช้ซ้ำ เปลี่ยนเป็นพกแก้วและกล่องพลาสติกไว้ใส่เครื่องดื่ม อาหารหรือผลไม้เวลาซื้อรับประทานนอกบ้าน รวมถึงการรณรงค์ให้ภาครัฐตื่นตัวและสนใจปัญหานี้มากขึ้น ที่ผ่านมา “อย.” เคยประกาศให้ปี 2563 เลิกผลิต เลิกนำเข้า เลิกใช้เม็ดบีดส์ในเครื่องสำอาง แต่ยังไม่เห็นแผนปฏิบัติการโดยละเอียด และยังไม่รู้ว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายมากน้อยเพียงไร
ทั่วโลกกำลังหวั่นเกรงว่า “ไมโครพลาสติกคือภัยคุกคามอันดับ 1 ของมนุษยชาติ” (Microplastic pollution ‘number one threat’ to humankind) นักวิทยาศาสตร์ด้านฮอร์โมนสำรวจพบ “สารเคมีในพลาสติก” กระตุ้นให้เนื้อเยื่อของมนุษย์เกิดการพัฒนาแบบผิดปกติ และมีความเป็นไปได้ที่ช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โรคและความเจ็บป่วยต่างๆ อาจเชื่อมโยงถึงการรับพลาสติกเข้าร่างกายแบบไม่รู้ตัว
เช่น โรคความดัน โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคทางสมอง โรคที่เกิดจากฮอร์โมนทำงานผิดปกติ รวมถึงโรคสมาธิสั้น
ปัจจุบันมีสารเคมีกว่า 1,000 ชนิดถูกนำไปผสมในพลาสติกที่พวกเราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้สารพิษเหล่านี้ปนเปื้อนไปในเศษพลาสติกที่ไหลลงทะเลด้วย
ปี 2562 จึงกลายเป็นปีแห่งการเปิดผลอันตราย “มหันตภัยขยะพลาสติกทะเล”!
“คนไทย”สร้าง“ขยะ”มากเท่าไร?
- คนไทยสร้างขยะ “วันละ” 1.15 กก.ต่อคน
- รวมกันทั่วประเทศ “วันละ” 7.6 หมื่นตัน
- ขยะมูลฝอยทั่วประเทศปีละ 27.8 ล้านตัน
- นำมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ 9.58 ล้านตัน (34 %)
- ขยะกำจัดไม่ถูกต้อง 7.63 ล้านตัน (27 %)
ที่มา:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2561