เช็กกฎตั้งจุดตรวจปีใหม่ฝ่ายปกครอง
เช็กกฎตั้งจุดตรวจปีใหม่ฝ่ายปกครอง คอลัมน์... สายตรวจระวังภัย โดย... ทีมข่าวอาชญากรรม
ถึงวันนี้แล้วหลายคนคงเตรียมตัวเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ จึงมักจะเห็นหน่วยงานรัฐตั้งจุดตรวจต่างๆ หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจตรงกันว่า “ด่าน” ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ของตำรวจ หากแต่มีของ “ฝ่ายปกครอง” ด้วย
ด้วยเหตุนี้ ดร.รัฐวิช จิตสุจริตวงศ์ ผอ.ส่วนการสอบสวนคดีอาญา สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จึงออกมากระตุ้นเตือนแนวทางปฏิบัติสำหรับการออกตั้งจุดตรวจป้องกันอุบัติเหตุและรักษาความสงบเรียบร้อยของฝ่ายปกครองทุกท้องที่ทั่วประเทศ
ดร.รัฐวิช อธิบายว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าการตั้งด่านนั้นจริงๆ ในทางทฤษฎีแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ คือ 1.ตั้งด่าน 2.ตั้งจุดตรวจ และ 3.ตั้งจุดสกัด ซึ่งพวกเราฝ่ายปกครองเข้าใจว่าออกไป “ตั้งด่าน” แต่ทางทฤษฎีเป็นการ “ตั้งจุดตรวจ” เพราะถ้าเป็นการตั้งด่านจะหมายถึงการตั้งด่านบนถนนสายหลักที่มีลักษณะเป็นการถาวร มีป้อมหรือที่พำนักของเจ้าหน้าที่ หรืออาจมีแผงกั้น แบริเออร์ หรือไม้กั้น ซึ่งการตั้งด่านลักษณะนี้จะต้องขออนุญาตจากครม. กรมทางหลวง หรือ กอ.รมน. เสียก่อน ขณะที่ฝ่ายปกครองตั้งกันช่วงเทศกาลสำคัญ หรือตั้งเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในชุมชน รวมทั้งการตั้งจุดตรวจค้นหาผู้เสพสารเสพติด หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “ด่านชุมชน” ทว่าจริงๆ แล้ว คือ “จุดตรวจ”
“สิ่งที่จุดตรวจแตกต่างจากการตั้งด่าน คือทำเป็นการชั่วคราว โดยมีกําหนดระยะเวลาเท่าที่มีความจําเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว เช่น พ้นกำหนด 7 วันอันตรายแล้ว หรือค้นหาผู้เสพเสร็จแล้ว ฯลฯ ก็จะยุบจุดตรวจนั้นไป ซึ่งการตั้งจุดตรวจในชุมชนของพนักงานฝ่ายปกครอง ระดับตำบลหรือหมู่บ้าน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ นอกจากเป็นนโยบายสำคัญของทางรัฐบาลในเรื่องการป้องกันและลดอุบัติเหตุแล้วยังเป็นหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ และตาม ป.วิ.อาญา โดยพนักงานฝ่ายปกครองมีอำนาจทำการสืบสวนหรือทำการค้นในที่สาธารณะ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดหรือรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมได้” ดร.รัฐวิช กล่าว
ผอ.ส่วนการสอบสวนคดีอาญา บอกอีกว่า ขอให้นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ (ผรส.) ก่อนนำสมาชิก อส. หรือ ชรบ. ออกปฏิบัติหน้าที่ตั้งจุดตรวจในชุมชน ก็ขอให้เช็กและเตรียมความพร้อมก่อนออกปฏิบัติงานกันก่อนดังนี้ 1.การขออนุญาต/อนุมัติ และการรายงานผู้บังคับบัญชา ต้องทำการขอนุญาต/อนุมัติจากท่านนายอำเภอเสียก่อน หรือในทางปฏิบัติอาจให้ปลัดอำเภอปฏิบัติราชการแทนนายอำเภออนุญาต/อนุมัติแทนก็ได้
2.อุปกรณ์สำหรับการตั้งจุดตรวจที่เป็นมาตรฐาน ประกอบด้วย ไฟส่องสว่างในจุดตรวจ ป้ายหยุดตรวจ กรวยยางหรือแผงกั้น นกหวีด ไฟฉาย กระบอกไฟ ถุงมือ และเสื้อสะท้อนแสง วิทยุสื่อสาร กล้องบันทึกภาพ เครื่องพันธนาการ หน่วยแพทย์หรืออุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น รถยนต์พร้อมน้ำมันเชื้อเพลิงและพลขับ เอกสารหรือแบบฟอร์มต่างๆ เช่น คําสั่งอำเภอที่ให้ออกปฏิบัติหน้าที่ บัตร ป.ป.ส./บัตรพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ แบบบันทึกการจับกุม แบบยินยอมเข้ารับการบำบัด ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 108/2557 ฯลฯ อุปกรณ์การตรวจต่างๆ เช่น เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ หรืออุปกรณ์ตรวจสารเสพติด ฯลฯ 3.การจัดกำลังและแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ควรแบ่งเป็นส่วนหน้า ส่วนกลาง ส่วนหลัง และ 4.วิธีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ ต้องผ่านการฝึกอบรมทักษะ ยุทธวิธีการตรวจค้น และซักซ้อมแนวทางปฏิบัติก่อนออกตั้งจุดตรวจจริง
ปฏิบัติงานตามกฎเพื่อให้มีมาตรฐาน เกิดปลอดภัยและป้องกันการสูญเสีย ควบคู่ไปกับการให้บริการ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพี่น้องประชาชน..!!