วิกฤติฝุ่นพิษ
วิกฤติฝุ่นพิษ บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันเสาร์ - วันอาทิตย์ ที่ 11-12 มกราคม 2563
สถานการณ์ฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 กลับมาเป็นปัญหาของคนไทยอีกระลอก โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ตรวจพบค่าระหว่าง 52-113 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ใจกลางเมืองหลวง เราจะเห็นหมอกควันพิษได้ชัดเจนตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ยันบ่ายเย็น อีกทั้งสภาวะอากาศที่ย่ำแย่ดังกล่าวส่งผลให้กรุงเทพมหานครถูกจัดจากการรายงานสภาพอากาศทั่วโลกของเว็บไซต์ airvisual.com ให้อยู่ในลำดับท็อปเท็นในบางช่วงเวลา ดูแล้วน่าตกใจและน่าห่วงใยต่อสภาพแวดล้อมของคนกรุง รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่างยิ่ง โดยหน่วยงานภาครัฐได้บูรณาการภายใต้ชื่อ “การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง” ติดตามความก้าวหน้าของแผนการในครั้งนี้ด้วย
จากการสรุปสถานการณ์พบ 3 ปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้ประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ ยังต้องเสี่ยงต่อสถานการณ์ฝุ่นพิษ พีเอ็ม 2.5 มาจากแหล่งต้นกำเนิด 3 ส่วน คือ รถยนต์, การเผาที่โล่งแจ้ง และสภาพความกดอากาศต่ำในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ และจากการวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) พบว่ารถยนต์เป็นพาหนะที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษมากที่สุดร้อยละ 75.4 โดยข้อมูลระบุว่าแต่ละวันในกรุงเทพมหานคร มีปริมาณรถยนต์สัญจรกว่าวันละ 10 ล้านคัน ซึ่งปัญหาที่เคยเกิดวิกฤติฝุ่นเมื่อช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2562 ทางกรมควบคุมมลพิษได้ร่วมกันหลายหน่วยงานออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหา รวมถึงการขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่ปัจจุบันถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
หลายฝ่ายได้แสดงความห่วงใยและหามาตรการแก้ไขต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” เมื่อวันที่ 10 มกราคม ระบุว่า “วันนี้ค่าฝุ่น #PM25 ยังคงอยู่ในระดับสูง ผมขอให้ตำรวจเร่งรัดออกข้อกำหนดสั่งห้ามใช้รถที่ปล่อยควันดำ รถที่ถูกจับจะต้องถูกขึ้น watch list เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถเพื่อต่อทะเบียน ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนส่งข้อมูลรถปล่อยควันดำไปที่สายด่วน 1584 และช่วงนี้ต้องป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัยหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งด้วยนะครับ” ซึ่งจากการกวดขันรถควันดำอย่างต่อเนื่อง 3 เดือนที่ผ่านมาสามารถตรวจจับได้กว่า 44,000 คัน ซึ่งเป็นรถบรรทุกและรถกระบะเสียส่วนใหญ่
มลพิษทางอากาศเป็นอันตรายคุกคามสุขภาพของเรามากกว่าที่เราเคยเข้าใจ องค์การอนามัยโลกประมาณการว่ามีประชากรที่ต้องตายก่อนเวลาอันควร เนื่องจากมลพิษในอากาศทั่วโลกมากกว่า 6 ล้านคนในแต่ละปี และในจำนวนนี้ เป็นเด็กอายุต่ำกว่าห้าขวบราวร้อยละสิบ คือประมาณ 600,000 คน เมื่อคุณภาพอากาศเลวลงอัตราการไปห้องฉุกเฉินและการเข้าอยู่โรงพยาบาลจะสูงขึ้น เพราะมลพิษทำให้ปัญหาสุขภาพที่มีอยู่กำเริบขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนักตื่นตัวดูแลตัวเองอย่างรัดกุม โดยเฉพาะผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ เด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้ที่มีปัญหาในโรคทางเดินหายใจ หรือมีโรคประจำตัว ผู้ที่ทำงานในที่กลางแจ้งควรสวมใส่หน้ากากป้องกันทางเดินหายใจที่เหมาะสม ปัญหาฝุ่นพิษเป็นปัญหาระดับประเทศต้องแก้ไขร่วมกันโดยเริ่มจากตัวเราเองเป็นดีที่สุด