แก้รัฐธรรมนูญ เสริมแกร่งบัลลังก์ บิ๊กตู่
แก้รัฐธรรมนูญ เสริมแกร่งบัลลังก์ บิ๊กตู่
สัปดาห์นี้แน่นอนการเมืองจะกลับมาโฟกัสกันที่ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ที่ก่อนหน้านี้ทุกสายตาจับจ้องไปที่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563
การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะมีขึ้นในวันที่ 14 และ 17 มกราคม
วาระการประชุมทั้งสองวันนี้จะยังคงอยู่ที่การเปิดเวทีให้กรรมาธิการวิสามัญแต่ละคนแสดงความคิดเห็น หรือที่เรียกว่าสนทนาธรรม ตามที่ ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ กรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนพรรคเสรีรวมไทย เปิดเผยไว้ก่อนหน้านี้
การสนทนาธรรมตรงนี้เองเป็นหัวใจสำคัญของการประชุมเพราะจะเป็นโอกาสที่แต่ละฝ่ายเปิดไพ่ของตัวเองให้ที่ประชุมได้เห็น
แน่นอนว่าธงของฝ่ายค้านนำโดยพรรคอนาคตใหม่และพรรคเพื่อไทย มีอยู่ธงเดียว คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หรือหากธงนี้ไปไม่ถึงเป้าหมายก็อาจจะเสนอแค่มาตรา 256 ก็พอ
แต่ธงของพรรคฝ่ายค้านนั้นสวนทางกับกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนของพรรคประชารัฐอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ กรรมาธิการวิสามัญในซีกนี้นำโดย ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ เตรียมข้อมูลและประเด็นมาหักล้างธงของฝ่ายค้าน
พรรคพลังประชารัฐ ยอมถอยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะเป็นรายมาตราเท่านั้น โดยไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขมาตรา 256 ยังไม่มีความจำเป็นอีกทั้งมีขั้นตอนที่ต้องผ่านการทำประชามติด้วยตามมาตรา 256 (8)
โดยประเด็นหนึ่งที่พรรคพลังประชารัฐเตรียมจะนำเสนอเพื่อให้ร่วมกันพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไข คือ มาตรา 144 ว่าด้วยการห้ามไม่ให้ส.ส.เข้าไปมีส่วนได้เสียในการใช้งบประมาณ ซึ่งเป็นมาตราที่เป็นปัญหาและอุปสรรคชัดเจน ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณไม่เข้ามาเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ จนทำให้ส.ส. 13 คน ต้องมาร่วมกันทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
มาตรา 144 เป็นมาตราหนึ่งที่หลายพรรคการเมืองเห็นตรงกันว่าควรจะให้แก้ไข รวมถึงพรรคฝ่ายค้าน รวมไปถึง มาตรา 185 ที่กำหนดให้ส.ส.ต้องไม่ใช้สถานะหรือตําแหน่งทำการก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในการปฏิบัติราชการหรือการดําเนินงานในหน้าที่ประจําของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคการเมืองขนาดเล็กเตรียมรวมตัวเสนอกันต่อที่ประชุม
อย่างไรก็ตามแม้ธงของแต่ละฝ่ายจะมีความแตกต่างกันสิ้นเชิง แต่มีมุมหนึ่งที่เห็นถึงปัญหาเหมือนกัน คือระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งเป็นระบบการเลือกตั้งที่มีผลกระทบทุกพรรค
พรรคพลังประชารัฐเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่ได้รับผลกระทบเพราะหากในระยะยาวยังใช้ระบบการเลือกตั้งนี้ต่อไปแทบไม่มีทางจะเป็นไปได้เลยที่พรรคพลังประชารัฐจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากแบบเด็ดขนาดในอนาคตเหมือนกับพรรคเพื่อไทยในอดีต
หนำซ้ำในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ไม่มีหลักประกันแน่นอนว่ากระแสนิยมในตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ จะยังแรงต่อไปหรือไม่ ดังนั้น ถ้ากลับมาแก้ไขที่ตัวระบบเลือกตั้งน่าจะทำให้พรรคพลังประชารัฐถือไพ่เหนือกว่าคู่แข่งไปอีกพอสมควร
ตรงนี้เองจึงเป็นสาเหตุที่หนึ่งที่ทำให้ระยะหลัง ‘บิ๊กตู่’ ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นในเชิงคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่าใดนัก หรือแม้แต่ท่าทีที่เคยแข็งกร้าวของ ‘พีระพันธุ์’ ซึ่งเคยย้ำการจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีเหตุผลชัดเจน กลายมาเป็นพร้อมเปิดให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่
คนในรัฐบาลต่างรู้ดีว่าท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ไม่มีความแน่นอน บวกกับคลื่นใต้น้ำที่กำลังก่อตัวขณะนี้ ไม่มีใครรู้ว่ารัฐบาลจะยืนปักหลักแลกหมัดไปได้อีกนานเท่าใด บางทีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดประการหนึ่งที่นำไปสู่การจัดระเบียบเชิงอำนาจกันใหม่
เพียงแต่การยุบสภานั้น ‘บิ๊กตู่’ จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ได้เปรียบเหนือคู่แข่งมากที่สุด หนึ่งในนั้นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง
การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการของคณะกรรมาธิการวิสามัญอีกหลายรอบ แต่ถึงเวลานี้แล้วปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยประคอง พล.อ.ประยุทธ์ ให้อยู่ในอำนาจได้อย่างมั่นคง