ตัวแปรบั่นทอนท่องเที่ยว
ตัวแปรบั่นทอนท่องเที่ยว บทบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันเสาร์ที่ 18 วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2563
เริ่มต้นศักราชใหม่ 2563 เพียงครึ่งเดือนแรกก็ปรากฏสัญญาณลบในด้านเศรษฐกิจให้เห็นเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอันที่จะฟันฝ่าให้บรรลุตามเป้าหมายให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านความมั่นคงปลอดภัย คือ การรบพุ่งระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน ซึ่งวิเคราะห์ตรงกันว่าจะตามมาด้วยภัยจากการก่อการร้ายอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ราคาน้ำมันที่จะปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทก็เป็นอุปสรรคสำหรับการลงทุน การส่งออก บั่นทอนความสามารถในการแข่งขัน รวมไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หนำซ้ำยังเกิดปัญหาเชื้อไวรัสโคโรนา จากประเทศจีน ที่จะส่งผลกระทบในด้านความเชื่อมั่นในเรื่องสุขภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาฝุ่นพิษในพื้นที่กรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวที่ยังแก้ไม่ตก
กล่าวสำหรับไวรัสโคโรนาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวจากจีนหรือแม้แต่ชาติอื่นๆ หรือการท่องเที่ยวภายในประเทศ ล่าสุดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงยอมรับว่า ขณะนี้ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ยืนยันว่านักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนอายุ 74 ปี ซึ่งเดินทางจากเมืองอู่ฮั่น ป่วยด้วยอาการปอดอักเสบเนื่องจากติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ นับเป็นรายที่ 2 ที่พบในประเทศไทย หญิงจีนรายนี้เดินทางมาไทยผ่านทางสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา ขณะนี้รับการรักษาและดูแลอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร
ในปี 2563 นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวเอาไว้จำนวน 3.71 ล้านล้านบาท เป็นรายได้จากท่องเที่ยวต่างชาติ 2.43 ล้านล้านบาท ท่องเที่ยวในประเทศ 1.28 ล้านล้านบาท สำหรับนักท่องเที่ยวจากจีนในปีนี้วางเป้าหมายเอาไว้มากกว่า 11 ล้านคน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่าได้ประสานไปยังสถานทูตจีนออกคำเตือนผ่านแอพพลิเคชั่นวีแชทแล้ว โดยคาดว่าในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะถึงสัปดาห์หน้านี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น 50% โดยมาจากเมืองอู่ฮั่น ซึ่งปกติเข้าไทยเฉลี่ยวันละ 1,200-1,400 คน ผ่านการบินตรงมาที่สนามบินสุวรรณภูมิ 3 เที่ยวบิน ดอนเมือง 2 เที่ยวบิน เชียงใหม่มีเที่ยวบินวันเว้นวัน กระบี่ 1 เที่ยวบิน และภูเก็ต 2 เที่ยวบิน
ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านการท่องเที่ยวปี 2561-2580 ได้วางเป้าหมายเอาไว้ว่า ในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่คาดว่าความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวจะขยับจากอันดับ 34 เป็นอันดับ 30 ของโลก จะเพิ่มจีดีพีด้านการท่องเที่ยวจาก 19% เป็น 22% และเพิ่มเป็น 30% ในปี 2580 พร้อมกระจายสัดส่วนรายได้ด้านการท่องเที่ยวจาก 20% เป็น 40% จะเห็นได้ว่าตามแผนนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนับเป็นเรือธงของประเทศในอันที่จะสร้างรายได้ หรือความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจเลยทีเดียว ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องฟันฝ่านานาอุปสรรคที่มักเป็นตัวแปรใหม่เข้ามาอยู่เสมอๆ เช่นที่กำลังเผชิญอยู่ สำคัญที่สุดก็คือ ลดตัวแปรลงให้ได้และไม่สร้างเงื่อนไขบั่นทอนการท่องเที่ยวเสียเอง