คอลัมนิสต์

หลอกเด็ก 14 ตุลา ภาค 2

หลอกเด็ก 14 ตุลา ภาค 2

21 ม.ค. 2563

หลอกเด็ก 14 ตุลา ภาค 2 คอลัมน์...  กระดานความคิด  โดย...  บางนา บางปะกง 

 

 


          คำถามยอดฮิตในนาทีนี้ “ธนาธร” จะลงถนนมั้ย? ทำม็อบแบบไหน? เพราะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เองก็พอคาดเดาชะตากรรมของพลพรรคสีส้มได้ จึงจัดงาน “Future is now” อย่ากลัวอนาคต ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต


          สื่อค่ายชินวัตร พาดหัว “ธนาธรสู้แน่ ชูโมเดลสิบสี่ตุลา” ดูจะแตกต่างจากสำนักอื่นๆ อย่างว่าแหละอยู่ที่การจับประเด็น สุดแท้แต่ว่า บก.ข่าวจะหยิบเรื่องไหนมาขยาย

 

 

          “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” พยายามอธิบายว่าการชุมนุมของประชาชนโดยสันติ เป็นสิทธิเสรีภาพที่ชอบธรรมตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ส่วนการชุมนุมที่จะนำพาสังคมไปสู่ทางตันหรือเกิดความรุนแรงนั้น จะไม่เกิดขึ้นจากการนำของตัวเขาแน่นอน


          อดีตผู้นำนักศึกษายุค สนนท. เล่าว่า การชุมนุมสันติและปราศจากอาวุธ เคยเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งการชุมนุมครั้งนั้นได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในแง่บวกนั่นคือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

 

 

หลอกเด็ก 14 ตุลา ภาค 2

 


          กล่าวสำหรับ 14 ตุลา ผ่านมาแล้ว 40 กว่าปี แต่ยังมีข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ คนหนุ่มสาว พ.ศ.โน้น ซึ่งปัจจุบันพวกเขาเหล่านั้นก็อายุราว 60-70 ปี ได้มีมุมมองต่อ 14 ตุลา เป็น 2 แนวคิด


          พวกแรกเรียกว่า “14 ตุลา วันประชาอภิวัฒน์” แต่อีกพวกเชื่อว่าเป็น “อุบัติเหตุ 14 ตุลา” โดยโฟกัสไปที่ “ศึกชิงอำนาจ” ภายในกลุ่มขุนศึก จนทำให้ “จอมพลถนอม-จอมพลประภาส” ต้องไปลี้ภัยอยู่ในต่างแดน 


          หลังจาก “2 จอมพล 1 พันเอก” ออกจากไทย ก็ได้เกิด “ศูนย์อำนาจใหม่” อันประกอบด้วย พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และพล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ

 

          พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เป็นขุนศึกอยู่ในสายเดียวกันกับ “จอมพลถนอม-จอมพลประภาส” ที่ถูกวางตัวให้สืบทอดอำนาจจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ พล.อ.กฤษณ์ เป็นรองผู้บัญชาการทหารบกมาตั้งแต่ปี 2509 จนถึงเดือนตุลาคม 2516 จึงได้เป็น “ผู้บัญชาการทหารบก”


 

หลอกเด็ก 14 ตุลา ภาค 2



          การผูกขาดอำนาจของจอมพลถนอม กิตติขจร ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และจอมพลประภาส จารุเสถียร ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ทำให้นายทหารคนอื่นหมดโอกาสขยับ


          มี 2 เหตุการณ์ที่ยังเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้ คือการปะทะหน้าสวนจิตรลดา เช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และกรณี “ชายชุดดำ” บนหลังคาตึกกองสลากกินแบ่ง ยิงปืนใส่นักศึกษาที่ถนนราชดำเนิน ตอนสายวันเดียวกัน


          เหตุใด พล.ต.ท.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้นจึงใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาที่กำลังสลายตัวกลับบ้าน เพราะรัฐบาลถนอมยอมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยเร็ว และทยอยเดินออกไปบริเวณหน้าสวนจิตรลดา


          กรณีชายชุดดำมีการพาดพิงถึง “อาสาสมัครทหารเสือพราน” ที่อยู่ในการบัญชาการของ “เทพ 333” แต่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนใดๆ


          “เทพ 333” หมายถึง พล.ต.อ.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา) ก่อนหน้าปี 2516 ไม่ค่อยมีใครรู้จัก พล.ต.อ.วิฑูรย์ ที่มีชื่อรหัสว่า “นายพลเทพ” หรือ “เทพ 333” ผู้นำกองกำลังทหารเสือพรานปฏิบัติการลับในลาว 9 ปี ด้วยการสนับสนุนของซีไอเอ


          ปี 2517 พล.ท.วิฑูรย์ ได้กลับมารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งมี พล.ต.อ.ประจวบ สุนทรางกูร เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งอยู่ในสาย “เจ้าพ่อเกียกกาย” พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ


          ตัวละครลับคนสำคัญใน 14 ตุลา คือ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เนื่องจากเขาได้กลายเป็น “ผู้มีบารมี” คอยค้ำยัน “รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์” และจัดตั้งรัฐบาลผสม 11 พรรค ที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี


          การเลือกตั้งปี 2519 พล.อ.กฤษณ์ สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ สะกัด “หม่อมคึกฤทธิ์” จนเป็นผลสำเร็จ และในเดือนเมษายน 2519 พล.อ.กฤษณ์ ได้ถึงแก่กรรมอย่างมีเงื่อนงำหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช


          การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากการชุมนุม 14 ตุลา มิใช่ “จำนวน” นักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชนม หากแต่เป็น “ปืน” ในมือตัวละครลับที่ก่อการรัฐประหารเงียบในคืนวันที่ 15 ตุลาคม 2516