คอลัมนิสต์

ข้อท้าทายในช่วงเปลี่ยนผ่านกระบวนทัศน์

ข้อท้าทายในช่วงเปลี่ยนผ่านกระบวนทัศน์

25 ม.ค. 2563

ข้อท้าทายในช่วงเปลี่ยนผ่านกระบวนทัศน์ โดย...  โคทม อารียา

 

 


          กระบวนทัศน์ (paradigm) หมายถึงกลุ่มของทฤษฎี/ปรัชญา/แนวคิด/ความเชื่อ ที่รวบรวมไว้ด้วยกัน และปรากฏในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ซึ่งอาจยาวนานเป็นศตวรรษ โดยที่กระบวนทัศน์จะทรงพลัง ถ้านักทฤษฎีในกระบวนทัศน์นั้นจะไม่ขัดแย้งกันเอง หากจะประกอบสร้างทฤษฎีที่เกื้อหนุนกัน และร่วมกันต่อต้านทฤษฎีโต้แย้งอื่นใด

 

 

          มนุษย์ดึกดำบรรพ์อยู่ในกระบวนทัศน์ที่ถือผี ถือโชคลาง มีการตีความปรากฏการณ์ธรรมชาติ ว่าเป็นเรื่องของเทพเจ้าทั้งที่ดุร้าย พิโรธลงโทษมนุษย์บ้าง เป็นเรื่องของเทพเจ้าที่ดี คอยเกื้อกูลมนุษย์บ้าง จนเกิดเป็นตำนานเล่าขานและเชื่อต่อๆ กันมาว่า มนุษย์ต้องอยู่ในขนบประเพณี คอยบวงสรวงเอาใจเทพเจ้า คอยเชื่อฟังผู้ที่ติดต่อกับเทพเจ้าได้ ซึ่งได้แก่ พราหมณ์ พ่อมด หมอผี เป็นต้น อย่างไรก็ดี เทพเจ้ามักยากแก่การเอาใจ แม้จะยอมเสียสละบางสิ่งบางอย่างให้ในพิธีกรรมหรือการบูชายัญ แต่ใช่ว่าจะพ้นภัยพิบัติตามคำวิงวอนได้เสมอไป


          หลังจากที่พบว่าไม่มีความแน่นอนจากการบนบานศาลกล่าว มนุษย์ก็ก้าวสู่กระบวนทัศน์ที่สอง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นกระบวนทัศน์ปรัชญาที่เริ่มหาความหมายของชีวิตในโลกนี้ โดยเชื่อว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินั้นเป็นไปตามกฎเกณฑ์ทางโลก กระบวนทัศน์นี้มีพลังมากในสมัยกรีกโบราณ สมัยการก่อร่างสร้างจีน และสมัยพระพุทธองค์ในอินเดีย กระบวนทัศน์ปรัชญาหาคำอธิบายธรรมชาติตามความคิดของสำนักปรัชญาต่างๆ ข้ออ่อนที่ทำให้กระบวนทัศน์นี้ไม่ยั่งยืนนัก คือยังไม่มีเครื่องมือที่จะวัดปรากฏการณ์ได้อย่างแม่นยำ จึงขาดข้อมูลเชิงประจักษ์อันเป็นที่ยอมรับ เกิดการโต้เถียงกันแทนที่จะเกื้อกูลกันระหว่างนักทฤษฎีของกระบวนทัศน์ นักทฤษฎีก็หวงวิชาและยึดมั่นในความคิดของสำนักของตนมากเกินไป อีกทั้งการทำนายปรากฏการณ์ยังไม่แม่นยำ ภายในไม่กี่ศตวรรษ มนุษย์ก็หวนกลับสู่กระบวนทัศน์ของสิ่งเหนือธรรมชาติคล้ายสมัยดึกดำบรรพ์ เพียงแต่คราวนี้ ได้ก่อเกิดอารยธรรมคริสต์และอิสลามขึ้น ซึ่งนับถือพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงมหิทธานุภาพเพียงพระองค์เดียว แทนที่จะนับถือเทพเจ้าหลายองค์

 



          กระบวนทัศน์หลักในโลกตะวันตกและอิสลามเป็นกระบวนทัศน์ทางศาสนา มนุษย์จะมัวหาความหมายของชีวิตไปทำไม ในเมื่อศาสนาให้คำตอบที่สมบูรณ์อยู่แล้ว มนุษย์จะพยายามหาคำอธิบายปรากฏการณ์ทางโลกไปทำไม ในเมื่อโลกหน้าสำคัญกว่าโลกนี้ อย่างไรก็ดี เมื่อประมาณ 500 ปีก่อน เริ่มมีการโต้แย้งคำสอนที่ผู้นำศาสนายกมาอ้างจากการตีความพระคัมภีร์ เช่น การตีความว่าโลกแบน ถูกโต้แย้งโดยข้อมูลเชิงประจักษ์ อันที่จริง ในสมัยกรีก นักปรัชญาเคยให้ข้อสังเกตไว้แล้วว่า เมื่อเรือแล่นสู่ทะเล ลำเรือจะลับสายตาไปก่อนเสากระโดง ซึ่งควรสรุปได้ว่า แนวขอบฟ้ามีความโค้ง หรือโลกมีรูปร่างเป็นทรงกลมนั่นเอง การทำนายว่าโลกกลมย่อมได้รับการต่อต้านรุนแรง ดังตัวอย่างของกาลิเลโอที่ถูกศาสนจักรต่อต้าน ส่วนทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินที่ขัดกับความเชื่อว่าพระเจ้าทรงสร้างโลกใน 7 วัน ย่อมถูกต่อต้านเช่นกัน


          กระบวนทัศน์ใหม่ที่เริ่มก่อร่างขึ้นเมื่อประมาณ 500 ปีที่แล้ว อาจขนานนามว่ากระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์ หรือกระบวนทัศน์สมัยใหม่ (modern) นักปรัชญาผู้บุกเบิกกระบวนทัศน์นี้คนหนึ่งได้แก่ เดส์การ์ตส ผู้เสนอว่าเราสามารถลดทอนระบบที่ซับซ้อนลงเป็นระบบย่อย แล้วลดทอนระบบย่อยเป็นระบบย่อยๆ ที่เล็กลงไปอีก ฯลฯ จนเหลือเป็นองค์ประกอบที่เล็กและง่ายต่อการวิเคราะห์ ต่อการออกแบบและการจัดการ เช่น รถยนต์แบ่งได้เป็นชิ้นส่วนต่างๆ ที่นำมาประกอบกัน หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ก็แบ่งเป็น อุปกรณ์ประมวลผล หน่วยความจำ คีย์บอร์ด ฯลฯ ส่วนกองทัพก็แบ่งเป็น ฝ่ายกองกำลัง ฝ่ายเสนาธิการ ฝ่ายพลาธิการ ฝ่ายโยธาธิการ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร เช่น โคเปอร์นิคัสและนิวตัน ผู้ทำให้เราเข้าใจระบบสุริยจักรวาลและแรงโน้มถ่วง, ดารวิน ผู้อธิบายว่ามนุษย์วิวัฒนาการมาจากลิง วัตต์ ผู้สร้างเครื่องจักรไอน้ำที่เป็นการนำพลังงานในธรรมชาติมารับใช้มนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ แนวคิดลดทอนนิยม เหตุผลนิยม และคติการกำหนดได้ (determinism) เป็นแนวคิดที่ทรงพลังและมีประสิทธิผลมากในการสรรค์สร้างโลกสมัยใหม่ ที่ไม่ต้องพึ่งความคิดเรื่องเหนือธรรมชาติหรือโลกหน้ามากนัก เพราะว่าวิทยาศาสตร์ให้คำอธิบายและอำนวยความสะดวกมากมายเป็นที่ประจักษ์ แรงต่อต้านวิทยาศาสตร์จึงเริ่มอ่อนตัวลง ผู้คนที่เคยรุมต่อต้านส่วนใหญ่ ก็พูดได้หน้าตาเฉยว่า “เราสนับสนุนวิทยาศาสตร์มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว”


          ประมาณหนึ่งศตวรรษที่แล้ว พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่รองรับกระบวนทัศน์สมัยใหม่เริ่มสั่นคลอน ทั้งนี้ โดยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เอง สำหรับสิ่งที่กว้างใหญ่ไพศาล ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์อธิบายความเป็นไปในเอกภพได้แม่นยำกว่าทฤษฎีของนิวตัน สำหรับสิ่งที่เล็กแสนเล็ก เราต้องอาศัยทฤษฎีควอนตัม คติการกำหนดได้เริ่มถูกท้าทาย เพราะเราไม่สามารถกำหนดตำแหน่งและความเร็วของอนุภาคได้ในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์เริ่มพบจุดอ่อนของทฤษฎีของดาร์วิน และกำลังคันคว้าว่าการคัดพันธุ์ที่ช่วยให้ผู้ที่เก่งที่สุดอยู่รอดนั้น ไม่น่าจะเป็นกลไกเดียวที่อธิบายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ในเรื่องที่ซับซ้อนมาก เช่น การพยากรณ์อากาศ การกำหนดภาวะเริ่มต้น (initial conditions) ของการคำนวณ โดยให้แตกต่างกันน้อยมาก เช่น ต่างกันที่ทศนิยมตัวที่ 17 ผลการพยากรณ์จะต่างกันได้โดยสิ้นเชิง จึงมีคำกล่าวถึงการกระพือปีกของผีเสื้อ ที่ทำให้เกิดภาวะเริ่มต้นต่างออกไป ณ ทศนิยมตัวที่ 17 แต่ผลพวงอาจเป็นสองสถานที่ต่างกันมหาศาล เช่น เมื่อใช้ทศนิยมตัวที่ 17 ค่าหนึ่ง คอมพิวเตอร์พยากรณ์ว่าจะมีฝนฟ้าคะนอง แต่ถ้าใช้อีกค่าหนึ่ง คำพยากรณ์คืออากาศดีไม่มีฝน ข้อค้นพบใหม่ๆ หลายต่อหลายประการเริ่มท้าทายทัศนะที่เรามีต่อโลก และต่อชีวิต มีบางคนให้ข้อสังเกตว่า เรากำลังเข้าสู่กระบวนทัศน์ที่เขาใช้ชื่อชั่วคราวว่า “หลังสมัยใหม่” (post-modern) ซึ่งมองว่าปริภูมิ-กาลเวลา (space-time) ไม่สมบูรณ์ หากเป็นเรื่องสัมพัทธ์ เรายังไม่สามารถวิเคราะห์ระบบที่ซับซ้อนมาก เช่น เอกภพได้ เราไม่รู้ว่าในเอกภพมีสิ่งอื่นๆ ที่มองไม่เห็น เช่น สสารมืด พลังงานมืด อนุภาคที่ยังตรวจจับไม่ได้อีกมากน้อยเพียงใด หรือมีเอกภพอื่นๆ อีกหรือไม่ เราไม่มีทฤษฎีที่อธิบายในระดับอนุภาคย่อยของอะตอมได้ สำหรับสิ่งมีชีวิตซึ่งมีความซับซ้อนมาก แม้เราจะมีคอมพิวเตอร์ยิ่งยวด มีปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นอัจฉริยะ เรายังไม่สามารถอธิบายการทำงานของสมองและของยีนได้ อย่าว่าแต่จะเข้าใจเรื่องจิตสำนึกเลย


          ข่าวใหญ่วันนี้สำหรับผม คือข่าวที่ว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่ถูกยุบ ผมเคยถามตัวเองว่า เหตุใดคนรุ่นก่อนจำนวนหนึ่ง จึงเกรงกลัวภัยจากคนรุ่นหลังที่มีความคิดต่าง ถึงขนาดกล่าวร้ายกันต่างๆ นานา คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งยกฟ้องไป ถูกขนานนามว่าคดี Illuminati เมื่อพิจารณาคำฟ้องคดี เราอาจได้คำตอบบางประการต่อคำถามข้างต้น คำว่า Illuminati มาจากภาษาลาตินที่แปลว่าการรู้แจ้ง มีคนเอามาตั้งเป็นชื่อสมาคมลับสมาคมหนึ่งในเยอรมนี ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2319 สมาคมนี้ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยม มีดวงตาอยู่ตรงกลาง ผู้กล่าวหาพรรคอนาคตใหม่บอกว่าสัญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่คล้ายสัญลักษณ์ของสมาคมลับดังกล่าว แม้สัญลักษณ์ของพรรคจะเป็นสามเหลี่ยมกลับหัวก็ตาม ยิ่งไปกว่านี้ ผู้กล่าวหาพรรคอนาคตใหม่เห็นว่า สมาคม Illuminati มีโครงสร้างคล้ายสมาคมฟรีเมซัน และมีวัตถุประสงค์คล้ายกันคือต่อต้านความงมงาย ต่อต้านการมีอิทธิพลขององค์กรศาสนา ต่อต้านการใช้อำนาจในทางที่ผิด เลยอนุมานว่าพรรคที่ใช้สัญลักษณ์คล้ายของสมาคม น่าจะมีวัตถุประสงค์คล้ายกันไปด้วย ซึ่งหมายถึงการต่อต้านองค์กรศาสนาและอำนาจที่ผิด สมาคมนี้เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากกระบวนทัศน์ศาสนา เป็นกระบวนทัศน์สมัยใหม่ ช่วงเปลี่ยนผ่านมักเป็นระยะเวลาที่ยากลำบากเต็มไปด้วยความขัดแย้งและวิกฤติ ผู้ที่ต้องการอนุรักษ์กระบวนทัศน์เดิมจะรุมต่อต้านกระบวนทัศน์ใหม่ สมาคมดังกล่าวถูกต่อต้านเพราะสนับสนุนกระบวนทัศน์ใหม่ในสมัยนั้น สมาคมจึงอยู่ได้เพียง 22 ปี ก็โดนยุบโดยคำสั่งของผู้ครองแคว้นบาวาเรีย อย่างไรก็ดี ความกลัวความคิดของสมาคมยังดำรงอยู่เรื่อยมา จนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสู่กระบวนทัศน์หลังทันสมัย ซึ่งมีทฤษฎีความโกลาหล (Chaos) มารองรับ ความกลัวตกค้างจึงมาลงที่พรรคอนาคตใหม่ ทฤษฎีสมคบคิดเดิม ๆ ก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีก อย่างไรก็ดี ความคิดใหม่คงดำเนินต่อไป แม้จะต้องฝ่าวิกฤตอย่างยากลำบากก็ตาม จึงหวังว่าสังคมไทยจะรู้ทันและเดินสายกลาง เพื่อจะรับมือกับวิกฤติให้อยู่ในกรอบการไม่ใช้ความรุนแรง