คอลัมนิสต์

รำลึกถึง 'ปู่ชัย ชิดชอบ'

รำลึกถึง 'ปู่ชัย ชิดชอบ'

02 ก.พ. 2563

รำลึกถึง 'ปู่ชัย ชิดชอบ' อดีตประธานรัฐสภา ประธานชัย นับเป็นอีกตำนานหน้าหนึ่งของการเมือง

 

 


          รอบสัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่มีข่าวคราวแวดวงฝ่ายนิติบัญญัติเรื่องไหนจะสำคัญไปกว่าการถึงแก่อนิจกรรมในวัย 92 ปี ของ ‘ชัย ชิดชอบ’ อดีตประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นบิดาของ ‘เนวิน ชิดชอบ’ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ประธานชัยนับเป็นอีกตำนานหน้าหนึ่งของการเมือง เพราะมีเส้นทางการเมืองที่โชกโชนพอสมควร

 

อ่านข่าว...  วิษณุ ยกย่อง ปู่ชัย เก่งไม่เฉพาะบทบาทการเมือง
 

 

 

          ปู่ชัยเป็น ส.ส.ตั้งแต่ปี 2512 เข้าสภามาพร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน แม้ถนนสายการเมืองของปู่ชัยอาจจะไม่ได้เข้าสภาต่อเนื่องเหมือนกับนายหัวเมืองตรัง แต่อย่างน้อยที่สุดพ่อใหญ่เมืองบุรีรัมย์ก็เคยเป็นถึงประมุขฝ่ายนิติบัญญัติมาแล้ว


          ย้อนกลับไปที่การเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติของปู่ชัยนั้น ต้องถือว่าเป็นตัวละครหนึ่งที่สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 เลยทีเดียว กล่าวคือ ภายหลังการรัฐประหารและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 จนนำมาสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน และมี ‘ยงยุทธ ติยะไพรัช’ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานสภาอย่างเหนือความคาดหมาย แต่ด้วยอุบัติเหตุทางการเมือง เนื่องจาก ‘ยงยุทธ’ ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในเวลาต่อมา ทำให้พรรคพลังประชาชนที่กำลังควานหาคนที่มีชั่วโมงบินทางการเมืองสูงพอจะมาเป็นประธานสภาต่อกรกับฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ สุดท้ายจึงไปลงล็อกที่ ‘ชัย ชิดชอบ’


          แม้การขึ้นมาเป็นประธานสภาในเวลานั้นจะมีอายุเลขแปดนำหน้า แต่ไม่ได้โรยราไปตามวัย เพราะสามารถรับมือกับฝ่ายค้านได้อย่างสูสี ไม่เพียงเท่านี้ ผลของการยุบพรรคพลังประชาชนปลายปี 2551 ทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทว่า ชัย ชิดชอบ ก็ยังคงยืนเด่นในตำแหน่งประธานสภาต่อไปได้ตลอดยุคของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์




          นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของเส้นทางการเมืองของคนใหญ่แห่งเมืองบุรีรัมย์เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าคนในแวดวงนิติบัญญัติจะจดจำการทำงานของอดีตประธานสภาคนนี้ตลอดไป


          นอกเหนือไปจากข่าวการถึงแก่อนิจกรรมของประธานชัยแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าระยะนี้สภามีเรื่องได้ไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลับมาอีกครั้งของปรากฏการณ์เสียบบัตรแทนกันของส.ส.ในระหว่างการพิจารณากฎหมายสำคัญอย่าง ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จนเป็นศัพท์ทางการเมืองที่บัญญัติโดย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ว่า “ช่วยกันลงคะแนน”


          เหตุการณ์กดบัตรแทนกันที่เกิดขึ้น ถ้าเกิดกับร่างกฎหมายอื่นๆ ก็คงไม่เดือดร้อนเท่าไร แต่ดันมาเกิดกับร่างกฎหมายงบประมาณ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการบริหารประเทศ ที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานแล้วว่าการเสียบบัตรแทนกันเป็นการกระทำที่ทำให้การออกเสียงทุจริตไปโดยปริยาย เรียกได้ว่างานนี้เดือดร้อนทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารกันเลยทีเดียว


          ส่งท้ายด้วยการทำงานของวุฒิสภากันบ้าง เมื่อไม่นานมานี้ ‘พรเพชร วิชิตชลชัย’ ประธานวุฒิสภา พร้อม พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ลงพื้นที่ จ.อุดรธานี ในนาม โครงการ ส.ว.พบประชาชน ทั้งนี้ คณะ ส.ว.ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพี่น้องประชาชน ซึ่งสะท้อนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ตอบประเด็นปัญหาในเชิงพื้นที่และในเชิงนโยบายซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ โดยประธานวุฒิสภายืนยันจะนำข้อมูลที่จะได้มานั้นมาทำการวิเคราะห์และดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในครั้งหน้าจะเดินสายไปพบประชาชนที่ จ.หนองคาย เป็นจังหวัดต่อไป