พิษแค้นแรงอาฆาตของ 'นักเลือกตั้ง'
พิษแค้นแรงอาฆาตของ 'นักเลือกตั้ง' คอลัมน์... กระดานความคิด โดย... บางนาง บางปะกง
ศัพท์การเมืองว่าด้วย “นักเลือกตั้ง” มีนักวิชาการคนเดียวในเมืองไทยที่อธิบายไว้ครบทุกมิติ นั่นคือ อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ผ่านงานเขียนบทความต่างกรรมต่างวาระที่มีการนำมารวมเล่มแล้ว อาทิ อนิจลักษณะของเศรษฐกิจไทย, อนิจลักษณะของการเมืองไทย และอนิจลักษณะของสังคมไทย
อ่านข่าว... เป้าถูกซักฟอก นายกฯเตรียมข้อมูลสู้ศึกอภิปราย
ปี 2538 อาจารย์รังสรรค์ ได้บัญญัติศัพท์การเมืองขึ้นมาอีกคำหนึ่งคือ “ระบอบยียาธิปไตย” เมื่อเห็นพฤติกรรมทางการเมืองของ “เนวิน ชิดชอบ” และเพื่อน ส.ส.ในนามกลุ่ม 16
นักเลือกตั้งและระบอบยียาธิปไตย ถือกำเนิดขึ้นมาจากการเติบโตของทุนนิยมในไทย และการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างการเมืองในปี 2516 ทำให้กลุ่มทุนท้องถิ่นเข้าสู่สังเวียนเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. และรัฐมนตรี
เดิมทีกลุ่มทุนท้องถิ่นต้องพึ่งพา “พรรคข้าราชการ” แต่เมื่อคนเหล่านี้เข้าสู่อำนาจรัฐ ผ่านกระบวนเลือกตั้งสำเร็จก็ทำตัวเป็น “นาย” เหนือพรรคข้าราชการ เข้าจัดสรรผลโยชน์ให้พวกพ้อง แต่ระบอบอำมาตยาธิปไตยก็มี “กองทัพ” เป็นอำนาจลับที่คอยจัดการนักเลือกตั้ง ด้วยข้อหาโกงกินมโหฬาร จึงเกิดรัฐประหารในเมืองไทย ช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา
พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติซักฟอก
เวลาเกิดการยึดอำนาจ นักเลือกตั้งจะสยบยอมอำนาจปืน ทำเป็นแสร้งตาย เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ส. และมีการจัดตั้งรัฐบาล นักเลือกตั้งก็ผยองเดชเหมือนเดิม
บังเอิญ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ต่างจากคณะผู้ก่อการยึดอำนาจอื่น เพราะมีการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และร่างรัฐธรรมนูญฉบับย้อนยุคให้มี ส.ว. 250 คน เป็นกองหนุน
นักเลือกตัั้งจึงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เข้ามาหนุน คสช. และกลุ่มต่อต้าน คสช. แต่อย่างไรก็ตาม นักเลือกตั้งก็คือนักเลือกตั้งที่รอคอยจังหวะและโอกาสการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
มองจากการที่พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลรวม 6 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ก็ชัดเจนว่าได้เวลานักเลือกตั้ง “เอาคืน” คสช.
ไม่มีอะไรที่ซับซ้อนยุทธศาสตร์ของพรรคร่วมฝ่ายค้านมุ่งประเด็นไปที่ผู้รับผิดชอบหลักของรัฐบาลคือ นายกรัฐมนตรี เพราะในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้กุมความรับผิดชอบทั้งการเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ รวมถึงดูแลด้านความมั่นคง และการเมืองเอาไว้หมด
เนวินและสมพงษ์
เหนืออื่นใด พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ทำให้นักเลือกตั้งถูก “ดองเค็ม”
แม้ก่อนยื่นญัตติซักฟอก จะมีลิเก จะมีละครหน้าม่าน ก็เป็นไปตามวัฒนธรรมการเมืองไทยๆ ที่เต็มไปด้วยข่าวลือต่างๆ นานา เหมือนฝ่ายค้านป่วย มีอาการโรคเลื่อน และโรคลมชักคือ ชักเข้าชักออก
นักเลือกตั้งซีกฝ่ายค้านรวมหัวกันเล่นเกมแยกน้ำออกจากปลา แยกนักเลือกตั้งพลังประชารัฐ ออกจาก “กลุ่ม 3 ป.” แยกนักเลือกตั้งภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ ออกจากเครือข่าย คสช.
เกมซักฟอกจึงพุ่งเป้าไปที่นายกฯ ประยุทธ์ และทีมงานที่เกาะกลุ่มกันมาตั้งแต่ รัฐบาล คสช.เป็นหลัก โดยเฉพาะรมต. “โควตากลาง” พลังประชารัฐ ของนายกฯประยุทธ์ ที่ไร้กำลัง ส.ส.หนุนหลัง
ไม่มีรัฐมนตรีในสายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไม่ถูกซักฟอกสักราย รวมถึงรัฐมนตรีสายกลุ่มสามมิตร พร้อมกับไม่มีรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย
หากเกมซักฟอกนำไปสู่การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี นักเลือกตั้งทั้งหลายก็หันมาจูบปากกัน จัดตั้งรัฐบาลผสม แบ่งเค้กแบ่งโควตากันตามระเบียบ
“กลุ่มพลังยียาธิปไตยเติบใหญ่ขึ้นมาก หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเดือนตุลาคม 2516 นักเลือกตั้งเผ่ายี้จากส่วนภูมิภาคตบเท้าเข้ามายึดสภาผู้แทนราษฎร ไม่แตกต่างจากคนเถื่อนบุกเข้ากรุงโรมในยุคอันธการแห่งยุโรป แต่ในไม่ช้านักเลือกตั้งเผ่ายี้เริ่มแปลงโฉมและสร้างภาพลักษณ์ อย่างน้อยด้วยการแต่งกายและเครื่องประดับอันโดดเด่น”
อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ สรุปความเป็นนักเลือกตั้งไว้ชัดเจน และนี่คือขบวนการยียานุวัตร ที่ดำรงอยู่มานานกว่า 40 ปีแล้ว