กลุ่มคนชาติพันธุ์ปัญหาที่รอการแก้ไข
กลุ่มคนชาติพันธุ์ปัญหาที่รอการแก้ไข คอลัมน์... Special Weekend
ประเทศไทยในสถานการณ์ปัจจุบันนับว่ามีปัญหาท้าทายรอบด้าน ทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับปากท้องของประชาชน ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เริ่มปรากฏเห็นได้ชัดหลายด้านและประชาชนจำนวนมากก็ตื่นตระหนกและตระหนักมากขึ้น แต่อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นปัญหาคาราคาซังมานาน ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขมากนัก คือ ปัญหาของกลุุ่มคนชาติพันธุ์
ในระยะหลังจะเห็นได้ว่าเริ่มปรากฏรูปธรมแห่งปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินทำกินที่ภาครัฐมองว่าเป็นการรุกล้ำผิดกฎหมาย แต่อีกฝ่ายมองว่าการใช้อำนาจทางกฎหมายเป็นการทำลายวิถีชีวิตของชุมชน รัฐธรรมนูญมาตรา 70 ได้บัญญัติหลักการที่ว่าด้วยการให้รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดํารงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย แม้หลักการของรัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้ชัดเจน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขถูกที่ถูกทางมากนัก
ด้วยเหตุนี้เองคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร จึงจัดเวทีเสวนาศึกษาปัญหาของกลุ่มคนชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีกลุ่มคนชาติพันธุ์มากที่สุดในประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการส่งเสริม และอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ แสดงความคิดเห็นกลางเวทีเสวนาว่า คณะกรรมาธิการได้ศึกษาและพบปัญหาอยู่ 2 ประการ 1.เราพบว่าวันนี้ยังไม่มีกฎหมายที่พูดถึงการรับรอง การยอมรับ การคุ้มครองสิทธิ์ของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นการเฉพาะ 2.เราพบว่าเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา มีการบังคับใช้กฎหมายอยู่ 3 ฉบับคือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และพ.ร.บ.ป่าชุมชน ในอดีตกฎหมายแนวนี้จะต้องเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่กฎหมายที่ออกมาในครั้งนี้กลับไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพี่น้องประชาชน
“เสียงสะท้อนที่ได้ยินมากที่สุดคือ กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ขาดการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในป่าของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างชัดเจน อีกทั้งกฎหมายที่ออกมาพบว่า ไม่มีการคุ้มครองสิทธิของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เมื่อเสียงสะท้อนออกมาแบบนี้ กฎหมายที่ไม่ได้มาจากประชาชน จะเป็นกฎหมายที่มีความยุติธรรมได้อย่างไร และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือว่า ผมอยากให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยเข้าใจว่า เราเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ เป็นประเทศที่มีพหุวัฒนธรรม ดังนั้นการที่เราจะเติบโตขึ้นไปด้วยกัน คือการเคารพสิทธิของทุกคน และเราต้องไม่ทอดทิ้งใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง” นายณัฐวุฒิ กล่าว
นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่ปรึกษากรรมาธิการ ระบุว่า จากที่ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์อยู่กันแบบปกติสุขมาหลายชั่วอายุคน แต่ต่อจากนี้หากผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตป่า ในพื้นที่ที่รัฐขีดเส้นว่าเป็นป่าสงวนหรืออุทยาน หากไม่มาขึ้นทะเบียนยืนยันเขตที่อยู่อาศัยกับทางรัฐก็จะไม่มีสิทธิ์ใช้ที่ดินตรงนั้นเพื่ออยู่อาศัยหรือทำมาหากินได้เลยแม้จะอยู่มาหลายชั่วอายุคนแล้วก็ตาม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วระยะเวลา 240 วันตามกฎหมายเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอนที่จะทำให้ทุกครอบครัวที่อยู่ในเขตป่ามาลงทะเบียนได้ครบ ยังมีกลุ่มคน หรือชุมชนชายขอบติดชายแดนอีกมากมายที่การสื่อสารยังเข้าไม่ถึง
“นอกจากนั้นหากผู้ที่ลงทะเบียนยืนยันที่ดินแล้วนั้นก็จะตกอยู่ในสถานะของผู้เช่าที่ดินไปตลอดกาลในชาตินี้ พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับนี้ กดทับวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์และพี่น้องคนที่ทั่วประเทศที่อาศัยอยู่ในเขตที่รัฐขีดเส้นว่าเป็นป่าสงวน กฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นใดๆ ทั้งสิ้น” นายณัฐพลกล่าว
ด้าน นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง แสดงความคิดเห็นว่า ตอนนี้ชาวบ้านยังไม่รู้ถึงข้อกฎหมาย เพราะฉะนั้นรัฐหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบจำเป็นที่จะต้องทำให้ชาวบ้านเข้าใจ จำเป็นจะต้องชี้แจงข้อกฎหมายต่อชาวบ้าน อาจสื่อสารในรูปแบบที่ชาวบ้านเข้าใจได้ง่ายและชัดเจน อาจเป็นการทำคลิปวิดีโอเพื่อทำความเข้าใจกฎหมายไปจนถึงเจ้าหน้าที่รัฐลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านโดยตรง