ลุกขึ้นสู้"เพนกวิน"นำทัพพลังนักศึกษา 2020
ลุกขึ้นสู้"เพนกวิน"นำทัพพลังนักศึกษา 2020 คอลัมน์... ชูธงทวนกระแส โดย... พรานข่าว
เมื่อเห็นพลังนักศึกษาทั่วประเทศลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมือง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” จึงสรุปด้วยความตื่นเต้นผ่านแฟนเพจของเขาว่า การยุบพรรคอนาคตใหม่คือ “ราคาที่ต้องจ่าย”
“เมื่อได้จ่ายไปแล้ว ผมและผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่จึงหวังแต่เพียงว่า ราคาที่เราได้จ่ายไปนั้นจะมากพอที่จะปลุกผู้ที่ยังหลับใหลให้ตื่นขึ้นมาพบความผิดปกติในสังคมนี้ได้บ้าง”
ช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคอนาคตใหม่ พรรคอนาคตใหม่ได้วางยุทธศาสตร์รณรงค์เรียกร้องให้เยาวชนคนหนุ่มสาวที่มีอายุ 18-25 ปี ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก คนกลุ่มนี้คือ นิวโหวตเตอร์ 7 ล้านเสียง
ทีมงานหาเสียงของพรรคอนาคตใหม่จึงใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม เป็นเครื่องมือ สร้างปรากฏการณ์ติดแฮชแท็กฟ้ารักพ่อ (#ฟ้ารักพ่อ) จนกลายเป็นเทรนด์ทวิตเตอร์ และปลุกเร้าให้นิวโหวตเตอร์ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
ผลเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 ก็ตอบคำถามทุกข้อสงสัย เมื่อนิวโหวตเตอร์ส่วนใหญ่เลือกพรรคอนาคตใหม่ เลือกธนาธร เลือกพ่อของฟ้า
เมื่อพรรคการเมืองอันเป็นที่รักของพวกเขาหายไป “พ่อ" ของฟ้าถูกรังแก จึงเกิดปรากฏการณ์ติดแฮชแท็ก แสดงจุดยืนทางการเมืองจากกลุ่มนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ และตามมาด้วย “แฟลชม็อบ”
นับแต่เกิดรัฐประหาร 2557 มีการเคลื่อนไหวคัดค้านการยึดอำนาจ และต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในนาม “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มอิสระในรั้วมหาวิทยาลัย อาทิ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ม.ธรรมศาสตร์, กลุ่มดาวดิน ม.ขอนแก่น, กลุ่มเกษตรศาสตร์เสรี ม.เกษตรศาสตร์ และกลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา
แกนนำขบวนการประชาธิปไตยใหม่นำโดย รังสิมันต์ โรม (ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่), ชลธิชา แจ้งเร็ว และ “ไผ่ ดาวดิน” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
เพนกวิน ผู้นำนักศึกษาธรรมศาสตร์
หลังการชุมนุมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในปี 2558 ปรากฏว่า แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ถูกจับไป 13 คน และได้รับการประกันตัว ภายหลังเกิดความขัดแย้งภายในขบวนการนักศึกษา รังสิมันต์ โรม จึงยุบขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และก่อตั้ง “กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย” ขึ้นมาแทน
ปี 2561 “บอล” ธนวัฒน์ วงศ์ไชย นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวบรวมเพื่อนร่วมอุดมการณ์หลายมหาวิทยาลัย ร่วมกันก่อตั้ง “สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย” (สนท.)
ปีเดียวกันกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยและสหภาพนิสิตนักศึกษาฯ ได้รวมตัวกันเฉพาะกิจในนาม “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” จัดการชุมนุมมวลชนเป็นระยะๆ เรียกร้องให้ คสช.เร่งจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว
หากประเมินการเคลื่อนไหวปลุกเร้าพลังนักศึกษาของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และสหภาพนิสิตนักศึกษาฯ จากปี 2558-2562 ถือว่า “จุดไม่ติด” เพราะการทำกิจกรรมแต่ละครั้งมักจะมีแต่คนเสื้อแดงสูงอายุมาร่วมชุมนุม
สำหรับ “แฟลชม็อบ” ที่เกิดขึ้นปานไฟลามทุ่งในห้วงเวลานี้ มีบางมหาวิทยาลัยที่มีกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยเข้าไปร่วมกิจกรรมด้วย เช่น ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือกลุ่มดาวดินที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ส่วน “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำพรรคโดมปฏิวัติ ได้เป็นเจ้าภาพจัดแฟลชม็อบที่ธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ตัวเพนกวินเองยังเดินสายไปปราศรัยที่มหิดล ศาลายา และรามคำแหง
เพนกวิน ไปปราศรัยที่มหิดล
ในฐานะประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย เพนกวินได้ประกาศว่า “ขอเชิญชวนให้กลุ่มและองค์กรของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชน ที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ร่วมเป็นเครือข่ายกับพวกเราเพื่อประสานงานและรวมพลังการเคลื่อนไหวข้ามสถาบัน..”
เพนกวินทิ้งท้ายไว้ว่า “เพราะสหายจะไม่ยืนอยู่เพียงลำพัง ร่วมกันก้าวไปข้างหน้าเพื่ออนาคตที่สดใส”
เพนกวิน สมัยเคลื่อนไหวต้าน คสช.
47 ปีที่แล้ว ขบวนการนักศึกษานั้น ภายใต้การชี้นำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) 29 ปีก่อน มีสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เป็นเรือธงขบวนการนักศึกษา
ปีนี้จะมี “เพนกวิน” เป็นผู้นำขบวนการนักศึกษายุคดิจิทัล ใช่หรือไม่?