เรื่องเล่า "14 ตุลา" ฉบับใต้ดิน
เรื่องเล่า "14 ตุลา" ฉบับใต้ดิน คอลัมน์... กระดานความคิด โดย... บางนา บางปะกง
จริงๆ แล้ว ผู้ที่จะเล่าเรื่อง 14 ตุลา ฉบับใต้ดิน ได้ดีที่สุดคือ “พล.ต.อ.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์” อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา) เจ้าของวลีที่ว่า “ความลับเหตุการณ์เดือนตุลาจะตายไปกับตัว” แต่อดีตนายตำรวจใหญ่เสียชีวิตไปเกือบ 10 ปีแล้ว
ก่อนปี 2516 ไม่ค่อยมีใครรู้จัก พล.ต.อ.วิฑูรย์ หรือ พล.ท.วิฑูรย์ ที่มีชื่อรหัสว่า “นายพลเทพ” หรือ “เทพ 333” ผู้นำกองกำลัง “อาสาสมัครนิรนาม” ปฏิบัติการลับในลาว 9 ปี ด้วยการสนับสนุนของซีไอเอ
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พล.ท.วิฑูรย์ ได้กลับมารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งมี พล.ต.อ.ประจวบ สุนทรางกูร เป็นอธิบดีกรมตำรวจ
"วิฑูรย์” หัวหน้าใหญ่ทหารรับจ้าง กลับมาผงาดในกรมตำรวจยุค “เจ้าพ่อเกียกกาย” พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ที่ส่งไม้ต่อให้ “พล.ต.อ.ประจวบ” ตัวแทนของกลุ่มเกียกกาย
ดังที่รู้กันวันมหาวิปโยคหรือวันมหาปีติ ได้นำซึ่งการเปลี่ยนถ่ายอำนาจในกองทัพ โดย จอมพลถนอม กิตติขจร กับ จอมพลประภาส จารุเสถียร ต้องไปลี้ภัยอยู่ในต่างแดน
ศูนย์อำนาจใหม่ในทางการเมือง-การทหารช่วงเวลานั้น จึงประกอบด้วย “พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา” ผู้บัญชาการทหารบก “พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์” อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และ “พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์” อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ
พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เป็นขุนศึกอยู่ในสายเดียวกันกับ “จอมพลถนอม-จอมพลประภาส” แต่ พล.อ.กฤษณ์ เป็นรองผู้บัญชาการทหารบกมาตั้งแต่ปี 2509 จนถึงเดือนตุลาคม 2516 จึงได้เป็น “ผู้บัญชาการทหารบก” ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ประมาณ 2 สัปดาห์
ถ้าพลิกไปดูแฟ้มข่าวการเมืองในอดีตจะพบว่า พล.อ.กฤษณ์ มีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองมาแต่สมัยพรรคเสรีมนังคศิลา จนมาถึงพรรคสหประชาไทย แถมยังได้ดูแล “กลุ่ม ส.ส.อิสระ” ด้วย
พล.อ.กฤษณ์ และ พล.ต.อ.ประเสริฐ สนิทชิดเชืิ้อกับนักการเมืองอีสานรายหนึ่ง คอยให้การสนับสนุนลับๆ ทั้งที่รู้ว่าสำนักงานทนายความของนักการเมืองคนนั้นเป็นที่พักพิงของนักศึกษาหัวก้าวหน้า แต่นักการเมืองคนนั้นก็ไม่ปิดบังเรื่องความสัมพันธ์กับนายทหารใหญ่
นักศึกษากลุ่มนี้แหละที่เป็นต้นคิดในการแจกใบปลิวรณรงค์ให้รัฐบาลถนอมเร่งร่างรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้งโดยเร็วเพื่อนำประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย
กิจกรรมแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2516 กลายเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อจอมพลประภาสสั่งการให้จับกุมนักศึกษาที่แจกใบปลิวกลุ่มนั้น รวมถึงนักการเมืองอีสานคนนั้นด้วย
ปริศนาคาใจของผู้คนสมัยโน้น เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 14 ตุลา มี 2 เหตุการณ์คือการปะทะหน้าสวนจิตรลดา เช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และกรณี “กลุ่มคนแปลกหน้า” บนหลังคาตึกกองสลากกินแบ่งในตอนสายวันเดียวกัน
ช่วงระหว่างการชุมนุมของนักศึกษา ตั้งแต่ 7-13 ตุลาคม 2516 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ได้ประกาศเป็นผู้นำการชุมนุม โดยเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมจำนวน 13 คน พล.อ.กฤษณ์ ได้รับมอบจากจอมพลถนอม กิตติขจร ให้เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับทุกฝ่าย
วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ขณะที่นักศึกษาและประชาชนกำลังจะสลายตัวก็เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ จนกลายเป็นการจลาจล และ “พล.อ.กฤษณ์” ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ได้ถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาลจอมพลถนอม บ้างก็ว่า พล.อ.กฤษณ์ ทำรัฐประหารเงียบ
10 กว่าปีที่แล้ว พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ได้มอบให้นักวิชาการบางคนมาเขียนประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฉบับใหม่ และพยายามจะคลี่ปมปริศนา “สลายม็อบ” ตอนรุ่งสาง แต่อดีตผู้นำนักศึกษาสมัยโน้นได้ออกมาตอบโต้การบิดเบือนข้อมูลของฝ่าย พ.อ.ณรงค์
น้ำผึ้งหยดเดียวในช่วงรุ่งสางวันนั้น ใครสั่งการให้ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาที่กำลังแยกย้ายกันกลับบ้าน เนื่องจากรัฐบาลปล่อยตัว 13 นักศึกษาและนักการเมืองแล้ว พร้อมรับปากจะร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ผู้ที่รู้ความจริงอีกด้านของ 14 ตุลา ต่างก็จากโลกนี้ไปหมดแล้ว เรื่องลับๆ จึงต้องเป็นความลับต่อไป