ธงดำท่าพระจันทร์
จุดเริ่มต้นของ 14 ตุลามหาปีติ คือวันที่ 5 ตุลาคม 2516 เมื่อสมาชิกของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญประมาณ 20 คน เดินแจกใบปลิวเรียกร้องให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ต่อมา ตำรวจได้จับกุมผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญชุดแรก 11 คน และตามจับได้ในภายหลังอีก 2 คน รวมเป็น 13 คน
ชุมนุมลานโพธิ์ ปี 2516
การจับกุม 13 ผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ทำให้นักศึกษาหลายสถาบันออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัว และเร่งร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จ
สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ปี 2516
8 ตุลาคม 2516 องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ (อมธ.) ประชุมลับ และมีมติให้เลื่อนการสอบไล่ นักศึกษาสังกัด “กลุ่มอิสระ มธ.” แยกย้ายกันเอาโซ่ล่ามประตู เอาปูนปลาสเตอร์อุดรูกุญแจห้องสอบ ตัดสายไฟฟ้าเพื่อให้ลิฟต์ใช้การไม่ได้
9 ตุลาคม 2516 เช้าตรู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการชักธงดําครึ่งเสา เหนือยอดโดม ประตูทางเข้ามีประกาศงดสอบ ด้านท่าพระจันทร์ มีผ้าผืนใหญ่ข้อความว่า “เอาประชาชนคืนมา”
ภาพวาดการชักธงดำ เมื่อรุ่งสาง 9 ต.ค.2516
ตอนหลัง ศ.ดร.อดุลย์ วิเชียรเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการสมัยนั้น ได้เจรจากับกลุ่มอิสระ มธ. ขอให้ปลดธงดำ และชักธงชาติขึ้นอย่างเดิม นักศึกษาก็ทำตามคำขอ และปลดผ้าดำออกจากป้ายชื่อมหาวิทยาลัยด้วย
จากนั้น การชุมนุมก็เริ่มต้นที่ลานโพธิ์ ก่อนจะย้ายไปสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ ก่อนจะเคลื่อนขบวนออกสู่ราชดำเนิน ตอนเที่ยงวันที่ 13 ตุลาคม 2516
อยากทราบว่า ใครเป็นคนชักธงดำขึ้นยอดโดม..ลองไปถามคนตุลาสาย มธ. ที่นั่งอยู่ในค่ายอนาคตใหม่(เดิม) ดูก็ได้
โบว์เห็นใจน้อง
กรณีชักธงดำที่จุฬาฯ “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำกลุ่มพลังมด ได้อธิบายผ่านทางแฟนเพจเสียยาวเหยียด โดยย้ำว่า "น้องๆไม่ได้แตะต้องธงชาติ..พวกเขาเพียงต้องการใช้ธงดำเป็นสัญลักษณ์ถึงความอยุติธรรมปิดท้ายกิจกรรม"
อย่างไรก็ตาม ในฐานะรุ่นพี่ “โบว์” เตือนว่า การสื่อสารเชิงสัญลักษณ์นั้น หากเราไม่สามารถอธิบายให้สังคมเข้าใจอย่างทั่วถึงได้จริง ในกรณีที่มีความอ่อนไหวสูง ก็อาจนำมาซึ่งผลอันไม่พึงประสงค์
โบว์ และเฟลอ ร่วมกันเล่าเรื่องแฟลชม็อบ
"ต่อให้สามารถชักธงดำขึ้นเสาและอธิบายกันในงานได้ หากภาพเผยแพร่ออกไป ก็จะมีคนจำนวนมากไม่พอใจจากการตีความที่เพี้ยนไปได้หลายทิศทาง ทั้งโดยจงใจและไม่ตั้งใจ เกิดบรรยากาศที่เป็นอันตราย.."
นิสิตจุฬาฯ คงไม่ทราบว่า การชักธงดำขึ้นยอดโดมนั้น กระทำในช่วงเวลาสั้นๆช่วงเช้าตรู่ ช่างภาพหนังสือ พิมพ์ ยังไม่ได้มาถึงลานโพธิ์ จึงไม่มีภาพชักธงดำเหนือยอดโดมเผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์
นี่คือบทเรียนแรก หากนิสิตนักศึกษายังเดินหน้าทวงถามอนาคต คงต้องมีสติ และรอบคอบกว่านี้