คอลัมนิสต์

เปิดปูม "วรวิทย์ กังศศิเทียม" ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

เปิดปูม "วรวิทย์ กังศศิเทียม" ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

06 มี.ค. 2563

เปิดปูม "วรวิทย์ กังศศิเทียม" ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

 

          ในที่สุดสิ่งที่คนไทยรอคอยก็มาถึง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมเพื่อเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ แทนที่ของ นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ คนปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงพร้อมกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 4 คน

อ่านข่าว-ด่วน วรวิทย์ นั่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ คนใหม่

 

          โดยการประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมร่วมกันครั้งแรกระหว่างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเดิม กับว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่อีก 4 คน


          ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 206 คือให้ผู้ได้รับความเห็นชอบเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลือกกันเอง ให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ เพื่อนำชื่อขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 204


          สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คนในชุดปัจจุบัน ประกอบไปด้วย วรวิทย์ กังศศิเทียม, ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และปัญญา อุดชาชน 


          4 คนข้างต้นได้ประชุมร่วมกับว่าที่ 4 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ใหม่) คือ อุดม สิทธิวิรัชธรรม อดีตประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตในศาลฎีกา, วิรุฬห์ แสงเทียน อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาและอดีตรองประธานศาลฎีกา, จิรนิติ หะวานนท์ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และ นภดล เทพพิทักษ์ อดีตเอกอัครราชทูต


          ทั้งหมดประชุมเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ แทน นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบันที่หมดวาระและพ้นจากตำแหน่งตามคำสั่งคสช.ที่ 24/2560 ลงวันที่ 20 เมษายน 2560 พร้อมกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 4 คน


          ที่สุดแล้ว ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเลือก วรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเสียงข้างมาก โดยมีผู้เสนอชื่อ 3 คน คือ วรวิทย์, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ โดยมีผลการลงคะแนน วรวิทย์ได้ 5 คะแนน และส่วนตุลาการคนอื่นได้คนละ 1 คะแนน

 



00000


          สำหรับวรวิทย์ กังศศิเทียม เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2495 อายุ 68 ปี ดีกรีนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง (กฎหมายมหาชน)


          เส้นทางการทำงาน มีดังนี้ อัยการจังหวัดสกลนคร วันที่ 13 พฤษภาคม 2535, อัยการจังหวัดอุดรธานี วันที่ 1 พฤษภาคม 2536, อัยการพิเศษฝ่ายแผนงานฝึกอบรม วันที่ 1 ธันวาคม 2543, สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด, ตุลาการศาลปกครองกลาง วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544, รองอธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่ วันที่ 30 กรกฎาคม 2544, อธิบดีศาลปกครองพิษณุโลก วันที่ 1 ตุลาคม 2545, ตุลาการศาลปกครองสูงสุด วันที่ 17 พฤษภาคม 2551 ก่อนได้รับเลือกมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเดือนกันยายน ปี 2557


          ส่วนตำแหน่งอื่นนอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ศป.) 2 สมัย เป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ในประเทศไทย


          อย่างที่รู้ จากข้างต้น ประธานศาลรัฐธรรมนูญใหม่ท่านนี้ จะเรียกว่าใหม่เสียทีเดียวก็คงไม่ได้ จะว่าเก่าสุดๆ ก็ยังไม่ใช่ เพราะในกลุ่มเก่าสุดคือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่นั่งทุบโต๊ะมาแล้วหลายปีดีดักนั้นมี 5 คนที่ได้รับแต่งตั้งตั้งแต่ปี 2551 ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งกำหนดวาระไว้ 9 ปี 


          ส่วน  5 คน ได้ครบวาระในปี 2560 คือ นุรักษ์ มาประณีต, จรัญ ภักดีธนากุล, ชัช ชลวร, บุญส่ง กุลบุปผา และอุดมศักดิ์ นิติมนตรี แต่คสช.ได้มีประกาศ คสช.ที่ 24/2560 ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งออกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ใช้บังคับ จนกระทั่งหมดวาระจริงๆ แล้วในตอนนี้


          ส่วน วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนล่าสุดนี้ ได้รับเลือกมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเดือนกันยายน ปี 2557 หรือหลังคสช.มายึดอำนาจ โดยมาตามรัฐธรรมนูญ 2550


          แต่ดังที่บอกว่า วรวิทย์นั้นก็ไม่ใหม่เอี่ยม ได้ร่วมงานกับทีมเก่ายุบพรรคไทยรักษาชาติแบบเป็นเอกฉันท์ กรณีที่เสนอชื่อบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรค


          จากนั้นก็มาทำหน้าที่เก็บงานสุดท้ายก่อนเลือกศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่มาแทนชุดเก่ากึ๊กที่กำลังจะหมดวาระไป คือการวินิจฉัยคดียุบพรรคส้มเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา


          โดย วรวิทย์เป็น 1 ใน 7 เสียงข้างมากที่มติยุบพรรคอนาคตใหม่ ร่วมกับ นุรักษ์ มาประณีต (ประธานศาลรัฐธรรมนูญขณะนั้น), จรัญ ภักดีธนากุล, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, บุญส่ง กุลบุปผา, ปัญญา อุดชาชน และอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ส่วน 2 เสียงข้างน้อย ประกอบด้วย ชัช ชลวร และ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ


          ก็เป็นไปตามคาดหมายว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หัวขบวนองค์กรแห่งนี้ก็ยังคงต้องเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านวิบากยุบพรรคซึ่งอยู่ในกลุ่มเสียงข้างมากนั่นเอง