รัฐมึน ประชาชนงงกับ ไวรัสโควิด-19
หลายๆ ประเทศทั่วโลกออกมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด ขณะที่รัฐบาลไทยยังมึนๆ งงๆ โดย..ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์
จากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก โดยที่น่ากลัวสุด ณ ตอนนี้เป็นประเทศในแถบยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิตาลี และล่าสุดคือสเปน ทำให้หลายๆ ประเทศทั่วโลกออกมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการปิดประเทศ ปิดสถานศึกษา ปิดสถานที่ชุมชน การระงับการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยง การบังคับกักตนเอง 14 วัน เป็นต้น
ในส่วนของประเทศไทยนั้น อย่างน้อยที่สุดต้องยอมรับว่ารัฐบาลไทยและประชาชนไทยตื่นตัวในการเผชิญกับวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ได้อย่างน่าพอใจเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา แต่ภายใต้คำชมเชยนี้ ผู้คนจำนวนมากก็คงคิดว่ารัฐบาลไทยน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ถ้าไม่มึนกับการกำหนดมาตรการรายวัน มึนกับการเผยแพร่ข้อมูลให้สาธารณะและมึนกับความไม่เด็ดขาดของรัฐบาลเอง ในขณะที่ประชาชนชาวไทยน่าจะพร้อมรับมือกับปัญหาไวรัสโควิดได้มากกว่านี้ ถ้าไม่งงกับวิธีปฏิบัติตัวของตนเอง (ซึ่งเป็นผลมาจากความมึนของรัฐบาล)
ในประเด็นการระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางนิด้าโพลได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความรู้สึกที่มีต่อการแพร่ระบาดของไวรัส ปรากฏการณ์ทางสังคมและพฤติกรรมการป้องกัน โดยมีการถามประชาชนถึงความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย พบว่า ร้อยละ 32.86 ระบุว่า มีความกังวลมาก ร้อยละ 35.32 ระบุว่า ค่อนข้างมีความกังวล ร้อยละ 18.33 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกังวล และร้อยละ 13.49 ระบุว่า ไม่มีความกังวลเลย
ในขณะที่ด้านความกลัวที่จะติดเชื้อไวรัสนั้นพบว่า ร้อยละ 23.97 ระบุว่า มีความกลัวมาก ร้อยละ 36.67 ระบุว่า ค่อนข้างมีความกลัว ร้อยละ 22.14 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกลัว และร้อยละ 17.22 ระบุว่า ไม่มีความกลัวเลย
สำหรับพฤติกรรมในการป้องกันไวรัสด้วยการสวมหน้ากากของคนไทย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.54 ระบุว่า ใส่หน้ากากในทุกที่ ตลอดเวลา เมื่อออกจากบ้าน รองลงมา ร้อยละ 25.71 ระบุว่า ใส่หน้ากากเฉพาะเวลาอยู่ในที่ชุมชน ร้อยละ 20.56 ระบุว่า ไม่ใส่หน้ากากเลย ร้อยละ 13.02 ระบุว่า ใส่หน้ากากเป็นบางครั้ง ร้อยละ 7.14 ระบุว่า แทบจะไม่ได้ใส่หน้ากากเลย ร้อยละ 0.71 ระบุว่า ใส่หน้ากากเฉพาะเวลาที่ตนเองมีอาการเจ็บป่วย และร้อยละ 0.32 ระบุว่า ใส่หน้ากากเฉพาะเวลาที่ต้องมีการใกล้ชิดกับผู้ป่วย
สำหรับโพลล์ในข้อสี่ถามถึงสิ่งที่ทำให้หงุดหงิดใจมากเมื่ออ่านข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 31.43 ระบุว่า หงุดหงิดกับคนที่กลับจากประเทศเสี่ยงไม่กักตนเอง รองลงมา ร้อยละ 28.41 ระบุว่า การขาดแคลน และ/หรือ มีการกักตุนหน้ากากอนามัย ร้อยละ 21.75 ระบุว่า จำนวนคนติดไวรัสโควิด-19 ในไทยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.11 ระบุว่า ภาครัฐไม่ตัดสินใจเด็ดขาด มีแต่มาตรการรายวันในการแก้ไขปัญหาร้อยละ 17.14 ระบุว่า ภาครัฐไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ไม่ยอมกักตนเอง ร้อยละ 16.43 ระบุว่า ราคาหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เจลล้างมือแพงเกินเหตุ ร้อยละ 9.92 ระบุว่า ข่าวปลอมเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ร้อยละ 9.84 ระบุว่า การขาดแคลนแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ร้อยละ 9.21 ระบุว่า จำนวนคนติดไวรัสโควิดในโลกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.33 ระบุว่า ไม่หงุดหงิดใจเมื่ออ่านข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 ร้อยละ 8.25 ระบุว่า ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการป้องกันโควิด-19 ที่สับสน ร้อยละ 7.70 ระบุว่า ประชาชนตื่นตระหนกเกินเหตุ ร้อยละ 6.11 ระบุว่า นักการเมืองบางคนนำโควิด-19 มาเป็นประเด็นทางการเมือง
จากผลโพลล์ ประเด็นแรกที่จะขอหยิบยกมาพูดถึงคือ โพลล์สามข้อแรกที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยตื่นตัวมากกับปัญหานี้แต่ไม่ถึงกับตื่นตระหนกจนเกินเหตุ และคนไทยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมในการป้องกันด้วยการสวมหน้ากากเมื่อออกนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากตลอดเวลาหรือสวมเฉพาะเมื่ออยู่ในที่ชุมชน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีคนไทยหนึ่งในสามกังวลมากกับสถานการณ์และหนึ่งในสี่กลัวไวรัสนี้มาก แต่คนไทยส่วนใหญ่มีความกังวลและความกลัวไวรัสอยู่ในระดับกลางๆ (เช่น ค่อนข้างกังวล/กลัว และไม่ค่อยกังวล/กลัว) การมีสติของคนไทย (ในขณะนี้นะ) ทำให้เราไม่เห็นข่าวความวุ่นวาย การตบตีแย่งชิงข้าวของเครื่องอุปโภคบริโภคในร้านค้าหรือในห้างสรรพสินค้า หรือข่าวสภาพถนนที่ว่าง เมืองที่ใกล้ร้างเหมือนที่เกิดขึ้นในบางประเทศ แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในอนาคตไม่สามารถบอกได้ ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่ามึนแค่ไหนในการกำหนดมาตรการป้องกันปัญหาและแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19
ประเด็นที่สองเกี่ยวกับการขาดจิตสำนึกสาธารณะของคนไทยบางคนที่กลับจากประเทศเสี่ยงแต่ไม่คิดจะกักตัวเอง 14 วัน ซึ่งคนในสังคมส่วนใหญ่จะต่อว่ากลุ่มผีน้อยจากเกาหลีใต้ แต่ในความเป็นจริงมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงอื่นๆ แต่ไม่ยอมกักบริเวณตัวเองและอาจจะน่ากลัวกว่ากลุ่มผีน้อยก็ได้ เช่นคนไทยและคนต่างชาติที่เดินทางมาจากยุโรป ญี่ปุ่น อิหร่าน เป็นต้น บางคน (เท่าที่เคยได้ฟังมา) กลัวการถูกกักตัวถึงกับกินยาแก้ไข้ก่อนขึ้นและลงจากเครื่อง เพื่อไม่ให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงผิดสังเกต เมื่อกลุ่มคนที่ขาดจิตสำนึกสาธารณะหลุดออกนอกเขตสนามบินแล้วก็วางแผนเที่ยวกินโดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น จนกว่าจะมีคนจำได้ว่าคนคนนี้เพิ่งกลับมาจากประเทศเสี่ยงได้ไม่ถึง 14 วัน ก็เลยเป็นเรื่องให้ทุกๆ สถานที่ที่ไปต้องหยุดกิจการและทำบิ๊กคลีนนิ่ง ไม่ทราบว่าถึงวันนี้แล้ว คนกลุ่มนี้รู้สึกผิดหรือยัง ที่ทำให้ร้านอาหาร ร้านค้าที่ทุกวันนี้เศรษฐกิจก็แย่ ขายไม่ค่อยได้อยู่แล้ว ต้องมาหยุดกิจการชั่วคราวและเสียเงินทำความสะอาด
ประเด็นที่สามเรื่องการขาดแคลนและ/หรือ มีการกักตุนหน้ากากอนามัย ประเด็นนี้ต้องย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาลและการแสดงความคิดเห็นของบุคลากรทางการแพทย์ (ทั้งไทยและต่างชาติ) ที่ทำให้สังคมสับสน โดยมีหัวข้อในการโต้เถียงกัน เช่น ทุกคนควรใส่หน้ากากหรือเฉพาะคนป่วยเท่านั้นที่ควรใส่หน้ากาก การใส่หน้ากากโดยที่เราไม่เป็นอะไรจะทำให้เกิดการสะสมเชื้อโรค จริงหรือไม่ เราทุกไม่ควรใส่หน้ากากชนิดอื่น แต่ควรใส่หน้ากากอนามัยเท่านั้นเพราะป้องกันโควิด-19 ได้ ใช่หรือไม่ ถ้าข้อมูลเกี่ยวกับหน้ากาก/หน้ากากอนามัยชัดเจน ก็จะไม่มีปัญหาขาดแคลน กักตุน หรือขายเกินราคาดั่งเช่นทุกวันนี้
ประเด็นที่สี่เกี่ยวกับข้อมูลที่สับสนในการปฏิบัติตัวของคนไทยเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 เมื่อข้อมูลไม่ชัดเจนทำให้เกิดคนสองกลุ่มมีพฤติกรรมในสังคมที่ต่างกันแบบหน้ามือหลังมือ (แม้ว่าจะไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่สุดในสังคม) คนกลุ่มแรกคือคนที่กลัวมากหรือเกิดอาการจิตตก คนที่ไม่มั่นใจว่าควรไปหรือไม่ควรไปที่ใดและไม่มั่นใจว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรในพื้นที่ชุมชน คนกลุ่มนี้จำนวนมากก็ตัดสินใจลดหรืองดการเดินทางออกนอกบ้าน (นอกจากการไปทำงานตามปกติ) ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นสนามบินที่มีภาพออกมาว่าร้างไม่ค่อยมีผู้โดยสาร (น่าจะบิ๊กคลีนนิ่งสนามบินเพื่อสร้างความมั่นใจสักที) ตลาดนัดและห้างสรรพสินค้าที่คนขายมากกว่าคนซื้อ ร้านอาหารที่แล้งลูกค้า กิจกรรมสาธารณะที่ไม่ค่อยมีคนไปร่วม (ยกเว้นโดนบังคับมา) เป็นต้น
ส่วนคนกลุ่มที่สองคือพวกที่ไม่กลัวอะไรเลย เพราะอาจคิดว่าพวกเขาคงไม่โชคร้ายขนาดนั้น หรือพวกที่คิดว่าอะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเกิด ยังไงชาตินี้ก็ตายอยู่ดี หรือพวกที่เห็นกิจกรรมอื่น (อาจรวมถึงการหาเงินเลี้ยงชีพในแต่ละวัน) สำคัญกว่าความกลัวที่จะติดไวรัสโควิด-19 เราจึงเห็นคนกลุ่มนี้ไปไหนมาไหนแบบไม่มีการป้องกันหรือแทบจะไม่ป้องกันเลย ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อโรคจากผู้อื่น หรือป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมาติดเชื้อโรคจากตนเอง
ประเด็นที่ห้าเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยในข้อแรกมีคำถามว่า ใครควรไปตรวจและใครไม่จำเป็นต้องไปตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้ที่ควรไปตรวจต้องมีอาการครบทุกข้อหรือไม่ เช่น มีอาการไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจเหนื่อยหอบ ถ่ายเหลวท้องเสีย เป็นต้น ผู้ที่ไม่ได้มีประวัติการเดินทางไปประเทศเสี่ยงหรือไม่ได้ใกล้ชิดกับคนที่เคยเดินทางไปประเทศเสี่ยง แต่มีอาการเจ็บป่วย ควรไปตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้ประเด็นนี้มีความไม่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดพฤติกรรมไม่น่าเกิดขึ้นตามมา เช่นการตรวจหาไวรัสโควิด-19 จะกลายเป็นแฟชั่นที่ไม่ว่าตนเองจะมีความเสี่ยงหรือไม่หรือมีในระดับใด ก็ต้องการไปตรวจ (ทั้งที่อาจไม่จำเป็นเลย) เพื่อความสบายใจแก่ตนเองและผู้อื่น ข้อที่สองในประเด็นนี้คือทำอย่างไรให้ประชาชนทุกสถานะสามารถเข้าถึงการตรวจหาไวรัสโควิด-19 เนื่องจากในปัจจุบันค่าตรวจค่อนข้างแพงตั้งแต่ 3,000–10,000 บาท ยกเว้นผู้ที่เข้าข่ายอาการของโรคและมีประวัติเสี่ยงถึงจะได้ตรวจฟรีตามสิทธิที่ถืออยู่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชนควรเข้าใจถึงความจริงในสังคมของคนกลุ่มหนึ่งที่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาไปตรวจร่างกาย เวลาเจ็บป่วยจึงหายากินเอง หรือไม่อยากไปตรวจเพราะไม่รู้ว่าตัวเองเข้าข่ายติดโควิด-19 หรือไม่ และหากไปตรวจแต่ตนเองไม่เข้าข่ายติดโควิด-19 ก็กลัวว่าจะต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่สามารถจ่ายค่าตรวจที่แพงขนาดนั้นได้
ประเด็นที่หกเกี่ยวกับการบริหารและประชาสัมพันธ์ข้อมูลในสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งดูเหมือนว่าโฆษกรัฐบาลไม่สามารถให้ข้อมูลกับสาธารณะอย่างชัดเจน ไม่มีข้อเสนอแนะหรือกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ที่ดีๆ ให้กับนายกรัฐมนตรีในการแถลงการณ์หรือการปฏิบัติตัวเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจว่ารัฐบาลนี้เอาอยู่กับวิกฤตินี้ แต่โฆษกรัฐบาลกลับปล่อยให้มีคำถามมากมายจากสาธารณะที่ยังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้
ในเมื่อรัฐบาลแถลงข้อมูลแบบมึน ๆ ประชาชนก็จะปฏิบัติตัวแบบงงๆ
จำได้ว่าเคยแนะนำว่า ถ้าโฆษกรัฐบาลทำไม่ได้ ทำไมไม่ไปคุกเข่าขอร้อง ดร.เสรี วงษ์มณฑา มาให้คำแนะนำ (หรือให้ทำให้เลยก็ได้ อาจารย์ยินดีอยู่แล้ว) ล่าสุด จิตกร บุษบา แนะนำให้เอารถไปรับอาจารย์เสรีมาเขียนคำแถลงการณ์ให้นายกรัฐมนตรี จะได้เกิดความชัดเจนในความเข้าใจสาธารณะ ไม่รู้ว่าโฆษกรัฐบาลเคยอ่านหรือสนใจคำแนะนำนี้หรือไม่
ประเด็นที่เจ็ดเกี่ยวกับการบริหารประเทศในสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งแม้ว่าอาจจะทำได้ดีกว่าหลายประเทศ แต่ค่อนข้างจะดูมึนๆ กับมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการป้องกัน แก้ไข หรือมาตรการในเชิงจิตวิทยา ในระยะแรกๆ ดูเหมือนจะมีพระเอก อย่าง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่พอเวลาผ่านไปดูเหมือนท่านรองฯ ก็จะเริ่มมึนกับปัญหาและวิธีป้องกันและการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในขณะที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ได้แสดงบทบาทภาวะผู้นำในยามวิกฤติอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้มีมาตรการใดๆ ที่เด็ดขาดแบบมีวิสัยทัศน์ (คือมองไปข้างหน้า) ในการแก้ไขปัญหาภาวะวิกฤติ แต่กลับมีแต่มาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ารายวัน
ส่วนการบังคับใช้กฎหมายในกรณีโควิด-19 ก็ดูไม่เข้มแข็งเลย เช่น เกิดมีผีน้อยหลุดรอดจากการคัดกรองไปจำนวนหนึ่ง บางคนที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงไม่กักตัวเองแต่ภาครัฐก็ไม่ทำอะไร เกิดข่าวลือ/เท็จเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 มากมาย แต่รัฐบาลก็ไม่บังคับใช้มาตรการที่จริงจังเพื่อเขียนเสือให้วัวกลัว จนทำให้คนจำนวนมากถามว่าทำไมท่านนายกฯ ไม่เด็ดขาดเข้มแข็งเหมือนตอนทำรัฐประหารปี 2557
หรือเป็นเพราะว่าภาวะวิกฤติโรคระบาด นานๆ มาที เลยไม่เชี่ยวชาญในการควบคุม?