คอลัมนิสต์

กต.ตร. "กระเป๋าสตางค์ตำรวจ"

กต.ตร. "กระเป๋าสตางค์ตำรวจ"

19 มี.ค. 2563

กต.ตร. "กระเป๋าสตางค์ตำรวจ" ....โดย พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

          จนถึงขณะนี้ไม่มีใครแน่ใจว่าปัญหา โรคติดต่อร้ายแรงโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกกว่า 140 ประเทศ จะยุติ หรือรุนแรงขึ้นมากน้อยเพียงใด? จะสร้างความเสียหายต่อมนุษย์ชาติอย่างน่าสพรึงกลัวถึงขนาด “ไข้หวัดสเปน” ที่ระบาดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อร้อยปีที่ผ่านมาซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไป กว่า 50 ล้านคน หรือไม่?

          สำหรับประเทศไทยหากสถานการณ์ร้ายแรงไปสู่ ระดับสาม จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างใหญ่หลวงยิ่ง 

          โรคระบาดร้ายแรงครั้งนี้มีทั้งที่เป็นคุณและเป็นโทษต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล

          ประการแรกทำให้การชุมนุมประท้วงแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ลดความร้อนแรงลง

          แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ถูกวิจารณ์เรื่องการปล่อยให้หน้ากากอนามัยขาดแคลน ไม่เพียงพอแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์จะใช้ในการป้องกันรักษาผู้ป่วย

          ซ้ำเติมด้วย “ข่าว” เรื่อง คนใกล้ชิดนักการเมืองฝ่ายรัฐ เข้าไปเกี่ยวข้องกับการส่งออกหน้ากากอนามัย ส่งผลให้เกิดความขาดแคลนภายในประเทศด้วย

 

 

 

          ความไม่มั่นใจต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจรวมทั้งความไม่สุจริตและ ไม่จริงใจในหลายเรื่องที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนเข้าใจว่า ปัญหาน่าจะเกิดจากการกักตุนและความละโมบของพ่อค้าและผู้มีอำนาจบางคนที่เห็นแก่เงินหวังส่งออกไปขายต่างประเทศได้ราคา

          ก่อนที่กรมการค้าภายในจะประกาศให้การส่งออกต้องได้รับอนุญาต และต่อมาได้ประกาศเพิ่มเติมให้เป็น “สินค้าควบคุม” ผู้ค้าต้องแจ้งปริมาณการครอบครอง

          พ่อค้าคนหนึ่งซึ่งเป็นข่าวเรื่องการกักตุนหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น ที่กำลังถูกตำรวจดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ข้อหานำความเท็จมาเผยแพร่

          หลังจากรับว่าตนไม่ได้มีสินค้าในความครอบครองจำนวนมหาศาลจริงตามที่ คุยโม้ ถ่ายคลิปนั้นแต่อย่างใด

          แต่สุดท้ายเมื่อมีการแจ้งข้อหา “ดับกระแส” แล้ว จะเป็นความผิดตามกฎหมาย อัยการจะสั่งฟ้องพิสูจน์ให้ศาลลงโทษได้หรือไม่ ยังมีปัญหา? เนื่องจากอัยการต้องพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใดหรือเกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนอย่างไรที่จะถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายคอมพิวเตอร์

          ซึ่งตำรวจและประชาชน “นิยมกล่าวหาดำเนินคดีกับผู้คนกันจนมั่วไปหมด” อยู่ทุกวันนี้!

          แต่อีกประเด็นที่ผู้คนสนใจก็คือ พ่อค้าคนนี้มีฐานะเป็น กต.ตร. หรือ “กรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ” สภ.หนองปรือ จ.ชลบุรี ด้วย

          กต.ตร.มีขึ้นจาก พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ.2547 ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ให้ “กรมตำรวจ” ซึ่งเป็นหน่วยราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย เปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” เป็นหน่วยราชการที่ “ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี”

          ไม่ต้องมีหน่วยงานบริหารหรือธุรการอะไรรองรับ แม้แต่ “สำนักนายกรัฐมนตรี” ก็ไม่ได้มีฐานะเป็นองค์กรตรวจสอบงานตำรวจแต่อย่างใด

          กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ยังมีปลัดกระทรวง รัฐมนตรีช่วยว่าการ และรัฐมนตรี เป็นผู้ตรวจสอบควบคุมรวมทั้งกลั่นกรองงานต่างๆ ที่มีความจำเป็นต้องเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา หรือนำเข้า ครม.เห็นชอบ

          แต่การกำหนดให้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ทำให้องค์กรตำรวจไทยมีฐานะ “ซ่อนรูป” เท่ากับ “กระทรวงหนึ่ง” ในความเป็นจริง!

          สิ่งที่ทุกฝ่ายเป็นกังวลและตั้งถามในขณะนี้ก็คือนอกจากตัวนายกรัฐมนตรีเองแล้ว หน่วยใด จะเป็นมือไม้ในการ ตรวจสอบควบคุมและประเมินผล การทำงานของตำรวจ

          คำตอบของ “คนต้นคิด” ในขณะนั้นก็คือ ไม่ต้องห่วง เพราะนอกจากจะมี ก.ตร. หรือ “คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ” ที่มีหน้าที่ตรวจสอบการแต่งตั้งโยกย้าย การลงโทษทางวินัย และการบริหารงานภายในแล้ว ก็ยังกำหนดให้มี “คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหาร” หรือ กต.ตร. ทั้งในระดับชาติ กต.ตร.กรุงเทพมหานคร กต.ตร.กองบัญชาการตำรวจภูธร 1-9 และ ศชต. กต.ตร.ตำรวจนครบาล 1-9 กต.ตร.จังหวัด และ กต.ตร.ทุกสถานีขึ้นอีกด้วย

          สุดท้ายได้มีการจัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2542

          ตำรวจผู้รับผิดชอบคุยขโมงโฉงเฉงว่า นอกจากมีทั้งผู้ว่าฯ นายอำเภอ เป็นกรรมการแล้ว ยังมีตัวแทนประชาชน ครูบาอาจารย์และนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ร่วมอีกจำนวนมาก

          แต่สุดท้ายกลายเป็นว่า อาเสี่ย อาเฮีย พ่อค้า คหบดี คนมีเงินทั้งสีขาวและสีเทา ขาประจำ ในพื้นที่แต่ละสถานี ได้รับการแต่งตั้งกันเป็นแถว

          ส่วนประชาชนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ชาวนา เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพรับจ้างต่างๆ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่เคยได้ยินว่ามีใครได้รับการแต่งตั้งเป็น กต.ตร.แต่อย่างใด?

          เนื่องจากได้ กำหนดให้หัวหน้าสถานีเป็นผู้เสนอชื่อ บุคคลผู้เหมาะสมให้ผู้บังคับการเป็นผู้แต่งตั้ง

          แล้วหัวหน้าสถานีคนไหนจะเสนอ “คนยากจน” เช่น คนขับรถแท็กซี่ ขับรถบรรทุก หรือนักวิชาการที่มีความมุ่งมั่นในการตรวจสอบการทำงานของตำรวจอย่างจริงจังเข้าไป

          ไม่ต่างกับการแต่งตั้ง “สมาชิกวุฒิสภา” 250 คน ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 แต่อย่างใด          จะตั้งใคร ก็ต้องคุมคนนั้นได้ เป็นวลีของผู้มีอำนาจที่ก้องหูประชาชนอยู่ทุกวันนี้!

 

 

 

          แม้บางสถานีจะมีตัวแทนประชาชนหรือครูอาจารย์มีความคิดก้าวหน้ามีเจตนาอยากตรวจสอบการทำงานของตำรวจและเป็นปากเสียงให้ผู้คนอย่างแท้จริงอยู่บ้าง

          เมื่อได้รับการแต่งตั้งใหม่ๆ ก็ดีใจ คิดว่าจะได้พูดเรื่องปัญหาบ่อนการพนัน ตู้ม้า อบายมุข ปัญหารถบรรทุกหนัก และอีกสารพัดที่มีอยู่ในอำเภอหรือจังหวัดให้หัวหน้าสถานีหรือผู้บังคับการตำรวจจัดการแก้ไข

          แต่ พูดเท่าไร หัวหน้าสถานีและผู้บังคับตำรวจก็ทำ “หูทวนลม” ไม่สนใจ และหากยังพูดมากไปเรื่อยๆ เมื่อครบวาระ ต่อไปเขาคงไม่เสนอชื่อและตั้งอีกเป็นแน่

          และเมื่อมาเปิดกฎหมายดู ก็พบความจริงว่า เขาเขียนกฎหมายให้ กต.ตร.มีหน้าที่ดังนี้

          1.ให้คำปรึกษาและเสนอแนะการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ 2.ประสานการตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ 3.รับคำร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของตำรวจ และ 4.ให้คำแนะนำและช่วยเหลือสนับสนุนการประชาสัมพันธ์และการบริหารงานสถานีตำรวจ

          กต.ตร.ทุกระดับ แม้แต่จังหวัดที่มี ผู้ว่าราชการเป็นประธาน มี พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินรองรับความ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการทุกฝ่าย

          แต่สำหรับงานตำรวจคือการรักษากฎหมายในจังหวัด ก็มีอำนาจเพียงเท่านี้เช่นกัน

          ผู้ตรวจสอบควบคุมที่ไม่มีอำนาจแม้แต่การเสนอเลื่อนตำแหน่งหรือแต่งตั้งโยกย้ายและให้ความชอบตำรวจคนใด

          จึงไม่สามารถตรวจสอบควบคุมอะไรได้อย่างแท้จริง

          ยิ่งสำหรับคนเป็น “พ่อค้า” และ “คหบดีคนมีเงิน” ก็เลยกลายเป็นเพียง “กระเป๋าสตางค์ตำรวจ” ไป

          และกับการได้พิมพ์นามบัตรและคุยโม้กับผู้คนว่าเป็น กต.ตร.ที่นั่นที่นี่ มีอภิสิทธิ์เล็กน้อยสามารถจอดรถหน้าร้านได้ ตำรวจไม่จับ ตำรวจผู้น้อยไม่มากวนใจ บางแห่งติดตู้แดงให้

          หัวหน้าสถานีต้องการใช้เงิน สร้างหรือปรับปรุงห้องประชุม ซ่อมแอร์ ซ่อมรถ ทาสีโรงพัก ขายบัตรกอล์ฟของเจ้านาย จำหน่ายพระ ขอของขวัญวันเด็ก ปีใหม่ เลี้ยงสังสรรค์รับตำแหน่งหรือโยกย้าย เลี้ยงรุ่นนายพล และกิจกรรมการกุศลหรือระดมทุนต่างๆ อีกมากมาย

          ก็ล้วนแต่ใช้เงินจาก “กระเป๋าสตางค์ตำรวจ” ใบนี้ทั้งสิ้น!