
ธนาธิปไตยน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
ธนาธิปไตยน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย... ขุนน้ำหมึก
ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ตอนหนึ่งระบุว่า สัปดาห์หน้าจะออกจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีไทย 20 คน "ขอให้ท่านเหล่านั้นได้บอกผมว่า ในฐานะที่ท่านเป็นผู้อาวุโสของสังคม ท่านจะร่วมมือกันกับเราอย่างไร และท่านจะลงมือช่วยเหลือประเทศไทยของเรา ให้มากขึ้น ได้อย่างไรบ้าง"
อ่านข่าว... นายกฯ ดึง 20 มหาเศรษฐีเมืองไทยช่วยเหลือประเทศ
ปรากฏการณ์โซเชียลการเมือง มีการติดแฮทแท็ก #รัฐบาลขอทาน จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ และขาประจำดาหน้ากันออกมาเยาะเย้ยแนวคิดดังกล่าวมากมาย
อันที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ ถ้าจำกันได้ ปลายเดือน ธ.ค.2558 สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้นำคณะนักธุรกิจเข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องการปฏิรูปประเทศ จึงคณะกรรมการภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในเวลาต่อมา
มหาเศรษฐี 20 คนที่จะได้รับจดหมายจากนายกฯ ก็เป็นคนหน้าเดิมๆ ที่เคยเข้ามาถ่ายรูปร่วมกับนายกฯประยุทธ์ สมัยรัฐบาล คสช.
++
ทุนลื่นไหล
++
กว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว ทุนธนาคาร ทุนโรงเหล้า ทุนโรงน้ำตาล ทุนโรงสีข้าว ต่างเติบโตบนเนื้อดินเผด็จการทหาร หรือพรรคข้าราชการ ที่ทรงพลังที่สุดในการเมืองไทย
หลัง 14 ตุลา 2516 นักวิชาการไทยบอกเป็นการเปิดประตู “ทุนชาติ” เข้าสู่ถนนการเมือง แต่ผู้ก่อตั้งและผู้สนับสนุนพรรคการเมืองใหญ่ๆ ก็ยังเป็นทุนใหญ่ ผู้งอกงามจากเนื้อดินเผด็จการทหาร
ปี 2544 เลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 “ทักษิณ ชินวัตร” นักธุรกิจโทรคมนาคม ไทคูนแสนล้าน เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นนายทุนใหญ่คนแรกของเมืองไทยที่ได้เป็นผู้นำรัฐบาล
นักวิชาการสมัยนั้น จึงเรียกรัฐบาลพรรคไทยรักไทยว่า รัฐบาลของนายทุน-โดยนายทุน-เพื่อนายทุนของทักษิณ ชินวัตร แม้แต่เกษียร เตชะพีระ ยังให้คำนิยามระบอบทักษิณว่า เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิทุนจากการเลือกตั้ง (elected capitalist absolutism)
จุดเด่นของกลุ่มทุนไทยคือ ลื่นไหลไปตามสถานการณ์การเมือง ไม่ว่าระบอบประชาธิปไตย หรือระบอบเผด็จการ ทุนไทยได้แชร์อำนาจทุกครั้งไป
++
"24 เจ้าสัว" พบ "นายกฯประยุทธ์" ปี 2558
เจริญ 1
++
ในโซเชียลจะแชร์โพสต์ที่ว่า ประเทศไทยมีแต่ “เจริญ” และ “เจริญ” เพราะไม่มีใครปฏิเสธว่า 2 กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ทรงอิทธิพล ที่มีบทบาทในแทบทุกแวดวงธุรกิจคือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” และ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” เจ้าของอาณาจักรไทยเบฟ, ทีซีซีกรุ๊ป และอื่น ๆ อีกมากมาย
เวลาที่พูดถึงการเมือง เจ้าสัวเจริญกับเจ้าธนินท์ มีความต่างกัน เจ้าสัวเจริญจะไม่เล่นโฉ่งฉ่าง แต่วางผู้คนไว้ในแวดวงราชการ และมีคอนเนกชั่นกับทุกพรรคการเมืองใหญ่
ส่วนเจ้าสัวธนินท์จะเล่นเอง ลุยเอง อย่างสมัยรัฐบาลทักษิณ เจ้าสัวซีพี เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีคลัง, คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีคลัง และที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.)
++
เจริญ 2
++
"สุขภาพ-เป็นของเราเอง เงินทอง-เป็นของคนอื่น อำนาจ-เป็นเรื่องชั่วคราว ชื่อเสียง-ติดตัวเราไปตลอดกาล" คำพูดของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี
ด้วยเชื่อว่า “อำนาจเป็นเรื่องชั่วคราว” คนอย่างเจ้าสัวไทยเบฟ จึงไม่เอาตัวเองไปผูกติดกับพรรคการเมือง หรือรัฐบาลไหน
สมัยรัฐบาลทักษิณ เจ้าสัวเจริญและและครอบครัว จะไม่มีตําแหน่งเป็นรัฐมนตรีหรือที่ปรึกษารัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ แต่โดยส่วนตัวก็เคยประกอบธุรกิจกับทักษิณ
ทุกการเลือกตั้งทั่วไป กลุ่มทุนหน้าเดิมๆ จะกระจายการสนับสนุนให้พรรคการเมือง ทุกสีทุกขั้ว ไม่มีหรอก ทุนก้าวหน้าหรือทุนล้าหลัง นั่นมันเป็นวาทกรรมหลอกพวกไร้เดียงสา