เช็คชื่อจังหวัดอันตราย ยอดตายสงกรานต์ไม่ลดแม้งดสาดน้ำ
เช็คชื่อจังหวัดอันตราย ยอดตายสงกรานต์ไม่ลดแม้งดสาดน้ำ เมาแล้วขับยังเป็นสาเหตุหลัก ปีนี้จังหวัดชลบุรีแชมป์ตายมากสุด
แม้ปีนี้รัฐบาลจะประกาศไม่ให้ช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุดราชการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ภารกิจการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงวันปีใหม่ไทยก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 7 วันอันตราย ซึ่งแม้ปีนี้จะมีทั้งเคอร์ฟิว และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ก็ยังมีคนตายจากอุบัติเหตุอยู่ด้วยเหมือนกัน
อ่านข่าว 7 วันอันตรายตัวเลขลดลงเยอะมาก ตายน้อยลงมากกว่า 70%
นพ.ธนพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ส่งข้อมูลให้ "เนชั่นทีวี" เป็นสถิติอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตราย วันที่ 10-16 เม.ย.ปีนี้ เทียบกับเทศกาลสงกรานต์ปี 62 ซึ่งเก็บข้อมูลโดยกองสาธารณสุขฉุกเฉิน และระบบเฝ้าระวังบาดเจ็บฉุกเฉิน ช่วงเทศกาล
ข้อมูลที่ส่งมาสรุปง่ายๆ ได้แบบนี้
- ยอดตาย 151 ราย (ลดลง 366 ราย หรือร้อยละ 70.79)
- ผู้บาดเจ็บที่เป็นผู้ป่วยนอก คือไม่ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 9,576 ราย (ลดลงร้อยละ 68.3)
- ผู้บาดเจ็บรุนแรง ต้อง admit 1,673 ราย (ลดลงร้อยละ 66.8)
- เมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บ: 1,207 (ลดลงร้อยละ 85.63)
- ผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ จำนวน 7,768 ราย หรือ ร้อยละ 81
นอกจากนั้นยังพบว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตส่วนใหญ่ 6,170 ราย คิดเป็นร้อยละ 79.43 ไม่สวมหมวกนิรภัย
สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ยอดความสูญเสียจากอุบัติเหตุลดลง นพ.ธนพงษ์ บอกว่า เป็นเพราะรัฐบาลมีมาตรการเหมือนกันทั่วประเทศ ทั้งห้ามขายเหล้าทุกจังหวัด, ล็อกดาวน์ห้ามเดินทาง, ห้ามจัดงานรื่นเริง, ห้ามเล่นน้ำ-รวมกลุ่มตั้งวง และมีเคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้านช่วงเวลากลางคืน
แต่ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเมาแล้วขับ น่าจะใกล้เคียงกันทั้งประเทศ แต่มีหลายจังหวัดสถิติกลับไม่ลดลง หรือลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ได้แก่
- เชียงราย ตาย 10 ราย เท่ากับสงกรานต์ปี 62
- ชลบุรี ตาย 14 ราย (ตายสูงสุดในประเทศช่วงสงกรานต์ปีนี้) น้อยกว่าสงกรานต์ปี 62 จำนวน 3 ราย (ลดลงเพียงร้อยละ 17)
- ระยอง ตาย 8 ราย น้อยกว่าสงกรานต์ปี 62 จำนวน 1 ราย (ลดลงเพียงร้อยละ 11.11)
จังหวัดในกลุ่มนี้ต้องให้ "ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนจังหวัด" วิเคราะห์สาเหตุกันต่อไป
อีกเรื่องหนึ่งที่ นพ.ธนพงษ์ เน้นย้ำก็คือ ด่านโควิดซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ มุ่งเน้นแต่การตรวจไข้ และการสวมหน้ากากอนามัย แต่ปล่อยให้มีการขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย ฉะนั้นจึงเสนอให้เพิ่มการแจ้งเตือนให้ช่วยกันสวมหมวกนิรภัย หรือเน้นให้ใส่หมวกเต็มใบที่มี shield ใสๆ ป้องกัน ก็จะได้ทั้งการลดเลี่ยงโควิดและลดบาดเจ็บศีรษะจากอุบัติเหตุ