"CPTPP ดาบสองคม " แต่ไทย " เสีย " มากกว่า "ได้" ?
แรงต้านแยอะมาก กรณี "CPTPP " จ่อเข้า ครม.พรุ่งนี้ ล่าสุดมีข่าวว่าถอนออกจากวาระไปแล้ว แต่เรื่องนี้ยังคงต้องจับตามองต่อไป เผลอไม่ได้ เพราะเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ประเทศชาติหลายด้าน ในขณะที่ยังมีมุมมองต่างกันในเรื่องที่ประเทศไทยจะได้หรือเสีย
หลังจากมีแรงต้านจากหลายภาคส่วนทั้ง นักการเมือง นักวิชาการ และเอ็นจีโอ ค่อนข้างแรง
ล่าสุดมีข่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ให้ทีมงานประสานกับทีมงานคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯเพื่อถอนเรื่อง CPTPP ออกจากวาระพิจารณา ครม. วันพรุ่งนี้ ( 28 เม.ย . )
CPTPP กลายเป็นคำถามสำคัญที่อยู่ในความสนใจของสังคม หลังจากที่หลายภาคส่วนได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมอนุมัติลงนามในข้อตกลง CPTPP โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า หากรัฐบาลไทยลงนามในข้อตกลง CPTPP แล้ว จะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายด้านการเกษตร ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้เพาะปลูกได้ และจะต้องซื้อผ่านบริษัทด้านอุตสาหกรรมเกษตรเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรในภาวะเศรษฐกิจ และราคาพืชผลที่ตกต่ำ แต่ส่งผลดีต่อกลุ่มทุนยิ่งได้กำไร อีกทั้งจะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้มากขึ้นไปอีก
ก่อนอื่นมารู้จัก CPTPP กันก่อน
CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ
ความตกลงนี้ริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2006 มีชื่อเดิมว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) และมีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในตอนนั้นถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2017 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อโดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP ปัจจุบัน สมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม
ชนวนเหตุของเรื่องนี้อยู่ที่ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ความเห็นชอบที่จะนำไทยเข้าเป็นประเทศหนึ่งที่ข้อตกลง CPTPP เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยอ้างว่า จากข้อตกลงนี้ ไทยจะได้มากกว่าเสีย ก่อนที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ทำเรื่องให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าว
แต่หลังจากมีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า เรื่อง CPTPP จะเข้า ครม.ในวันพรุ่งนี้ ก็มีเสียงคัดค้านมากมายจากหลายภาคส่วน อาทิ
- นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และอดีต รมว. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาเตือนว่า ไทยเข้าร่วม CPTPP เกษตรกรถึงคราวล่มสลายแน่ และหากเกษตรกรนิ่งเฉย ไม่ทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้รัฐบาลรับรู้ ในที่สุดรัฐบาลก็จะเข้าใจว่า ทุกคนเห็นด้วยกับรัฐบาล และรีบไปเซ็นสัญญา และท้ายที่สุดอาชีพเกษตรกรล่มสลายแน่นอน
" โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชสายพันธุ์ต่างๆ เพราะจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น และอาจถูกฟ้องร้องละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จากบรรดาบริษัทข้ามชาติ นอกจากนี้ เกษตรกรที่เลี้ยงสุกร จะได้รับผลกระทบไปด้วย อาจถึงขั้นต้องเลิกเลี้ยง คนที่เป็นหนี้อาจถูกธนาคารฟ้อง และอาชีพต่อเนื่องของเกษตรกร ที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ก็จะได้รับผลกระทบด้วย นอกจากธนาคารต่างๆ ก็ต้องเตรียมรับมือกับ NPL ที่พุ่งกระฉูด หากผู้เลี้ยงสุกรต้องล่มสลาย"
- อาจารย์ยักษ์ หรือ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Wiwat Salyakamthorn คัดค้าน CPTPP เอื้อประโยชน์ บรรษัท ทำลายความมั่นคงทางอาหาร
- สุวิทย์ คุณกิตติ ประธานที่ปรึกษาพรรคกิจสังคม ก็ออกมาคัดค้านเรื่อง CPTPP เช่นกัน
ขณะที่ อลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในฐานะที่เคยทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงในด้านเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และเคยทำงานด้านการปฏิรูปประเทศสมัยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
โดยนายอลงกรณ์ ระบุว่าประเทศไทยยังไม่ควรพิจารณาการเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP ในช่วงนี้ ที่ไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติโควิด19 พร้อมฝากข้อคิด 6ประการ
1. วิกฤติโควิด19 จะเปลี่ยนโลก ทั้งระบบการค้า การบริการ และการลงทุน ที่ปรับตัวครั้งใหญ่ จึงไม่ควรเร่งรีบพิจารณาในขณะที่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง
2. การปฏิรูประบบเศรษฐกิจประเทศ ไทยต้องลดการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างชาติ โดยปรับลดสัดส่วนการพึ่งพารายได้จากการส่งออกจาก 70% เป็น 50% ของGDP ดังนั้นการคิดใช้ซูเปอร์ FTA ขยายการส่งออกและการลงทุน จึงเป็นการเดินหลงทางผิดทิศหรือไม่ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงต้องยึดเป้าหมายยึดหลักให้มั่นคงการปฏิรูปจึงจะเกิดขึ้นจริง
3. ศึกษารอบด้านหรือยัง CPTPP เป็นรูปแบบซูเปอร์ FTA ที่ต้องเปิดเสรีเพิ่มขึ้นกว่าทุก FTA ที่ประเทศของเราเคยทำทั้งภาคการค้า การบริการและการลงทุน จึงต้องศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน
4. ผลกระทบเมล็ดพันธุ์และยา ข้อกังวลประเด็นยาและเมล็ดพันธุ์ใหม่รวมทั้ง GMO เป็นประเด็นกระทบคนยากจนและเกษตรกรรวมทั้งผู้บริโภคจึงควรให้น้ำหนักในการเปิดกว้างรับฟังและวิเคราะห์ผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวตลอดจนการป้องกันการผูกขาดของบริษัทขายเมล็ดพันธุ์ทั้งบริษัทในประเทศไทยและในต่างประเทศ
5. ศึกษา UPOV ตกผลึกแล้วหรือ? การวิเคราะห์เชิงโอกาสและปัญหากรณี UPOV ยังไม่สมบูรณ์และเป็นประเด็นสำคัญต่ออนาคตของไทยในฐานะประเทศผู้เป็นแหล่งผลิตเกษตรและอาหารของโลก (UPOV-The International Union for the Protection of New Varieties of Plants อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่)
6. CPTPP เป็นทางเลือกสุดท้ายหรือ? การประเมินความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้จากการเข้าร่ว CPTPP หลังจากอเมริกาถอนตัวCPTPP มีสมาชิก11ประเทศได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ในจำนวนนี้ 9 ประเทศทำ FTA กับประเทศไทยอยู่แล้ว เราสามารถเจรจาขยับขยายความร่วมมือภาคการค้า การบริการและการลงทุนใน FTA เดิม จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าหรือไม่
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีสาธารณสุข ให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือชี้แจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากไทย ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ CPTPP โดยกระทรวงสาธารณสุข ย้ำชัดไม่สนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP เนื่องจากเกรงมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาในประเทศและการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสมุนไพรในประเทศ
ทั้งนี้นายอนุทิน กล่าวในที่ประชุมผู้บริหารกระทรวง ระบุว่าการจะแลกมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการขยายตัวทางการค้า การส่งออก กับความมั่นคงของระบบสาธารณสุขไทย เป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่า และไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่า การเข้าร่วมในข้อตกลง CPTPP ประเทศไทย จะได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์
อีกทั้งขณะนี้มีเพียง 11 ประเทศ เท่านั้นที่เป็นสมาชิก และ ส่วนใหญ่ ไม่ใช่เป็นประเทศที่เป็นตลาดส่งออก ที่สำคัญประกอบกับ มิติการค้าระหว่างประเทศ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจากระบาดของ "โควิด-19"
แต่ในอีกมุมหนึ่ง CPTPP ก็มีข้อดี "ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว "
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เคยนำเสนอผลการศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์สรุปว่า การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว โดย GDP จะขยายตัว 0.12% (คิดเป็นมูลค่า 13.32 พันล้านบาท) การลงทุนขยายตัว 5.14% (คิดเป็นมูลค่า 148.24 พันล้านบาท)
แต่หากไม่เข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบ GDP ไทยลดลง 0.25% (คิดเป็นมูลค่า 26.6 พันล้านบาท) และกระทบการลงทุน 0.49% (คิดเป็นมูลค่า 14,270 ล้านบาท)
รวมทั้งจะทำให้ไทยเสียโอกาสขยายการค้าการลงทุนและการเชื่อมโยงห่วงโซ่หรือกระบวนการผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน อาเซียน เช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสมาชิก CPTPP แล้ว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังระบุว่า ตั้งแต่ที่ความตกลง CPTPP มีข้อสรุปได้ในปีระหว่างปี 2558-2562 การส่งออกของเวียดนามไปประเทศสมาชิก CPTPP เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.85% และของสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.92% ขณะที่การส่งออกของไทยไป CPTPP เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 3.23% ส่วนเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้า (FDI Inflow) ของเวียดนาม และสิงคโปร์ ในปี 62 มีมูลค่า 16,940 และ 63,939 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ขณะที่ของไทยมีมูลค่าเพียง 9,010 ล้านเหรียญสหรัฐ
เมื่อพิจารณาการค้ารวมระหว่างไทยกับสมาชิก CPTPP ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสมาชิก CPTPP มาโดยตลอด ในปี 62 ไทยได้เปรียบดุลการค้า ที่ 9,605.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และไตรมาส แรกปี 2563 ได้เปรียบดุลการค้า 3,934 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงถือว่า CPTPP เป็นตลาดที่ไทยมีความพร้อมในการแข่งขัน
ผลการศึกษายังชี้ว่า กลุ่มสินค้าที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดสมาชิก CPTPP เช่น ญี่ปุ่น (เนื้อไก่แปรรูป เนื้อสุกรแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง ข้าว น้ำตาล), แคนาดา (อาหารทะเลปรุงแต่ง ข้าว ผลไม้ปรุงแต่ง ยางพารา ยางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องทำความร้อน), เม็กซิโก/เปรู/ชิลี (ข้าว น้ำตาล เนื้อไก่สด ตู้เย็น รถยนต์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์โทรศัพท์ เครื่องซักผ้า ยางรถยนต์เครื่องแต่งกาย เครื่องปรับอากาศ)
สำหรับสาขาบริการและการลงทุน กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์ เช่น สาธารณสุข ก่อสร้าง ท่องเที่ยว ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ไทยต้องเตรียมปรับตัว จะเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตน้อยกว่าประเทศสมาชิก CPTPP เช่น สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สินค้าต้นทุนต่ำ แต่ก็จะมีเวลาในการปรับตัวเช่นเดียวกับสมาชิกอื่นๆ ที่ขอเวลาปรับตัวสูงถึง 21 ปี ซึ่งเป็นโอกาสของไทยที่จะต้องเร่งพัฒนาปรับโครงสร้างการผลิตและให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม และอาจนำเข้าวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตที่จะเป็นประโยชน์ต่อต้นทุนการผลิตของไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เคยสรุปว่า ประเทศไทยได้หรือเสียอะไรหากเข้าร่วม CPTPP
ข้อดี
1. ด้านการส่งออก : เพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิก CPTPP โดยเฉพาแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย
2. ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ : ดึงดูดการลงทุนที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิก
3. ด้านแรงงาน และสิ่งแวดล้อม : การปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศ เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน การอนุรักษ์ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ CPTPP จะเป็นผลบวกกับไทยในระยะยาว
ข้อเสีย
1. ด้านทรัพย์สินทางปัญญา : เกษตรกรไทยอาจต้องเผชิญกับต้นทุนการเกษตรที่สูงขึ้นจากอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) ที่จะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืชจากบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ที่ได้ลิขสิทธิ์ในพันธุ์พืชนั้นๆ
2. ด้านธุรกิจบริการ : เงื่อนไขการเจรจาแบบ Negative list คือ ประเทศสมาชิกสามารถระบุหมวดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องการเปิดเสรีได้ ส่วนหมวดธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขจะต้องเปิดเสรีต่อนักลงทุนต่างชาติ จึงอาจมีแรงกดดันให้ไทยต้องเปิดตลาดบริการมากขึ้น
3. ด้านการลงทุน : เปิดโอกาสทางการแข่งขันให้นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ไทยต้องเตรียมรับมือกับการรุกตลาดของต่างชาติ และนักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องรัฐบาลไทยผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการได้
CPTPP จึงเป็น " ดาบสองคม " แต่สำหรับประเทศไทยคงไม่อยากเสี่ยง เพราะคิดสะระตะแล้วเห็นว่า ไทยน่าจะ" เสีย" มากกว่า "ได้"