ส่องอดีต ลพบุรีลายพราง กลางศึก"หมวกแดง"
ส่องอดีต ลพบุรีลายพราง กลางศึก"หมวกแดง" คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย... ขุนน้ำหมึก
++
กว่าครึ่งศตวรรษ ทหารกับการเมืองไทยยังเป็นเรื่องเล่าขานไม่จบสิ้น การจากไปของ "พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์" เป็นกรณีศึกษา "นักเลือกตั้งลายพราง" อย่างน่าสนใจยิ่ง
ลพบุรีเป็นเมืองทหาร เป็นที่ตั้งของทหารบกหลายหน่วย ทั้งเหล่าราบ ปืนใหญ่ สรรพาวุธ แพทย์ มีทั้งกองบินของทหารบกและทหารอากาศ
ว่ากันว่า จ.ลพบุรี น่าจะมีค่ายทหารมากที่สุดของประเทศไทย หมายถึงค่ายทหารที่เป็นทางการ ได้แก่ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ), ค่ายวชิราลงกรณ์(พลร่มป่าหวาย), ค่ายสมเด็จพระศรีนครินทรา(ศูนย์การบินทหารบก),ค่ายภูมิพล(ศูนย์การทหารปืนใหญ่),ค่ายสิริกิติ์(กองพลทหารปืนใหญ่) และค่ายจิรวิชิตสงคราม(กองบัญชาการศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ)
ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. เสียงจากค่ายทหารเหล่านี้ เป็นตัวชี้ขาดชัยชนะของนักเลือกตั้ง สำหรับเขตเลือกตั้งที่ 1 อ.เมืองลพบุรี
"พล.อ.เทียนชัย" สมัยเป็น ผบ.พลร่มป่าหวาย
การเลือกตั้งทั่วไป 27 ก.ค.2529 สนามลพบุรี โดยเฉพาะเขต 1 (อ.เมืองลพบุรี, อ.ท่าวุ้ง, อ.บ้านหมี่ และอ.พัฒนานิคม) ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองการทหาร เมื่อนายทหารใหญ่สายหมวกแดง ต้องมาต่อสู้กัน ต่างฝ่ายต่างมีฐานเสียงอยู่ในค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
++
เจ้าพ่อป่าหวาย
++
ปลายปี 2528 พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ เกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก ย่างเข้าปี 2529 พล.อ.เทียนชัย เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคราษฎร โดยมี พล.อ.มานะ รัตนโกเศศ เป็นเลขาธิการพรรค
เล่ากันว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีสมัยโน้น กระซิบให้ พล.อ.เทียนชัย ลงเล่นการเมือง เพื่อจะได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี
พรรคราษฎร เปลี่ยนชื่อมาจากพรรคสหชาติ และเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้แทนฯว่า พรรคราษฎรคือพรรคทหาร ที่ตั้งขึ้นมาสนับสนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย
พลันปี่กลองการเมืองดัง พล.อ.เทียนชัยก็หิ้วกระเป๋ากลับถิ่นเก่า เตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 1 ลพบุรี
"พล.อ.เทียนชัย" สมัยเป็น ส.ส.ลพบุรี
เหตุผลที่ พล.อ.เทียนชัย เลือกสนามลพบุรี เพราะเขาเป็นผู้บังคับกองพันทหารพลร่ม หรือ “พลร่มป่าหวาย” คนแรกในปี 2497 และเป็นผู้บัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ (ศสพ.) คนแรกเมื่อปี 2509 จึงได้ฉายา “เจ้าพ่อป่าหวาย”
หลังปี 2516 พล.อ.เทียนชัยออกจากลพบุรี ไปรับราชการในกรุงเทพฯ ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และได้เข้าร่วม “กลุ่มดุสิต 99” ที่มีท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย สมาชิก สนช. เป็นหัวเรือใหญ่
การห่างเหินไปจากลพบุรีนานหลายสิบปี อาจเป็นจุดอ่อนของ พล.อ.เทียนชัย แต่การเป็นหัวหน้าพรรคราษฎร ก็จะแพ้เลือกตั้งไม่ได้ จึงมีการขนกระสุนดินดำมาจากเมืองหลวงหลายคันรถ
แถมมี “บิ๊กจ๊อด” พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผบ.นศส.ในเวลานั้น ได้รับคำสั่งลับจากส่วนกลางให้ช่วยเจ้าพ่อป่าหวาย ตามคำขวัญ "พลังเงียบ เฉียบขาด แพ้ไม่ได้"
++
เจ้าพ่อหมวกแดง
++
ปี 2526 มีการยกฐานะศูนย์สงครามพิเศษ เป็น “หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษสงครามพิเศษ” (นสศ.) เทียบเท่ากองทัพภาคที่ 5 โดยผู้บัญชาการ นสศ.คนแรกคือ "พล.ท.เอนก บุนยถี"
ปลายปี 2527 พล.ท.เอนก เกษียณอายุราชการในตำแห่ง ผบ.นสศ. และเมื่อพ้นจากตำแหน่ง “เจ้าพ่อหมวกแดง” พล.ท.เอนก ก็เตรียมการลงสมัคร ส.ส.เช่นกัน
แรกทีเดียว พล.ท.เอนก ต้องการสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แต่ติดขัดตรงที่สาขาพรรค ปชป.ในพื้นที่ไม่รับอดีตนายทหารเข้าพรรค “เจ้าพ่อหมวกแดง” จึงไปสังกัดพรรคชาติไทย
"พล.ท.เอนก บุณยถี" ส.ส.ลพบุรี พรรคชาติไทย
แม่ทัพพรรคชาติไทย ลพบุรี คือ "กมล จิระพันธุ์วานิช" อดีต สจ.ลพบุรี และนักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ได้เป็น ส.ส.มาแล้วสมัยหนึ่ง
การเลือกตั้งปี 2529 เป็นระบบเลือกตั้งพวงใหญ่ เขตหนึ่งเลือกได้ 3 คน แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.มักจะทิ้งโดดคือ หาเสียงใครหาเสียงมัน
เสี่ยกมลได้เปรียบมีหัวคะแนนเยอะ ก็แยกไปหาเสียงตามลำพัง พล.ท.เอนก มีลูกน้องในค่ายสมเด็จพระนารายณ์ฯ เยอะ แต่ไม่ประสีประสาการเมือง จึงอาศัยลูกน้องบางคนไปขอให้ “ผู้มีบารมี” ในท้องถิ่นมาช่วยยิงกระสุนดินดำ
ผลการเลือกตั้ง พล.อ.เทียนชัย เข้าป้ายที่ 1 ตามมาด้วยเสี่ยกมล และ พล.ท.เอนก เข้าป้ายที่ 3
++
คุมพรรคไม่ง่าย
++
พล.อ.เทียนชัยได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลเปรม จนถึงเลือกตั้งปี 2531 เจ้าพ่อป่าหวายได้เป็น ส.ส.ลพบุรีอีกสมัย แต่คะแนนเที่ยวหลังลดไปเยอะ แต่ได้เข้าร่วมรัฐบาลชาติชาย
ปี 2533 พล.อ.เทียนชัย วางมือ ส่งไม้ให้ พล.อ.มานะ รัตนโกเศศ เป็นหัวหน้าพรรคราษฎรแทน ตอนหลัง เจ้าพ่อป่าหวายเปิดใจกับนักข่าวว่า ตนปกครองทหารนับแสนคน ไม่หนักใจเท่ากับเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง มี ส.ส.แค่สิบ ต้องคอยเอาอกเอาใจสารพัด เดี๋ยวลูกพรรคอยากได้โน่นได้นี่ อยากเป็นโน่นเป็นนี่ เหมือนกับพวกเขาเป็นเจ้านายเรา อยู่บ้านเลี้ยงหลานสบายใจกว่าเยอะ
ส่วน พล.ท.เอนก ก็เป็น ส.ส.สมัยที่ 2 พร้อม พล.อ.เทียนชัย แต่เป็นแค่ ส.ส. ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี จึงถอดใจวางมือ เพราะกระสุนเกลี้ยงคลังแสงแล้ว
บทเรียนทหารกับการเมือง ก็มักจะจบลงแบบนี้ แต่ “นักเลือกตั้งลายพราง” ก็ไม่เคยหายไปจากสมรภูมิการเมืองไทย