สสอท.เข็น7มาตรการอุ้มสถาบันอุดมฯเอกชนฝ่าวิกฤตโควิด-19
"ดร.พรชัย มงคลวนิช" นายกฯสสอท. เผย เข็น7มาตรการอุ้ม 64 สถาบันอุดมศึกษาเอกชนทั่วประเทศ ครอบคลุมคณาจารย์ ผู้ปกครอง และนักศึกษาร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19 ระบุมีทั้งลดค่าเทอม คืนเงินค่าธรรมเนียม จ้างบัณฑิตทำงาน ผุดตลาดออนไลน์รองรับธุรกิจศิษย์เก่า
ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และประธานคณะกรรมการที่ประชุมอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เปิดเผย ถึงมาตรการช่วยเหลือ และเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 ดังนี้
อ่านข่าว : นักวิชาการนิด้า คาดการณ์หลังโควิด-19 อาจารย์ถูกเลิกจ้าง 40-50%
ด้วยความตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ๖๔ สถาบัน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัย ๔๑ แห่ง วิทยาลัย ๑๗ แห่ง สถาบัน ๖ สถาบัน มีมาตรการในการช่วยเหลือ และเยียวยาผลกระทบ จากการสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ที่มีต่อ คณาจารย์ ผู้ปกครอง และนักศึกษา ของทุกสถาบัน จึงมีมาตรการเยียวยา ผลกระทบดังกล่าว ดังนี้
๑) การจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบทั้งในระยะสั้น และ ระยะยาว โดยเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
๒) จัดการเรียนการสอน ออนไลน์ โดยมีการจัดหาซอฟแวร์ที่ทันสมัย รวมทั้งดำเนินการจัด สหกิจศึกษาออนไลน์ และดูแลนักศึกษาให้สามารถสำเร็จการศึกษาได้ทันเวลา
๓) การผ่อนผันระยะเวลาการจ่ายค่าเล่าเรียน และการแบ่งชำระค่าเล่าเรียนเป็นรายเดือน รวมทั้งพิจารณางดเก็บ หรือ คืนเงิน ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียม ในบางรายการ
ดร.พรชัย มงคลวนิช นายกสสอท.
๔)ช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล และการประกันสุขภาพ ในกรณีนักศึกษา และบุคลากร ติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19)
๕)การช่วยเหลือชุมชนและสังคม โดยการเตรียมความพร้อมในการใช้สถานที่ เพื่อจัดเป็นโรงพยาบาลสนาม และ สถานที่กักกัน การจัดตั้งกลุ่มจิตอาสาในการผลิตแอลกอฮอล์เจล และหน้ากากอนามัย เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปที่เดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึง ทำการสำรวจ และวิจัย ร่วมกับองค์กรทั้งภายใน และระหว่างประเทศเพื่อเป็นข้อมูลทางวิชาการต่อไป
๖) ได้ประสานกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา และ สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และ นวัตกรรม ในการพยายามขจัดข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อเอื้อโอกาสให้นักศึกษาได้มีสิทธิในการกู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้มากขึ้น
๗) การว่าจ้างบัณฑิต และนักศึกษาทำงานในสถาบันให้มีรายได้เพื่อใช้ในการศึกษา และการดำรงชีวิต การจัดตั้งตลาดออนไลน์ ให้แก่ศิษย์เก่าที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจให้มีรายได้จากการประกอบธุรกิจดีขึ้น อาทิ ตลาดสยามมาร์เก็ตเพลส
"ถึงแม้ว่าสถาบันอุดมศึกษาเอกชนทุกแห่งจะเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เราตระหนักดีว่า ภารกิจในการจัดการศึกษาเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการ โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง" ดร.พรชัยกล่าว
ดร.พรชัย กล่าวอีกว่า ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาเอกชนทุกแห่งจึงถือเป็นหน้าที่ และความรับผิดชอบ ในการร่วมกับประชาชนไทยในการต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อก้าวข้ามปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ด้วยความสุขุมรอบคอบ รวมถึงให้การสนับสนุน เยียวยา ช่วยบรรเทาปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ให้แก่เยาวชน และสังคม
"ทั้งนี้ ด้วยความภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันก้าวข้ามอุปสรรคที่ท้าทายในวันนี้ ร่วมกับภาคส่วนต่างๆในสังคมต่อไป" นายกฯสสอท. กล่าว ในที่สุด
0กมลทิพย์ ใบเงิน0 เรียบเรียง