2 หมอชินวัตร ในสมรภูมิโควิด
2 หมอชินวัตร ในสมรภูมิโควิด รายงาน...
++
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เห็นการเคลื่อนไหวของ “หมอเก่า” หลายคน ทั้งหมอในวิชาชีพ และหมอการเมือง
อ่านข่าว... ข้อเสนอจาก "หมอเลี้ยบ" เปิดเมือง
เอ่ยชื่อ “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช คอการเมืองต้องจำได้ สมัยทักษิณ ชินวัตร เรืองรุ่ง และพรรคไทยรักไทยรุ่งโรจน์ “หมอมิ้ง” เปรียบคลังสมองของวงในเครือข่ายชินวัตร
พ.ศ.นี้ หมอมิ้ง เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ มหาวิทยาลัยชินวัตร และอุปนายกสภา มหาวิทยาลัยชินวัตร
หมอมิ้งวางมือจากการเมืองแล้ว แต่ก็ยังเป็นกองเชียร์พรรคเพื่อไทย รวมถึงสนับสนุนชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถ้าติดตามในแฟนเพจ Prommin Lertsuridej จะเห็นบทบาทคนวงนอก ที่ยังสนใจการเมืองอยู่
นับแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของโลกและของไทย หมอมิ้งได้โพสต์เฟซบุ๊หถี่ขึ้น ในฐานะประชาชนไทยและในฐานะแพทย์วัยเกษียณ เขาพยายามเตือนสติฝ่ายการเมือง "รัฐบาลอย่าล้าหลังประชาชน อย่าล้าหลังสถานการณ์"
แต่นับวันผมและประชาชนเริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นรัฐบาลในฐานะผู้นำประชาชนให้พ้นวิกฤตได้
รัฐบาลอย่าล้าหลังประชาชน อย่าล้าหลังสถานการณ์
ต้นเดือน เม.ย.2563 หมอมิ้ง ได้เขียนเรื่อง "รัฐบาลอย่าตระหนก เกินตระหนัก ระวังเกาไม่ถูกที่คัน“ อดีตคนการเมืองคู่ใจทักษิณ บอกว่า ”การ shut down เท่ากับหยุดการผลิต หยุดการทำมาหากิน หยุดเศรษฐกิจ ฉะนั้นการหยุดจึงต้องสั้นเท่าที่จำเป็น เพื่อดำเนินการควบคุมโรค.."
น้ำเสียงของหมอมิ้งต่อการแก้ไขสถานการณ์โควิด ก็ไปในโทนเดียวกับนักการเมืองพรรคเพื่อไทย เพียงแต่หมอมิ้งมีวุฒิภาวะ และไม่ใช่นักการเมืองฮาร์ดคอร์ จึงเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์ และไม่เหน็บแนมแกมประชด
+++
หมอการเมืองสายชินวัตรอีกราย แต่เป็นรุ่นน้องของหมอมิ้งคือ “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เคยร่วมกับหมอมิ้งผลักดันนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค สมัยรัฐบาลไทยรักไทย
ทุกวันนี้ “หมอเลี้ยบ” เป็นพิธีกรรายการ “สุมหัวคิด” ทางช่องวอยซ์ ทีวี และเป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) ให้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข
หมอเลี้ยบเป็นคนหนึ่งที่ยังเคลื่อนไหวทางการเมือง ในบทบาทสื่อมวลชน โดยเริ่มจัดรายการทีวีทางช่องพีซทีวีของจตุพร พรหมพันธุ์ ก่อนจะย้ายมาช่องวอยซ์ ทีวี ของพานทองแท้ ชินวัตร
เนื่องจากหมอเลี้ยบ เป็นที่ปรึกษาของ “หมอหนู” จึงได้ร่วมแสดงความเห็นผ่านกระทรวงสาธารณสุข และเสนอไปยัง ศบค.
อย่างเช่นเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2563 หมอเลี้ยบเขียนบทความเรื่อง "ปิดเมืองคือ ยาแรง..ถึงเวลาหยุดให้ยา" เพราะหมอเลี้ยบมองว่า ไทยคุมการระบาดได้ดีแล้ว ต้องเปิดเมือง เพื่อให้เศรษฐกิจเดินได้
สรุปแล้ว ความคิดของ “หมอมิ้ง” และ “หมอเลี้ยบ” ไม่เห็นด้วยกับแนวคิด “การเมืองนำการหมอ” หรือขยาย พรก.ฉุกเฉินออกไป 1 เดือน ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หมอมิ้งอยู่วงนอกก็คงไม่เจอแรงกระแทกเท่าไหร่ แต่หมอเลี้ยบเข้ามาอยู่วงในซีกพรรคภูมิใจไทย คงต้องเล่นให้เป็น ไม่ให้กระทบหมอหนูมากนัก