"วันเฉลิม" ไม่ใช่เป้าหมาย เปิด 10 กลุ่มเคลื่อนไหวถูกฝ่ายมั่นคงจับตา
แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคง เผยข้อมูล กลุ่มที่เคลื่อนไหว ต่างประเทศ หวังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ต้องจับตาดู แต่วันเฉลิม ไม่ใช่เป้าหมาย
มีรายงานเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายความมั่นคงว่า นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีการอ้างข้อมูลว่าถูกอุ้มหายกลางกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และมีการกล่าวหาทำนองว่าเป็นปฏิบัติการ "อุ้มข้ามชาติ" นั้น จริงๆ แล้ว นายวันเฉลิม ไม่เคยอยู่ในเป้าหมายการเฝ้าสังเกตการณ์ของฝ่ายความมั่นคงเลยด้วยซ้ำ
แหล่งข่าวระดับสูง ระบุว่า แนวทางการปฏิบัติของฝ่ายความมั่นคง จะเพ่งเล็งเฉพาะกลุ่มที่นิยมแนวทางใช้ความรุนแรง หรือปลุกระดมให้ต่อต้านสถาบันอย่างรุนแรงในระดับล้มระบอบการปกครองเท่านั้น เช่น กลุ่มสหพันธรัฐไท ที่มีแผนใช้กองกำลังติดอาวุธก่อเหตุรุนแรง ซึ่งสาเหตุที่ต้องจับตา เพราะเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมายอาญาไทย
สำหรับวิธีปฏิบัติที่ผ่านมา รัฐบาลทุกชุดและหน่วยงานที่รับผิดชอบจะใช้การประสานกับรัฐบาลของประเทศที่กลุ่มคนเหล่านี้พำนักอยู่ ให้ช่วยเจรจาให้หยุดการเคลื่อนไหว แต่น้อยครั้งที่จะได้รับความร่วมมือ (ขนาดขอให้ช่วยเจรจายังยาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะส่งทีมเข้าไปอุ้มหาย อุ้มฆ่า)
อย่างกรณีกัมพูชา แม้ระยะหลัง สมเด็จฮุนเซ็น จะมีท่าทีดีขึ้นกับรัฐบาลไทย แต่ความสัมพันธ์โดยส่วนตัวก็ยังใกล้ชิดกับกลุ่มอำนาจเก่า เป็นเพื่อนกับ นายทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่กัมพูชาจะใช้มาตรการรุนแรงกับกลุ่มเห็นต่างทางการเมืองที่หลบหนีไปพำนัก และยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะยอมให้ไทยส่งกำลังเข้าไปจัดการกับบุคคลเป้าหมายในกัมพูชา
ส่วนกรณีของ นายวันเฉลิม จากข้อมูลเท่าที่ฝ่ายความมั่นคงตรวจสอบได้หลังมีข่าวสร้างกระแสถูกอุ้ม พบว่านายวันเฉลิมไม่ใช่บุคคลอันตราย ข้อกล่าวหาที่โดนดำเนินคดีก็ไม่ใช่ข้อหาหนักอะไรมากมาย หากเดินทางกลับมามอบตัวกับตำรวจก็เชื่อว่าจะได้รับการประกันตัวด้วยซ้ำ
ฉะนั้นหากกลุ่มที่อ้างว่านายวันเฉลิมถูกอุ้ม มีข้อมูลมากกว่านี้ ก็ควรเปิดเผยออกมา เพื่อที่หลายฝ่ายจะได้ช่วยพิจารณาว่าเป็นการอุ้มตัวจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่การสร้างสถานการณ์จัดฉากปลุกกระแสให้สอดคล้องกับการประท้วงในสหรัฐและยุโรป เพราะระยะหลังเริ่มมีการย้อนไปถึงคดีอุ้มหายอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางการเมืองด้วย เพื่อหวังขยายประเด็นไปถึงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน คล้ายๆ กับที่มีการประท้วงในสหรัฐและยุโรปต่อต้านการเหยียดผิว ที่ลุกลามจากการปะท้วงขอความเป็นธรรมให้ "จอร์จ ฟลอยด์"
สำหรับกลุ่มที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศและถูกจับตาหรือเพ่งเล็งจากฝ่ายความมั่นคง มีราวๆ 10 กลุ่ม ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวพาดพิงสถาบันเบื้องสูง หรือปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรงเพื่อล้มระบอบ ได้แก่
1. กลุ่ม นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันพำนักในฝรั่งเศส เพิ่งหายจากอาการป่วย จึงกลับมาโพสต์ข้อมูลอีกรอบ
2. นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เป็นการเคลื่อนไหวในนามนักวิชาการ พำนักในเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น มุ่งโพสต์ข้อความโจมตีรัฐบาล กลุ่มที่เห็นต่างทางการเมือง และอดีตพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงมีบางข้อความพาดพิงสถาบัน
3. นายแอนดรูว์ แมกเกรเกอร์ มาร์แชล อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ ปัจจุบันพำนักอยู่ในสหราชอาณาจักร มักโพสต์ข้อมูลหมิ่นสถาบันและโจมตีรัฐบาลทหาร
4. กลุ่มคนการเมืองหรือเคยเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทย เช่น นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายจอม เพชรประดับ อดีตผู้ประกาศข่าวและพิธีกรรายการข่าวชื่อดัง, นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กลุ่มนี้พำนักในสหรัฐอเมริกาและยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศส
5. กลุ่ม PixelHELPER ในเยอรมนี มีชาวไทยและต่างชาติอยู่เบื้องหลัง มุ่งโจมตีสถาบันฯ
6. เพจเฟซบุ๊ก KonthaiUK เป็นเพจปกปิดตัวตน มีผู้ติดตามราว 1 ล้านคน
7. กลุ่มองค์การสหพันธรัฐไท มุ่งรณรงค์เปลี่ยนแปลงการปกครอง โค่นล้มระบอบ มีการจัดรายการทางช่อง YouTube ชูแนวคิดสหพันธรัฐ แม้ "ลุงสนามหลวง" ยุติบทบาทไปแล้ว
8. กลุ่มวงดนตรีไฟเย็น พำนักอยู่ในฝรั่งเศส จัดรายการทางเฟซบุ๊กไลฟ์ และ YouTube มุ่งโค่นล้มระบอบเช่นกัน
9. ป้าหนิง ดีเค พำนักที่ที่เยอรมนี จัดรายการทางเฟซบุ๊กไลฟ์ และ YouTube พาดพิงสถาบันฯ
และ 10. กลุ่มนางจรรยา ยิ้มประเสริฐ พำนักในยุโรป เคลื่อนไหวเชื่อมประสานกับหลายๆ กลุ่ม
นอกจากนั้นยังมีกลุ่มที่เคยเคลื่อนไหวในแนวทางใช้ความรุนแรง แต่ปัจจุบันยุติบทบาทลงไปแล้ว เช่น กลุ่มของ "โกตี๋" หรือ นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ อดีตแกนนำแดงฮาร์ดคอร์ ด้วย
กองบรรณาธิการข่าวการเมือง เนชั่นทีวี