คอลัมนิสต์

มหาชนภาค 2 พรรค"เหล่าธรรมทัศน์"

มหาชนภาค 2 พรรค"เหล่าธรรมทัศน์"

25 มิ.ย. 2563

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รีเทิร์นพรรค รปช. เหมือนท้าพิสูจน์ความฝัน "มหาชน 2" อีกด้านหนึ่ง พรรคนี้ตระกูล "เหล่าธรรมทัศน์" ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย... ขุนน้ำหมึก

++
เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายใน “พรรคลุงกำนัน” เริ่มจาก ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลาออกจากหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.)


ตามมาด้วย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้ขอลาออกจากสมาชิกพรรค เพื่อไปจัดตั้งกลุ่มการเมืองใหม่

 

อ่านข่าว...   รปช. แถลง ส่ง ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นั่ง รมว.แรงงานแทน หม่อมเต่า
 


ทั้งสองกรณีล้วนเป็นการจากกันด้วยดี ไม่มีปัญหาคาใจใดๆกับ “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ และหากใครศึกษาเส้นทางการก่อเกิดของพรรค รปช. จะเข้าใจดีว่า มันต้องมีวันนี้อย่างมิต้องสงสัย

 

มหาชนภาค 2 พรรค\"เหล่าธรรมทัศน์\"

"เขตรัฐ" ลูกชาย และ "พลัม" หลานของ "เอนก"

 

 

++
พรรคสองนครา
++
ปี 2561 พลันที่มีข่าว “ลุงกำนัน” ตั้งพรรคการเมือง และมีชื่อ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการ “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” หลายคนก็เชื่อว่า หัวหน้าพรรคต้องชื่อเอนก


“พรรคนี้ยืนยันไม่ใช่พรรคของคุณสุเทพ ไม่ใช่พรรคของ กปปส.”


ในคราวนั้น เอนกอธิบายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวและย้ำชัดว่าพรรคที่จะก่อเกิดใหม่ในสองสามวันนี้เป็น “พรรคมวลชน” ไม่ใช่พรรคนายทุน

 

อ่านความคิดของเจ้าทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยอันโด่งดัง ทำให้นึกถึง “พรรคมหาชน” บนสังเวียนเลือกตั้งปี 2547-2548

 

ว่ากันตามจริง กำเนิดพรรคมหาชนก็คงไม่ต่างจาก “พรรคการเมืองสองนครา” เพราะกลุ่มหนึ่งเป็นนักการเมืองอาชีพรุ่นเก่า อีกกลุ่มหนึ่งเป็นนักวิชาการ(ต้านระบอบทักษิณ)และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

 

 

มหาชนภาค 2 พรรค\"เหล่าธรรมทัศน์\"

"พลัม" ลูกสาว "เจริญ เหล่าธรรมทัศน์"

 

ผลการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2548 พรรคมหาชนได้รับเลือกเพียง 2 ที่นั่ง และพรรคได้คะแนนเสียงระบบบัญชีรายชื่อไม่ถึง 5% ทำให้เอนก และ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ไม่ได้เป็น ส.ส.


หลายคนคิดว่า อาจารย์เอนกคงเข็ดการเมืองแล้ว แต่เปล่าเลย..เขายังเดินหน้าต่อ เหมือนอยากพิสูจน์ทฤษฎีพรรคสองนครา

 



++
พรรคเหล่าธรรมทัศน์
++
หลังเลือกตั้ง 24 มิ.ย.2563 อาจารย์เอนกก็รู้สึกช็อก มิต่างจากปี 2548 เมื่อพรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้ ส.ส.เขต 1 ที่นั่ง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4 ที่นั่ง คือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล,เพชรชมพู กิจบูรณะ,เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ และอนุสรี ทับสุวรรณ 

 

อาจารย์เอนก และ สุริยะใส กตะศิลา สอบตก ซึ่งยังโชคดีที่ “เขตรัฐ” ลูกชายเอนกอยู่ในลำดับที่ 3 จึงสอบได้


เมื่อเดือน ส.ค.2562 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นรัฐมนตรีแรงงานนั้น จึงได้ขอลาออกจาก ส.ส. สภาผู้แทนราษฎร ได้ประกาศรายชื่อ ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง คนสนิทลุงกำนัน บัญชีรายชื่อลำดับที่ 5 ขึ้นเป็น ส.ส.แทน แต่ทวีศักดิ์ มีปัญหาด้านสุขภาพ จึงได้ยื่นขอลาออกจาก ส.ส. จึงทำให้ผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับถัดไปคือ จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ เป็น ส.ส.

 

 

มหาชนภาค 2 พรรค\"เหล่าธรรมทัศน์\"

"เอนก" รีเทิร์นการเมือง


สำหรับ จุฑาทัตต เหล่าธรรมทัศน์ หรือ “พลัม” เป็นลูกสาวของ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และประธานกรรมการ บริษัท อุทัยโปรดิวส์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกข้าวหอมมะลิรายใหญ่


ร.ต.ท.เจริญ  ก็เป็นพี่ชายของเอนก โดยส่วนตัวแล้ว นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปท.) มีความสัมพันธ์มายาวนาน


ตอนที่ลุงกำนัน ได้ระดมทุนก่อสร้างวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ เกาะสมุย “เจริญ” ในนามสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้บริจาคเงินสร้างหอประชุม “ขวัญข้าว” มูลค่า 23 ล้านบาท


ต้นปี 2560 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในสุราษฏร์ธานี ลุงกำนัน ได้นำคณะลงพื้นที่มอบถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัย “พลัม” จุฑาทัตต ก็ไปมอบข้าวสารช่วยเหลือผู้ที่ประสบอุทกภัยในครั้งนั้นด้วย


จึงอย่าได้แปลกใจ หากคนจะวิจารณ์ว่า พรรค รปช.คือ พรรคของตระกูลเหล่าธรรมทัศน์