เปิดเรียนสนามจริง ยิ่งกว่าวุ่นวาย
เจาะประเด็นร้อน : ซักซ้อมกันมานาน หลังเด็กถูกกักตัวอยู่บ้าน เมื่อ...เปิดเรียนสนามจริง ยิ่งกว่าวุ่นวาย...โดย ชัยวัฒน์ ปานนิล
ซ้อมมาหลายวัน พอเปิดเรียนจริงวันแรก ยิ่งกว่าความวุ่นวาย โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนเกิน 500 คน โรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชน และเลือกที่จะจัดการเรียนการสอน On-Site
อ่านข่าว: ก่อนเปิดเทอม 1 ก.ค.ครูต้องทำอะไรบ้าง
ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ภาพรวมโรงเรียนประถมศึกษา หากจะเปิดสอนต้องมีจำนวนนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 20 คน
ส่วนมัธยมศึกษาต้องไม่เกิน 25 คน หากโรงเรียนใดมีจำนวนนักเรียนต่อห้องเกินกว่าที่กำหนด สพฐ. ได้เสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอน เช่น การสลับชั้น จันทร์/พุธ/ศุกร์ หรือ อังคาร/พฤหัสบดี, สลับชั้น วันคู่ วันคี่, สลับกลุ่มแบ่งนักเรียนในห้องเรียนเป็น 2 กลุ่ม หรือรูปแบบอื่นๆตามที่โรงเรียนเห็นสมควรและต้องเป็นไปตามมาตรการป้องกันด้านสาธารณสุขด้วย
สรุปว่า โรงเรียนที่จำนวนนักเรียนเกิน 20 คนต้องห้อง ในระดับประถมศึกษา และเกิน 25 คนต่อห้องในระดับมัธยมศึกษา นักเรียนไม่สามารถมาเรียนทุกวันได้ จำเป็นต้องใช้รูปแบบผสมผสาน แต่ก็ปรากฏว่า ในบางจังหวัด
โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนเกิน 500 คน และจำนวนนักเรียนต่อห้องเกิน 20 คน เปิดเรียนตามปกติ ไม่มีมาตรการเว้นระยะห่างในห้องเรียน ยังคงเห็นภาพนักเรียนจำนวนมากเดินเข้าแถวขึ้นรถนักเรียนคันเดียวกัน เพื่อเดินทางมาเรียนและกลับบ้าน
สำหรับการดำเนินการ 6 แนวทาง ของ สพฐ. ที่มอบหมายให้โรงเรียนดำเนินการ เมื่อเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ผลการปฏิบัติไม่เป็นไปตามคาด
1. มาตรการคัดกรอง หลายพื้นที่มี อสม. เข้ามาช่วยดำเนินการในช่วงแรก แต่ระยะเวลาดำเนินการก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนเข้าเรียน ส่วนในช่วงเวลาเรียนและหลังเลิกเรียนพบไม่มีการปฏิบัติ ปล่อยให้มีการเข้า-ออก กันตามสบาย ผิดกับกรณีศูนย์การค้าที่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตลอดทั้งวัน
2. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่ออยู่ในโรงเรียน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียนที่สวมหน้ากากต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน บางคนเกิดอาการเหนื่อยหอบ หรือบางรายทนไม่ได้ก็ถอดหน้ากากไปเลย กับเด็กเล็กที่ไม่ระมัดระวังหน้ากากกลายเป็นที่สะสมเชื้อโรค มากกว่าที่จะป้องกันเชื้อโรค
3. จัดจุดล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลอย่างเพียงพอ แม้ว่าจะมีการจัดเตรียมได้ดีในเรื่องของปริมาณของจุดบริการ แต่โรงเรียนกลับเน้นในเรื่องของการล้างมือด้วยสบู่ กับอ่างล้างมือ ซึ่งเป็นปัญหาว่าการล้างมือด้วยวิธีดังกล่าวต้องเช็ดมือ เสื้อผ้าของนักเรียน หรือบางครั้งอาจจะเป็นหน้ากากกลายเป็นที่เช็ดมือไปโดยอัตโนมัติ ต่างกับเจลล้างมือที่ล้างแล้วแห้งเลย โรงเรียนกลับไม่นิยมใช้ จะจัดไว้เฉพาะบริเวณที่มีการตรวจเยี่ยม หรือถ่ายรูปสวยงามเท่านั้น
4. การเว้นระยะห่างในห้องเรียน เป็นปัญหาโลกแตก ห้องเรียนขนาด กว้าง 6 เมตร ยาว 8 เมตร รู้ทั้งรู้จัดระยะห่างระหว่างนักเรียนอย่างน้อย 1 เมตร รวมพื้นที่สำหรับโต๊ะและเก้าอี้ไปด้วย จัดยังไงก็ได้แค่ 20 คน (ไม่มีที่นั่งสำหรับครู) หากโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนต่อห้องเกิน 20 คน ยังไงก็ต้องจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน แต่ก็ยังมีปรากฏให้เห็นว่ามีโรงเรียนขนาดใหญ่ จัดการเรียนแบบ On-Site ให้เห็นอย่างชัดเจน เพราะข้อมูลดังกล่าวอยู่ในมือของ สพฐ. ดังแต่ก่อนเปิดเรียน
5. เน้นการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกัน สพฐ. มีนโยบายยกเลิกการจ้างบุคลากรในตำแหน่ง นักการภารโรง ไปนานแล้ว พอถึงเวลาจำเป็นก็ต้องกลายเป็นหน้าที่ของครูที่ต้องมาทำเรื่องพวกนี้ เป็นงานนอกเหนือจากการสอนที่ได้รับเพิ่มมาโดยไม่คาดหมาย
6. ลดความแออัด ไม่จัดกิจกรรมที่เกิดการรวมกลุ่มของเด็ก เป็นข้อสั่งการที่ดูง่ายๆ แต่ในทางปฏิบัติยุ่งยากมาก ไม่เฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่กับโรงเรียนขนาดเล็ก ก็เป็นปัญหากับครูเช่นกัน การเดินระหว่างเปลี่ยนคาบเรียน การรับประทานอาหารกลางวัน ยังไม่นับกิจกรรมที่กำลังจะมาถึง เช่น กิจกรรมแห่เทียนพรรษา กิจกรรมไหว้ครู การประกวดและการประเมินต่างๆ ที่ในทางปฏิบัติไม่ได้ลดลงเลย เพราะ ครูและโรงเรียนจำเป็นต้องใช้ใบประกาศเกียรติบัตรในการสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพของตัวเอง
ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นปัญหาเพียงเล็กน้อยที่พบในวันแรกของการเปิดเรียน จากต้นน้ำ คือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาระดับเจ้ากระทรวงศึกษาธิการ เมื่อผ่านการเห็นชอบและสั่งการตามลำดับ ถึงผู้ปฏิบัติ คือ ครู และโรงเรียน ซึ่งถือว่าเป็นปลายน้ำของคำสั่ง แทบจะไม่เหลือร่องรอย เหมือนแท่งไอติมที่กินต่อกันมา พอถึงปลายทางก็เหลือแค่ไม้ไอติม เป็นเช่นนี้ทุกยุคทุกสมัย คนสั่งกับคนปฏิบัติความคิดไม่ตรงกัน ผลที่ได้จึงไม่ตรงกัน ความล้มเหลวจึงเกิดขึ้นในทันที
แต่ไม่ต้องสนใจกับความล้มเหลวเหล่านี้ เพราะมีความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในคราวเดียวกัน คือ การหยุดแช่แข็งการศึกษา ปล่อยให้ลูกหลานมาโรงเรียนตามปกติ เพราะในตอนนี้เราสามารถเชื่อได้ว่าเชื้อโควิด-19ไม่ระบาดในประเทศไทย