คอลัมนิสต์

เดชเฮียกวง ทะลวงป้อมค่าย

เดชเฮียกวง ทะลวงป้อมค่าย

09 ก.ค. 2563

เดชเฮียกวง ทะลวงป้อมค่าย สี่กุมาร พ้นจากพลังประชารัฐ สปอตไลท์การเมืองสาดจับ "จอมยุทธ์กวง" ก้าวต่อไป จะหยุดที่สถานีไหน  

++
การตัดสินใจลาจากพรรคพลังประชารัฐของ “4 กุมาร” อุตตม สาวนายน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ , สุวิทย์ เมษินทรีย์ และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล ก็เหมือนการจบภารกิจ และจบดีลกับผู้ทรงอำนาจ ยุคหลังรัฐประหาร 2557
 

อย่างที่รู้กัน พรรคพลังประชารัฐ ถูกออกแบบให้เป็นพรรคเพื่อการเลือกตั้ง และให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการโหวตในสภาฯ

 

อ่านข่าว...  ทางเดินเฮียกวงจับตา 'สัมมาชีพ" บ้านพัก 4 กุมาร


 

4 กุมาร สายตรง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” จึงเป็นผู้ก่อร่างสร้างพรรคตอนแรกๆ ก่อนที่จะมีผู้คนเข้ามาอีกมายมาย หลายเผ่าพันธุ์การเมือง
 

ช่วงแรกๆ ที่ตั้งพรรคพลังประชารัฐ มีนักข่าวไปถาม “สมคิด” เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับกลุ่มสามมิตร 
  

“ทุกคนเป็นเพื่อนกันทั้งนั้น และไม่ใช่แค่สามมิตร เป็นมวลหมู่มหามิตรเลย เป็นเพื่อนฝูงกันทั้งนั้น วงการเมืองคือเพื่อนๆ กัน”
 

นี่คือคำตอบของ “เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผู้อยู่กับการเมืองไทยเกือบ 20 ปี 


++
มวลมหามิตร
++
แรกที่มีข่าวเรื่องกลุ่มสามมิตร นำโดยสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และสมศักดิ์ เทพสุทิน ก็คล้ายมีชื่อสมคิด เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่ลึกๆ แล้ว สมคิดได้ติดต่อกับอดีตนักการเมืองจากพรรคไทยรักไทย หลายกลุ่มหลายก๊วน มิได้มีเพียงแต่สุริยะ และสมศักดิ์
 

คำว่า   “มวลหมู่มหามิตร” ที่หลุดออกจากปากสมคิด น่าขยายความเป็นอย่างยิ่ง 
          

เมื่อแยกทางจาก “ทักษิณ” ราวปี 2550 สมคิดซุ่มซ่อน สะสมเครือข่ายสายสัมพันธ์เดิม โดยตั้ง “กลุ่มธรรมาธิปไตย” เชื่อมร้อยกับกลุ่มที่แตกตัวออกมาจากไทยรักไทย
          

“พิมล ศรีวิกรม์” และ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” เป็นตัวยืนในการพบปะกันของนักการเมืองหลายพรรค โดยใช้โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล เป็นสถานที่นัดพบกัน
          

ผ่านไประยะหนึ่ง จึงตั้งชื่อ “กลุ่มธรรมาธิปไตย” สมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ ที่มาจากแวดวงธุรกิจ นักการธนาคาร นักการตลาด นักอุตสาหกรรม รวมไปถึงแวดวงนักวิชาการ
          

แรกๆ มีข่าวลือว่า กลุ่มธรรมาธิปไตยเหมือนจะรวมตัวกับ “กลุ่มมัชฌิมา” ของ สมศักดิ์ เทพสุทิน แต่สมคิดไม่ตัดสินใจ สมศักดิ์จึงนำพลพรรคไปพึ่งพาเสี่ยประชัย เลี่ยวไพรัตน์
          

ช่วงฤดูหาเสียงปลายปี 2550 สมคิดมีชื่อเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา” ที่มี ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์, เอนก เหล่าธรรมทัศน์, พิจิตต รัตตกุล และ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นแกนหลัก แต่หลังจากนั้น สมคิดก็แวบหายไปจากการเมืองไทย
 

ปี 2555 สมคิดจับมือหมอประเวศ ดันมูลนิธิสัมมาชีพ ก็ยังดึงอดีตนักการเมืองไทยรักไทยบางคนมาทำงานด้วย
 

ด้วยการที่อยู่พรรคไทยรักไทย มาแต่แรก สมคิด จึงรู้จักมักคุ้นแกนนำทุกมุ้งทุกกลุ่ม 

++
สมคิดไม่ธรรมดา
++
สัปดาห์ที่แล้ว จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. จัดรายการวิเคราะห์การเมือง ได้ประเมินสถานการณ์ภายในพรรคพลังประชารัฐ หลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค
 

“การปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งตอนแรกใครก็คิดว่าง่าย   สี่กุมารยังไงก็พ้นจากตำแหน่งผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ แต่ลืมคิดไปว่ากลุ่มสี่กุมารนั้น บวกหนึ่งสมคิด ก็มีประสบการณ์และบทเรียนมากมาย” 
 

สมัยไทยรักไทยรุ่งเรือง จตุพร อาจเป็นตัวละครที่อยู่วงนอก แต่ทำงานกับ “ผู้มีอำนาจวงใน” หลายคน จึงเห็นบทบาทสมคิดในยุคทักษิณ
 

“เมื่อย้อนกลับไปดูนั้นก็เห็นว่า การดำรงอยู่ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์นั้น ไม่ธรรมดา ชนิดที่อดีตนายกทักษิณ ชินวัตรก็ตกใจว่าสถานการณ์ในขณะตอนปลายก่อนที่จะมีการล้มกระดานกันนั้น นายสมคิดอยู่ในบทบาทไหน แต่ตนไม่ต้องการอธิบายความให้เกิดปัญหากัน แต่บอกว่าไม่ธรรมดาจริงๆ” 
 

จตุพร ย้ำอีกครั้งว่า “หลายคนคิดว่า บรรดาแทคโนเเครต เหล่านี้ไม่มีความเท่าทันทางการเมือง แต่มารอบนี้ตนบอกได้เลยว่า ไม่ธรรมดา”