บ้านน้องชมพู่ รอยอดีต 'กกกอก'กลางสงครามประชาชน
แกะรอย "กกกอก" ตำนานบ้านน้องชมพู่ จากยุคสงครามประชาชน สู่สงครามชิงเรตติ้งทีวี
++
60 กว่าวันผ่านไป สำหรับคดีน้องชมพู่ เสียชีวิตปริศนาบนเขาภูเหล็กไฟ ห่างจากบ้านพัก 2 กิโลเมตร ในพื้นที่บ้านกกกอก หมู่ 2 ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ตำรวจยังทำงานอย่างหนักเร่งหาหลักฐานคลี่คลายคดี
คดีน้องชมพู่ ได้รับความสนใจจากคนทั้งประเทศ ทำให้ชื่อหมู่บ้าน “กกกอก” และ “กกตูม” ดังกระฉ่อน
คนที่เสพข่าวน้องชมพู่ต่อเนื่อง ถึงกับอาการหลอนชื่อ “กกกอก-กกตูม”
น้อยคนนักที่จะทราบว่า “กกกอก” และ “กกตูม” คือฉากหนึ่งของสงครามประชาชน ที่กินเวลายาวนานกว่า 30 ปี
โดยเฉพาะช่วงปี 2511-2524 ทั้งสองหมู่บ้านตกอยู่ “หว่างเขาควาย” ฝ่ายหนึ่งรัฐบาลไทย และอีกฝ่ายหนึ่งคือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
++
บ้านบนภูเขา
++
เมื่อ 50 ปีที่แล้ว บ้านกกตูม เดิมขึ้นตรงกับ อ.นาแก จ.นครพนม เป็นชุมชนบนภูเขา หรือเทือกภูพานตะวันออก และเป็น 1 ใน 30 หมู่บ้าน ที่กระจายตัวอยู่ตามหุบเขา รอยต่อนครพนม-สกลนคร-กาฬสินธุ์ (สมัยโน้น ยังไม่มี จ.มุกดาหาร)
หมู่บ้านบนเทือกเขาภูพานตะวันออก ส่วนใหญ่จะชุมชนชาวบรูหรือโซ่ และมีชุมชนชาวภูไทแทรกอยู่บ้าง
บ้านกกตูม และบ้านกกกอก อยู่ติดกัน เป็นชุมชนภูไท ที่อพยพมาจาก อ.เต่างอย จ.สกลนคร
เนื่องจาก ต.จันทร์เพ็ญ อ.เต่างอย จ.สกลนคร มี 2 หมู่บ้านที่อยู่ภูเขาคือ บ้านกวนบุ่น และบ้านบึงสา โดยสองชุมชนนี้อยู่ใกล้กับบ้านกกกอก และบ้านกกตูม สืบเชื้อสายภูไท เหมือนกัน
2 หมู่บ้านชาวภูไท เหมือนถูกขนาบด้วยหมู่บ้านชาวบรู สองฝั่งห้วยบังทราย ฟากหนึ่งคือ ต.พังแดง ในปัจจุบัน อีกฟากหนึ่ง เป็นชุมชนบรู ที่อยู่ในเขต ต.กกตูม
สหายชาวบรู และชาวภูไท ในฐานที่มั่นภูพาน
เมื่อชนชาติบรู หรือโซ่ แห่งภูพานตะวันออก ประกาศเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธกับ พคท. แผ่นดินก็ลุกเป็นไฟ เมื่อกองทัพภาคที่ 2 เปิดยุทธการ 15 กองพัน เคลื่อนกำลังเข้าปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่เขต ต.ดงหลวง ต.พังแดง และมาบรรจบที่ ต.กกตูม
บ้านกกตูม และบ้านกกกอก กลายเป็นจุดพักพลของฝ่ายทหาร เพราะไม่ใช่บ้านชาวบรู
ภูเขารอบหมู่บ้านกกกอก
++
อำนาจรัฐแดง
++
ปี 2515 สหายสู้(อุดม สีสุวรรณ) ,สหายสยาม และสหายเจริญ คณะนำของ พคท.อีสานเหนือ สถาปนา “อำนาจรัฐแดง” ปลดปล่อยหมู่บ้านบนเทือกเขาภูพานตะวันออก เรียกว่า “ฐานที่มั่นสระบุรี” (ต.ดงหลวง) , “ฐานที่มั่นลพบุรี” (ต.พังแดง) , “ฐานที่มั่นสระบุรี” (ต.กกตูม) และ “ฐานที่มั่นเพชรบุรี” (ต.กกตูม)
9 หมู่บ้านในเขต ต.กกตูม ที่ประกาศปลดแอกจากรัฐไทย ส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาวบรู และมีชุมชนภูไท เพียงบ้านขัวสูง หมู่บ้านเดียวเท่านั้น
บ้านกกตูม และบ้านกกกอก ยังเป็น “เขตช่วงชิง” ของฝ่ายรัฐบาล กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งตอนหลัง มีกำลังทหารพรานขึ้นมาประจำการที่บ้านกกตูม
กลางปี 2516 กองทัพภาคที่ 2 เปิดยุทธการล้อมปราบอำนาจรัฐแดง โดยใช้บ้านกกตูม เป็นหนึ่งในฐานปฏิบัติการส่วนหน้า เมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 กองทัพภาคที่ 2 จึงสั่งถอนกำลังกลับ
++
ถนนเปรมพัฒนา
++
ปี 2525 ไฟสงครามมอดดับ เทือกภูพานตะวันออก กลับสู่ยุคการเมืองนำการทหาร กองทัพภาคที่ 2 เร่งสร้างถนนหลวง ตัดผ่าฐานที่มั่นเก่าของ พคท.อีสานเหนือ
ปีเดียวกันนั้น กระทรวงมหาดไทย ได้ตั้ง กิ่ง อ.ดงหลวง ขึ้นกับ จ.มุกดาหาร (แยกออกจาก จ.นครพนม)
ถนนเปรมพัฒนา เชื่อม อ.ดงหลวง ถึง อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ เป็นถนนยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคง หลังสิ้นเสียงปืนบนภูพาน
ถนนเปรมพัฒนา ตัดผ่านทุกหมู่บ้านที่เป็นอำนาจรัฐแดงเก่า รวมถึงบ้านกกตูม และบ้านกกกอก สองชุมชนที่ไม่ได้เป็นอำนาจรัฐแดง
สาเหตุที่บ้านกกตูม และบ้านกกกอก รอดจากการเป็นหมู่บ้านอำนาจรัฐแดง เพราะผู้นำหมู่บ้านเชื่อมั่นฝ่ายรัฐ และคนส่วนใหญ่เป็นไทครัวจากที่ราบ อ.เต่างอย ใกล้ชิดอำนาจรัฐมากกว่า
ตอนหลัง มีการตัดถนนใหม่ แยกจากถนนเปรมพัฒนา ช่วงบ้านกวนบุ่น ลงไปที่ราบ อ.เต่างอย และ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ทำให้ชุมชนบนภูเขา ได้ใกล้ชิดเมืองใหญ่มากขึ้น
แผนที่บ้านกกตูม สมัยสงครามประชาชน ยังไม่มีถนนเปรมพัฒนา
++
กกตูม-กกกอก
++
พ.ศ.นี้ หากเอ่ยถึง “ดงหลวง” ก็ต้องพูดถึง “งานวัฒนธรรมชนเผ่าบรูไฮไทโซ่” ซึ่งจัดติดต่อกันมาทุกปี เป็นการสืบสานอนุรักษ์ ประเพณีวัฒนธรรมจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ประกอบด้วยเผ่าบรูหรือไทโส้ และเผ่าภูไท
วัฒนธรรมชนเผ่ายังคงอยู่ในเชิงสัญลักษณ์ แต่วัฒนธรรมบริโภคนิยม ทะลุทะลวงทุกหมู่บ้านในแถวเทือกภู
ปัญหาสังคมจึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้ายาเสพติด และการค้าไม้พยุง เนื่องจากบ้านกกกอก เป็นจุดเชื่อมสามเส้นทางไป อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ,อ.เต่างอย จ.สกลนคร และ อ.นาแก จ.นครพนม
ในทางการเมือง อิทธิพลของ “ประชานิยมทักษิณ” ยังปกคลุมเทือกภูพานตะวันออก จึงทำให้พรรคการเมืองของทักษิณ ยึดครองพื้นที่การเมืองแถวถิ่นนี้มา 4-5 สมัยแล้ว
หากไม่มีคดีน้องชมพู่ ก็คงไม่มีใครรู้จัก “กกตูม-กกกอก” มากนัก