ม็อบไม่ทน สุ่มเสี่ยงอนาธิปไตย
กองเชียร์ฝ่ายต้านเผด็จการ ทวีตข้อความในทวิตเตอร์รัวๆว่า "ม็อบจุดติดแล้ว" หลังมีคนเข้าร่วมการชุมนุมมากกว่า 2 พันคน
การชุมนุม “เราไม่ทนอีกต่อไป” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จัดโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ถือประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง
อ่านข่าว:
: ไม่ทนอีกต่อไป..นักศึกษานัดชุมนุมใหญ่18ก.ค.นี้
: เปิดโฉม "ทัตเทพ" เยาวชนปลดแอก จุดไฟไล่ประยุทธ์
:ม็อบไล่ลุง เปิดตัว 4 สหาย สายฮาร์ดคอร์
แม้มีผู้ชุมนุมประมาณ 2 พันคน แต่ในทวิตเตอร์ #เยาวชนปลดแอก ขึ้นเป็นแฮชแท็กอันดับ 1 ด้วยยอดทวิต 2.78 ล้านครั้ง เมื่อ 21:20 น. ตามด้วย อันดับ 2 #respectdemocracyTHAI ด้วยยอดทวิต 1.85 แสนครั้ง
++
คนเบื่อประยุทธ์
++
มีข้อสังเกตประการหนึ่ง การที่มีผู้ชุมนุมมากกว่าทุกครั้งในรอบ 7 ปี นับแต่ คสช.ยึดอำนาจ
ประการแรก โควิดส่งผลต่อภาพรวมด้านเศรษฐกิจ คนชั้นกลาง เริ่มหมดความอดทนต่อรัฐบาลประยุทธ์
ประการที่สอง ความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ทำให้สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ 4 กุมาร ทิ้งตำแหน่งรัฐมนตรี ตามมาด้วยการแย่งชามข้าวของนักเลือกตั้งฝั่งรัฐบาล
การเมืองแบบน้ำเน่า ซ้ำเติมพิษเศรษฐกิจ คนชั้นกลางจึงออกมาร่วมชุมนุมมากกว่าเยาวชน หรือแดงขาประจำ
อย่างไรก็ตาม แกนนำม็อบก็ต้องยุติชุมนุมแค่เที่ยงคืน หลังประเมินสถานการณ์แล้ว คนน้อยลง เสี่ยงที่จะแกนนำจะถูกตำรวจรวบตอนเช้า
++
เป้าหมายเหมือน 2475
++
แคมเปญ “ไม่ทนอีกต่อไป” ของกลุ่มเยาวชนปลดแอกนั้น ไม่ได้หมายถึง “ทนต่อการบริหารประเทศ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“ถ้ารอให้ถึงเวลานั้น มันอาจจะสายเกินไป เรารอมากว่า 80 ปีแล้ว จะต้องรอไปอีกนานซักเท่าไหร่กัน”
ประโยคนี้ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก สอดรับกับกิจกรรม “ลบยังไงก็ไม่ลืม” ที่มีการฉายโฮโลแกรมอ่านประกาศคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา
++
สุ่มเสี่ยง-อ่อนไหว
++
ในการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก มีปรากฏการณ์ “ป้ายข้อความหมิ่นเหม่” และป้ายเรียกร้องให้ “ยกเลิก ม.112”
ที่ละเอียดอ่อนอีกอย่างคือ การนำภาพชุดคนหาย ที่ส่วนหนึ่งเป็นภาพของสุรชัย แซ่ด่าน ,โกตี๋ และลุงสนามหลวง พร้อมพวก
ใครๆก็รู้ว่า บุคคลเหล่านี้เป็นผู้หลบหนีคดี 112 และไปตั้งกองโฆษณาอยู่ฝั่งลาว ประกาศผ่านสื่อดิจิตอลว่า จะล้มล้างสถาบันเบื้องสูง
มีตัวอย่างของความชุลมุนวุ่นวาย เมื่อเจ้าหน้าที่สันติบาล 2 นายพยายามควบคุมตัวผู้ชุมนุมคนหนึ่งไป แต่ประชาชนเห็นเลยเข้าขัดขวาง และสามารถกันตัวผู้ชุมนุมคนนั้นออกมาได้
สันติบาลเห็นว่า ชายคนนั้นชูป้ายที่มีข้อความหมิ่นเหม่ จึงอยากพาตัวไปผู้ชุมนุมไปพูดคุยที่โรงพัก
แม้แต่อานนท์ นำภา ยังโพสต์เฟซบุ๊ค ก่อนหน้าการชุมนุม 2 วันว่า “ถ้าป้าย ‘หมดความศรัทธา’ มาปรากฎที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อไหร่ ก็น่าจะนับได้ว่าเป็นการเริ่มอย่างเป็นทางการ”
ข้อความ “หมดศรัทธา” นั้นเป็นที่รู้กันในกลุ่มนักเคลื่อนไหวมวลชนสายฮาร์ดคอร์
“อย่าให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องของลูกหลานเราที่ต้องมาเรียกร้องความยุติธรรมไม่จบสิ้น ให้มันจบในรุ่นของเรา”
ป้ายหมดศรัทธา มีความนัยคล้ายข้อความข้างต้น ในทวิตเตอร์ของกลุ่มต้านเผด็จการ ก็จะทวีตกันโจ๋งครึ่มแบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย 112