คอลัมนิสต์

เหมือนกันจริงหรือ.. "คดีบอส อยู่วิทยา'' - "ทุ่งใหญ่นเรศวร"

เหมือนกันจริงหรือ.. "คดีบอส อยู่วิทยา'' - "ทุ่งใหญ่นเรศวร"

04 ส.ค. 2563

มีการนำ"คดีบอส อยู่วิทยา" ไปเปรียบเทียบกับ"กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร"ที่นำมาซึ่งเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ "14 ต.ค. 16" ว่าอาจเป็นชนวนเหตุให้"รัฐบาล" อยู่ไม่ได้.. แต่ในความจริง "คดีบอส อยู่วิทยา" มีความเหมือนกับ"กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร" หรือ 

กรณีคดีนายวรยุทธหรือบอส  อยู่วิทยา  ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้องและผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่แย้ง ทำให้คำสั่งไม่ฟ้องคดีเสร็จเด็ดขาด และมีการเพิกถอนหมายจับนายวรยุทธ นั้น  ถูกวิจารณ์เป็นกระแสในวงกว้างถึง"กระบวนการยุติธรรมของไทย"และผู้คนในสังคมยอมรับไม่ได้มีการเปรียบเทียบว่า"คุกเอาไว้ขังคนจน"เนื่องจากผู้ต้องหาคือนายวรยุทธ เป็นทายาทของคนใน"ตระกูลอยู่วิทยา" ซึ่งเป็นระดับมหาเศรษฐีต้นๆของไทย  
ต่อมาคดีนี้ถูกนำไปโยงเป็นเรื่อง"การเมือง"จากฝ่ายค้านและผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลพุ่งเป้าโจมตี"รัฐบาลประยุทธ์" และพยายามลากให้รัฐบาลรับผิดชอบให้ได้กับความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรม ที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ โยงว่า"กลุ่มอำมาตย์" ซึ่งก็คือข้าราชการ  คนมีเงิน มีอำนาจเหนือกฎหมาย
 "และจุดประเด็นถึงขนาดที่ว่า "คดีบอส" อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่อาจทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ได้ เสมือนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่ชนวนเส้นสุดท้ายคือ กรณีเฮลิคอปเตอร์ตก ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร ปี 2516  "
 

           เหมือนกันจริงหรือ.. \"คดีบอส อยู่วิทยา\'\' - \"ทุ่งใหญ่นเรศวร\"

 แต่หากศึกษา"กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร" ให้ละเอียด ก็จะพบว่ามี"ความต่าง" กับ "คดีบอส อยู่วิทยา "  
 ย้อนกลับไปในช่วงเดือนเมษายน 2516 มีกระแสข่าวว่า พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายของจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้นำคณะตำรวจ-ทหารชั้นผู้ใหญ่ และพ่อค้านักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลกว่า 60 คน รวมถึงนักแสดงหญิงชื่อดัง  เข้าไปจัดงานเลี้ยงวันเกิด รวมถึงได้ใช้อาวุธสงครามจำนวนมากล่าสัตว์ป่าที่"ทุ่งใหญ่นเรศวร" ถึงแม้จะมีการประท้วงแสดงความไม่พอใจในการล่าสัตว์ป่าจากนิสิต นักศึกษา ประชาชน รวมไปถึงองค์กรคุ้มครองสัตว์ป่าจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีหลักฐานพอที่จะเอาผิดกับคณะดังกล่าวได้
 แต่แล้วในวันที่ 29 เมษายน 2516 ได้เกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตก ที่บางเลน จ.นครปฐม มีผู้เสียชีวิต 6 คน และบาดเจ็บอีก4 คน พร้อมปรากฏซากกระทิงและสัตว์ป่าอื่นๆ รวมถึงอุปกรณ์ล่าสัตว์จำนวนมากกระจัดกระจายรอบซากเฮลิคอปเตอร์ ภาพดังกล่าวกลายเป็นพาดหัวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทันที พร้อมกับมีการตีพิมพ์ภาพเปรียบเทียบว่าเฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวเพิ่งขึ้นจากเขตทุ่งใหญ่จริง ทำให้อุบัติเหตุในครั้งนั้นกลายเป็นหลักฐานฟ้องว่า มีการใช้เฮลิคอปเตอร์หลวงเข้าไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
 ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานการล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวรปรากฏมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่รัฐบาลกลับมีการกดดันให้สื่อมวลชนยุติการเผยแพร่ภาพหลักฐานการกระทำผิดเหล่านี้ และจอมพล ถนอม ได้แถลงข่าวว่า ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกอยู่ในช่วงปฏิบัติการลับของราชการเปิดเผยไม่ได้และเฮลิคอปเตอร์ถูกใช้เพื่อการรักษาความปลอดภัย นายพลเนวิน นายกรัฐมนตรีเมียนมา ที่เดินทางมาประเทศไทยในช่วงเวลานั้น ส่วนเนื้อสัตว์ป่าอาจเป็นของคนอื่นฝากมา ทำให้กระแสสังคมไม่พอใจต่อรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะขณะนั้นมีข้อมูลว่า ผู้มีส่วนในเหตุนี้นอกจาก พันเอกณรงค์ และยังมีนายทหารคนสนิทของ จอมพล ประภาส จารุเสถียร(ซึ่งจอมพลประภาส เปรียบเสมือนมือขวาของจอมพลถนอม) เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
 และในวันที่ 16 พ.ค. 16 ทางศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมและอภิปรายถึงกรณีการล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวรอย่างดุเดือด มีผู้เข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมากกว่าหมื่นคนก่อนจะมีการออกหนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ที่เปิดโปงเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเจาะลึก ก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทำให้หนังสือ 5,000 เล่ม หมดเกลี้ยงในเวลาอันรวดเร็ว และเมื่อมีการพิมพ์เพิ่มกว่าอีกแสนเล่ม ก็จำหน่ายหมดในเวลาไม่นานนัก
 โดยหนังสือเล่มนี้เรียกกลุ่มข้าราชการและนักธุรกิจที่เข้าไปล่าสัตว์ป่าในทุ่งใหญ่นเรศวรว่า“พรานบรรดาศักดิ์” นอกจากข้อมูลเชิงลึกแล้ว ยังมีการเสียดสีรัฐบาลอย่างเจ็บแสบโดยเฉพาะการล้อเลียนจอมพลถนอม กิตติขจร นายกฯ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในเวลานั้น จากกรณีต่ออายุราชการ ว่า “ด้วยสถานการณ์ในทุ่งใหญ่ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ จึงเสนอต่ออายุการทำงานของกระทิงจ่าฝูงเป็นเวลาอีก 1 ปีกระทิง จากสภารักษาความปลอดภัยแห่งชาติกระทิง”
 และเมื่อ “ชมรมคนรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง” ได้ออกหนังสือ “มหาวิทยาลัยไม่คำตอบ” ก็ได้นำข้อความล้อเลียนนี้ใส่ไว้ในหนังสือด้วย ทำให้อธิการบดีมหาวิทยาลัย สั่งลบชื่อนักศึกษาที่จัดทำหนังสือเล่มดังกล่าว จำนวน 9 คนจากเหตุการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัยกลับลุกลามไปไกลจนสั่นสะเทือนการเมืองไทย และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา เมื่อศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ชุมนุมประท้วงที่หน้าทบวงมหาวิทยาลัย ก่อนย้ายไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งข้อเรียกร้องหลักๆ นอกจากให้ยกเลิกการลบรายชื่อนักศึกษาทั้ง 9 คนออก ยังมีการเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือนนำไปสู่สถานการณ์ตรึงเครียด และ"เหตุการณ์ 14 ตุลา 16" ซึ่งจากการปะทะกันระหว่างทหาร ประชาชนและนักศึกษาในการประท้วงครั้งนั้น ทำให้จอมพลถนอมต้องประกาศลาออก และเดินทางออกจากประเทศในเวลาต่อมา
  จะเห็นได้ว่ากรณีของทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับเครือญาติและคนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดย พ.อ. ณรงค์  เป็นบุตรชายของจอมพลถนอม และแต่งงานกับลูกสาวของจอมพลประภาส  และมีการใช้เฮลิคอปเตอร์ของทางราชการไปล่าสัตว์ มีข้าราชการซึ่งเป็นคณะตำรวจ-ทหารชั้นผู้ใหญ่ และพ่อค้านักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้อง และนายกรัฐมนตรีฯในขณะนั้นได้มีพฤติกรรมปกปิดและบิดเบือนข้อเท็จจริง จึงมีความเกี่ยวข้องกับ "รัฐบาล" โดยตรง
  แต่กรณีของ"บอส อยู่วิทยา" เป็นเรื่องของพฤติกรรมของคน ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับ"รัฐบาล" เลย อีกทั้งเมื่อเกิดกระแสสังคมกดดันยอมรับไม่ได้ในเรื่องนี้ รัฐบาลก็พยายามแก้ไขปัญหาโดยตั้งคณะทำงานขึ้นมาคลี่คลาย หากรื้อคดีได้ก็จะรื้อ หากต้องมีคนรับผิดชอบทำนอกลู่นอกทาง ก็จะลงโทษ รวมถึงศึกษากรณีนี้เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม   
 การที่จะนำเรื่อง" บอส อยู่วิทยา" มาใช้ใน"ทางการเมือง" โดยวาดหวังว่าจะส่งผลสะเทือนรัฐบาลเหมือนกับกรณีทุ่งใหญ่นเรศวร จึงยังห่างไกลจากความเป็นจริง