คอลัมนิสต์

14 ตุลา ความทรงจำ ของใครของมัน

14 ตุลา ความทรงจำ ของใครของมัน

23 ส.ค. 2563

ม็อบปลดแอก จะเหมือน 14 ตุลา หรือไม่? คนเดือนตุลาบอกเล่าเรื่องในอดีต บนจุดยืนและอุดมการณ์แตกต่างกันในวันนี้

         ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของนักเรียนนิสิต นักศึกษากลุ่มต่างๆ กำลังรุกคืบไปทั่วประเทศ พร้อมข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ หยุดคุกคาม-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่-ยุบสภา ภายใต้ 2 เงื่อนไขไม่มีการรัฐประหารและไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ พร้อม 1 ความฝันคือ ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

        อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ตุลาเดือด ก้าวแรก 'บิ๊กบี้' กับม็อบปลดแอก

         มีทั้งความเหมือนและความต่างในประวัติศาสตร์การชุมนุมของนักเรียน-นักศึกษา ครั้งใหญ่สุด เมื่อ 47 ปีที่แล้ว

++

เสียงจากผู้นำนักศึกษา

++

         เมื่อหลายวันก่อน ทีมข่าวช่องพีพีทีวี ได้สัมภาษณ์ “บุญส่ง ชเลธร” 1ใน 13 ขบถเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ปี 2516 เกี่ยวกับปรากฏการณ์ม็อบปลดแอก เปรียบเทียบเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

         “บุญส่ง” มองว่าการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น เชื่อว่าเป็นความคิดอันบริสุทธิ์ของเด็ก เพราะสมัยที่ตนเคลื่อนไหวในยุคปี 2516 ก็คิดเองไม่มาใครชักนำ หรือบงการอยู่เบื้องหลัง  

    ตอนหนึ่ง บุญส่งยังขอโทษคนรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่ได้จบที่รุ่นพวกเขา จึงเป็นภาระตกมาถึงเด็กรุ่นนี้

         “บุญส่ง” ฝากถึงรัฐบาลให้ทำความเข้าใจกับข้อเรียกร้องต่างๆ และตอบสนองให้ตรงจุด ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการไป ใส่ร้ายป้ายสี ยัดข้อหา หรือไปจัดตั้งกลุ่มต่อต้านนักศึกษา ใช้สื่อปลุกระดมโจมตีเด็ก เพราะนอกจากไม่สามารถหยุดยั้งพลังอันบริสุทธิ์ของพวกเขาได้แล้ว ยังอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการนองเลือดซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

 ++

ความลับเดือนตุลา

++

         อีกด้านหนึ่ง “วินทร์ เลียววาริณ” นักเขียนชื่อดัง ได้เขียนซีรีส์ประวัติศาสตร์ที่เราลืม ตอน “ความลับเดือนตุลาคม” เผยแพร่ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊คของตัวเอง เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2563

         วินทร์ เลียววาริณ ได้ตั้งคำถามไว้ตอนหนึ่งว่า

         “ฟ้าสีทองผ่องอำไพแห่ง 14 ตุลาคม 2516 เป็นภาพสวยงามที่ทุกคนเห็นและเชื่อว่าพลังประชาชนโค่นระบอบเผด็จการ ทว่าในสายตาของคนหลายคน มันยังมีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

         ทำไมระบอบถนอม-ประภาสจึงยอมลงจากอำนาจ ทั้งที่ด้วยกำลังทหารตำรวจสามารถบดขยี้ผู้ชุมนุมได้? ทำไมหลังการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนยุติแล้ว กลับเกิดเหตุที่หน้าพระตำหนักจิตรลดา? ทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงใช้แก๊สน้ำตาสลายฝูงชนและบานปลายเป็นการฆ่ากัน? เหตุการณ์หน้าพระราชวังในวันที่ 14 ตุลาฯเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมัน หรือว่ามีการเสี้ยมเขาควายให้ชนกันโดยกลุ่มที่ไม่เผยตัวตน? ใครเป็นพวกที่โทรศัพท์ไปตามบ้านต่าง ๆว่าทหารฆ่าประชาชน? ใช่มือที่สามหรือไม่? ทำไมหลังจากจอมพลถนอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงยังมีการปราบปรามผู้ชุมนุม?...”

         ในช่วงนี้ มีคนเดือนตุลา แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับม็อบปลดแอก ตามจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองของแต่ละคน ต่างมีมุมมองและเรื่องเล่าเหตุการณ์ในอดีต แตกต่างกันไป

         สำหรับนักเขียนรุ่นใหม่อย่างวินทร์ ได้ฝากแง่คิดไว้ว่า “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีเบื้องลึกกว่าที่เราเห็นหรือไม่ เราไม่รู้...แต่เรารู้ว่าฟ้าสีทองผ่องอำไพนั้นซ่อนเมฆดำหนาไว้เบื้องหลัง”

—————