คอลัมนิสต์

ไอ้ไข่ จตุคาม ถนนสายความเชื่อ

ไอ้ไข่ จตุคาม ถนนสายความเชื่อ

17 ก.ย. 2563

ไอ้ไข่ จตุคาม ถนนสายความเชื่อ ปรากฏการณ์ไอ้ไข่ ทำให้นึกถึง "จตุคามฟีเวอร์" ทุกวัดทั่วไทย ปลุกเสกจตุคาม แค่ 2 ปี กระแสศรัทธาก็วูบดับ คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย... ขุนน้ำหมึก


++
ปรากฏการณ์ “ไอ้ไข่” ไม่ต่างจาก “จตุคามรามเทพ” ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจเมืองนครศรีธรรมราช โตสวนกระแสโควิด
    

เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว คลื่นศรัทธาหลั่งไหลแห่เช่าบูชาจตุคามรามเทพ ที่นครศรีธรรมราช ในปีนี้ ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศมุ่งตรงสู่  วัดเจดีย์ ต.ฉลอง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เพื่อขอพรจากไอ้ไข่ และบูชาวัตถุมงคลไอ้ไข่พุทธคุณกุมารเทพ 

 

อ่านข่าว...  จับตา "ไอ้ไข่โคตรรวย วัดแพรก เมืองนนท์"  ทำไมสื่อต่างชาติให้ความสนใจในกระแส ขอได้-ไหว้รวย


    

จตุคามกับไอ้ไข่ มีที่มาต่างกัน เรื่องเล่าต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ มีถิ่นกำเนิดเดียวกัน และ “ขอได้ไหว้รับ”
    

เซเลบในสังคมเช่น นักธุรกิจ ดารา นักการเมือง นำมาบูชาและเกิดกระแสปากต่อปาก
    

ปี 2550 จตุคามฟีเวอร์ วัดทั่วไทยนำจตุคามรามเทพ มาปลุกเสกเพื่อหารายได้เข้าวัด นักการเมืองกระโดดเข้ามาเป็นประธานสร้างจตุคามฯ รุ่นโน้น รุ่นนี้ 
    

สำหรับไอ้ไข่ เพิ่งเริ่มมีการจัดสร้างในวัดต่างๆ จนกระทั่ง เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ ประกาศว่า ทางวัดได้จดลิขสิทธิ์ไอ้ไข่ไว้แล้ว หากจะจัดสร้างวัตถุมงคลไอ้ไข่ ต้องติดต่อขออนุญาตจากทางวัดต้นฉบับ


++
การตลาดต้องมา
++
ย้อนไปดูกระแสความศรัทธาในจตุคามรามเทพนั้น ช่วงแรกไม่ค่อยมีผู้คนรู้จักมากนัก มีการจัดสร้างวัตถุมงคลในปี 2530 เพื่อหารายได้มาใช้ในการสร้างศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช
    

ปี 2542 เริ่มมีคนเล่าประสบการณ์ ปากต่อปากว่า บูชาแล้วค้าขายดี บูชาแล้วธุรกิจไม่มีปัญหา บูชาแล้วสามารถอธิษฐานขออะไรก็ได้ 
    

ปี 2549-2550 จาตุคามรามเทพ กลายเป็นวัตถุมงคลที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม จากราคา 43 บาท พุ่งสูงสุดไปถึงหลักล้าน 
    

มีข้อสังเกตว่า กระบวนการจัดสร้างวัตถุมงคลจตุคามรามเทพนั้น ประกอบด้วยทีมจัดการ เป็นตั้งแต่การทำพิธีเพื่อให้เกิดความขลัง ทีมติดต่อสร้างและออกแบบเหรียญ
    

ที่สำคัญ ต้องมีทีมการตลาด ซึ่งแบ่งเป็น “ทีมเชียร์” ที่เป็นเซียนพระ ในนครศรีธรรมราช และเครือข่ายเซียนพระที่กรุงเทพฯ
    

“ทีมสื่อ” มีหน้าที่ส่งข่าวเรื่องอภินิหาร และกระแสความศรัทธาเผยแพร่ทางหน้าหนังสือพิมพ์ และทีวี รวมถึงเวบไซต์ นับร้อยเว็บ ผลิตขึ้นเป็นเป็นช่องทางจำหน่าย และเรื่องราวปาฏิหาริย์ขององค์จตุคามรามเทพ
    

มาถึงยุคของไอ้ไข่ สื่อโซเชียล ทั้งเฟซบุ๊ค ยูทูบ กลายเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ และทำได้ง่าย บุคคลที่ศรัทธาเชื่อถือสามารถบอกเล่าเรื่องไอ้ไข่ผ่านสื่อใหม่ โดยไม่ต้องรอสื่อกระแสหลักทำข่าว
    

การตลาดออนไลน์ สร้างปรากฏการณ์ “ไอ้ไข่ฟีเวอร์” ชั่วข้ามคืน
 

++
มีเกิด มีดับ
++
จตุคามฟีเวอร์อยู่ประมาณ 2-3 ปี กระแสศรัทธาก็วูบหายไปเฉยๆ ราคาเช่าบูชาจตุคามฯ ก็ตกลงฮวบฮาบ
    

สาเหตุหลักที่จตุคามรามเทพ เสื่อมความนิยม ก็มาจากมีการจัดสร้างวัตถุมงคลจตุคามฯ ได้กลายเป็น “ไสยพาณิชย์” เต็มรูป มีการหารายได้เข้าวัดมากมาย จนจตุคามเฟ้อ
    

เอาเข้าจริง รายได้การสร้างจาตุคาม ส่วนใหญ่ตกอยู่ที่นายทุนจัดสร้าง ซึ่งมีข้อตกลงกับวัดว่าต้องการรายได้จำนวนเท่าใด ส่วนต่างคือผลกำไร และนายทุนจะเป็นผู้ลงทุนจัดสร้างทั้งหมดทุกขั้นตอน 
    

ที่หนักไปกว่านั้น มีโรงงานผลิตเหรียญ “จตุคามปลอม” โดยโรงงานเหล่านี้จะมีการรับงานพิมพ์แบบจุตคาม จากวัดชื่อดังหลายแห่ง แต่ไม่ได้ทำลายบล็อก และแอบลักลอบนำมาพิมพ์ส่งพ่อค้าแม่ค่าไปทั่วประเทศเพื่อจำหน่ายในราคาถูก 
    

พระพยอม เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว นนทบุรี จึงประเมินปรากฏการณ์ไอ้ไข่ ว่า กระแสความดังของไอ้ไข่ เขาเรียกว่ากระแสไสยพาณิชย์ คงจะอยู่ไม่นาน เหมือนอย่างเมื่อคราวครั้งที่จตุคามรามเทพที่มีกระแสฮือฮามาก หลังจากนั้นไม่นานก็เงียบหายไป
    

วิถีชีวิตของคนไทย ประกอบไปด้วยความเชื่อพื้นฐานที่เป็นไปตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย ทั้งความเชื่อผีสางเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือธรรมชาติ ความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ และพุทธศาสนาตามลำดับ 
    

ความเชื่อเรื่องจตุคามรามเทพ หรือไอ้ไข่ จึงเกิดขึ้น ภายใต้อิทธิพลของทุนนิยมและบริโภคนิยม