09 พ.ย. 2563

1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของม็อบ คือ การแก้ไข รธน.ซึ่งมีความเป็นไปได้มากสุดในบรรดา 3 ข้อจึงเปรียบเสมือนเป็น"ช่องระบาย" แรงดันจากม็อบ แต่การที่ ส.ว.-ส.ส.พปชร.กลับเข้าชื่อส่งให้ศาล รธน.ตีความว่าชอบหรือไม่เท่ากับไป"อุดช่องระบาย"ทำให้อุณหภูมิทางการเมืองร้อนขึ้นอีก

กรณีนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม รวบรวมรายชื่อ ส.ว. 48 คน เข้าชื่อต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 3 ใน 7 ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยอ้างว่าหาก ส.ว. ลงมติรับหลักการทั้งที่ญัตติขัดรัฐธรรมนูญ จะทำให้ ส.ว.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อความรอบคอบจึงควรให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเสียก่อน 

สำหรับ 3 ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มไอลอว์ โดย ส.ว. ที่เข้าชื่อกัน เห็นว่า แม้จะมีผู้เข้าชื่อเสนอร่างดังกล่าวเกือบแสนคน แต่ตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มไอลอว์มีหน้าที่ดำเนินการหรือไม่ และเป็นองค์กรที่มาจากต่างประเทศหรือไม่ ส่วนอีก 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคือ ร่างที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ  

แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไฟเขียวให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การที่ ส.ว.ที่ผู้ชุมนุมมองว่าเป็น "มือไม้ของรัฐบาล" มาโดยตลอด เข้าชื่อกันให้ศาลรัฐธรรมูญ ชี้ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชอบหรือไม่  อาจทำให้ทางม็อบมองว่า"รู้เห็นเป็นใจกัน" ในการยื้อหรือประวิงเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป

ยิ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มไอลอว์ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งฉบับ เป็นความมุ่งหวังของผู้ชุมนุมอย่างมากด้วยว่า จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามนี้ แต่ ส.ว. กลับเลือกส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเฉพาะ 3 ร่างนี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็เท่ากับ"ตบหน้าม็อบฉาดใหญ่" ดีๆนี่เอง   

และไม่เพียง ส.ว. เท่านั้น ที่เข้าชื่อกันให้ส่ง 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่กลับปรากฏว่ามี ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ หลายคนเข้าชื่อร่วมด้วยกับ ส.ว.

แม้ว่า นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล เชื่อว่าการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะไม่ทำให้การพิจารณาของรัฐสภาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุด เพราะสามารถทำพร้อมกันได้เลย ส่วนที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญก็ส่งไปตามระบบ  การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาก็ยังเดินต่อไปได้  ไม่ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย  

แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของรัฐบาล ก็ยอมรับว่า หากศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณา ก็อาจทำให้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาล่าช้าได้ 

การประนีประนอม หันหน้า"สมานฉันท์" ของ 2 ฝ่าย  ฝั่งรัฐบาลและฝั่งตรงข้าม  จึงยังมองไม่เห็น ณ เวลานี้

โปรลาซาด้า

\"โหมไฟให้ลุกฮือ\" ส.ว. -ส.ส. พปชร. เข้าชื่อส่งศาลฯชี้ ร่างแก้ไข รธน. ขัด ก.ม.