คอลัมนิสต์

'ทอน'สอนน้อง'ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด'

'ทอน'สอนน้อง'ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด'

10 ม.ค. 2564

ควันหลงวันเด็ก "ธนาธร" แนะนำหนังสือ 'ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด' ปลุกปลอบฝ่ายประชาธิปไตย อย่าเพิ่งถอดใจ

 วันเด็กในสถานการณ์โควิดผ่านไปแบบเงียบๆ แม้จะมีกิจกรรมของ “นักเรียนเลว” หน้ากระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็ไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ

สำหรับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ไม่พลาดที่จะส่งมอบขวัญวันเด็ก ให้ทั้งเด็กและผู้ปกครอง นั่นหนังสือ To Kill a Mockingbird (ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด) วรรณกรรมเพื่อมนุษยชาติ ได้รับความนิยมมาตลอดเวลากว่า 50 ปี และมีการสร้างเป็นภาพยนตร์ ได้รับ 3 รางวัลออสการ์

 “วันเด็กปีนี้ ผมไม่มีคำขวัญหรือคติพจน์ใดๆ มามอบให้ แต่ผมมีหนังสือมาแนะนำ เป็นหนังสือที่อยากให้เด็กไทยทุกได้อ่าน และอันที่จริง พ่อแม่ก็ควรจะต้องอ่านด้วย เพราะนี่คือหนังสือที่จะปลูกฝังค่านิยมพื้นฐานของประชาธิปไตยให้กับประชาชนทุกวัย”

 “ธนาธร” ฝากของขวัญวันเด็ก ผ่านแฟนเฟซบุ๊คธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมการรีวิวหนังสือดีมีคุณค่าแก่ฝ่ายประชาธิปไตย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปีที่บอบช้ำ กรรม 'ธนาธร'

วรรณกรรมกับการเมือง

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนักอ่านตัวยง และเคยร่วมกับเพื่อนๆ ก่อตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เขาเลือกนิยายเรื่อง “ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด” ของ ฮาร์เปอร์ ลี เพราะว่า “..เป็นนิยายอเมริกันที่ถูกอ่านมากที่สุดเล่มหนึ่งในศตวรรษที่ 20 และเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กนักเรียนอเมริกันด้วย เนื้อเรื่องเล่าถึงสังคมอเมริกันในทศวรรษที่ 1930 จากสายตาของสเกาต์ ฟินช์ เด็กหญิงผิวขาว ที่พ่อของเธอ แอทติคัส ฟินช์ เป็นทนายความผู้ว่าความให้ชายผิวดำที่ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนหญิงผิวขาว”

การต่อสู้ของแอทติคัส ฟินช์ บอกให้รู้ว่า คนทุกคนควรได้รับความเป็นธรรม ไม่ว่าจะมีผิว เพศ เชื้อชาติใด

“แน่นอนว่ามันไม่ง่ายเลยที่ในโลกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายโกลาหลนี้ เราจะรักษาความเชื่อมั่นในเพื่อนมนุษย์เอาไว้ แต่หากเราประชาชนไม่เชื่อมั่นในกันและกัน ไม่เชื่อว่าเราต่างมีศักยภาพจะทำให้โลกนี้ดีกว่าเดิม ประชาธิปไตยที่แท้ก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น เพราะเราจะหวังแต่การมีผู้นำที่ดีมีคุณธรรมมาปกครองประชาชน ที่เลวทรามและโง่เขลาอยู่เรื่อยไป”
 ประธานคณะก้าวหน้า ที่กำลังเผชิญวิบากคดีความมากมาย และบทเรียนจากความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งนายก อบจ. ทำให้เขาต้องปลุกปลอบมิตรสหาย ให้ยืนหยัดและเชื่อมั่นในแนวทางประชาธิปไตย

“หากเราประชาชนไม่เชื่อมั่นในกันและกัน ไม่เชื่อว่าเราต่างมีศักยภาพจะทำให้โลกนี้ดีกว่าเดิม ประชาธิปไตยที่แท้ก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น”

พูดง่ายๆ ธนาธรมองว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังล้าหลัง เฝ้ารอแต่ “คนดี” มาปกครองบ้านเมือง

ทำไมต้องฆ่านก?

คอวรรณกรรมทราบดีว่า “ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด” เป็นเรื่องราวของอคติ การรังเกียจคนต่างผิว การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม การสูญเสีย และความไร้เดียงสา ผ่านสายตาของเด็กหญิงวัยไม่ถึง 9 ปี ที่เป็นลูกสาวทนายความในเมืองเล็กๆ ในรัฐแอละบามา ภาคใต้ของสหรัฐฯ ช่วงทศวรรษ 1930

ฮาร์เปอร์ ลี ผู้ประพันธ์นิยายเรื่องนี้ ต้องการพูดถึงเรื่องความเสมอภาค และความยุติธรรม จึงเปรียบเทียบเรื่องคนกับนกว่า "ยิงนกบลูเจย์ได้ตามใจเลย ถ้ายิงมันถูกได้ แต่จำไว้ว่ามันเป็นบาป หากจะฆ่านกม็อกกิ้งเบิร์ด" หมายถึงนกบลูเจย์ ขโมยพืชและอาหารของคน สมควรถูกลงโทษ ส่วนนกม็อกกิ้งเบิร์ด ไม่ทำร้ายใคร ซ้ำยังร้องเพลงเพราะ จะไปทำร้ายมันทำไม 

ดังนั้น ถ้าคนๆหนึ่งทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าเขาจะมีสีผิวใด ก็สมควรถูกลงโทษ แต่หากเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ไม่สมควรไปกล่าวหาหรือใส่ร้ายผ่านมาถึงวันนี้ สังคมอเมริกันชน ยังมีการประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิว พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกสัญลักษณ์ของการเหยียดผิวและการใช้แรงงานทาสในอดีต

ไม่แปลกที่นิยายเรื่อง “ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด” ยังคงได้รับความนิยมจากนักอ่านทั่วโลก ธนาธรมาจึงหยิบฉวยมาแนะนำให้เด็กไทยอ่าน

บอกลาอาการคิดหนัก บอกลาซาด้า ช้อปเลย...

\'ทอน\'สอนน้อง\'ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด\'