"หนู" โมเดล สวนมติพรรค จาก "โต้ง" ถึงงูเห่าสีส้ม
โหวตสวนมติพรรค กรณี 6 ส.ส.ดาวฤกษ์ ถึง 4 ส.ส.ดาวส้ม "เสี่ยหนู" มีท่าทีต่างกัน หรือมีต้นแบบจาก "โต้งเอฟเฟกต์" คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย.. ขุนน้ำหมึก
++
หลังเกิดกรณี “โหวตแตก” ในศึกซักฟอก ส่งผลให้มีรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคภูมิใจไทย
เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2564 ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส. อ่างทอง ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับกรณี 6 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ โหวตงดออกเสียง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ว่า จากนี้พรรคภูมิใจไทย จะติดตามการสอบสวนของคณะกรรมการของพรรคพลังประชารัฐ ตามระยะเวลา 15 วันที่ตั้งไว้ เพื่อรอดูบทลงโทษและมติของพรรคว่าจะดำเนินการอย่างไร กับ ส.ส.ทั้ง 6 คน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง... ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ แจงงดลงคะแนน รมต.พรรคร่วมฯ คือ การปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.-"มาดามเดียร์"เผยเป็นการรักษามารยาท
ส.ส.โต้ง วันขอโทษเสี่ยหนู โหวตสวนมติพรรค
“ลูกชายเฮียตือ” (สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล) ยังได้อธิบายประเด็น “โหวตสวนมติพรรค” ของ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส. ศรีสะเกษ ซึ่งงดออกเสียง ตอนโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี นั้นเป็นคนละสถานการณ์ ขณะนั้นสถานะของพรรคร่วมรัฐบาลยังไม่เกิดขึ้น จึงไม่มีมติพรรคร่วมรัฐบาล
ที่สำคัญ สัดส่วนการร่วมรัฐบาลของพรรคภูมิใจไทย ในขณะนั้นใช้เพียงเสียง ส.ส.50 เสียง ไม่ใช่ 51 เสียง จึงไม่นับรวมสิริพงศ์
จริงๆแล้ว ใครก็รู้ทั้งสภาฯ เวลานั้น ลูกชายเฮียตือ 2 คนคือ ภราดร ปริศนานันทกุล และกรวีร์ ปริศนานันทกุล รวมทั้งสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ตกเป็นเป้าว่า จะงดออกเสียงให้ พล.อ.ประยุทธ์ มาแต่แรกแล้ว ถึงนาทีสุดท้าย “โต้ง ศรีสะเกษ” ใจถึงกว่า “บอล-แชมป์” คนอ่างทอง
ส.ส.โต้ง และกลุ่มยังบลัดในภูมิใจไทย
++
ไม่เอา คสช.
++
ปรากฏการณ์ “โต้งเอฟเฟกต์” งดออกเสียง สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ไม่โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคภูมิใจไทย ได้ตั้งกรรมการสอบเสี่ยโต้งในกรณีดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนมติพรรค แต่ข่าวก็เงียบไป กระทั่ง “ลูกชายเฮียตือ” ออกมาแถลงวานนี้(23 ก.พ.) จึงทราบกันว่า เสี่ยโต้ง ไม่มีความผิด
การตัดสินใจงดออกเสียงของเสี่ยโต้งในวันนั้น ได้แต้มบวกมหาศาล สำหรับการรักษาฐานเสียงในพื้นที่เขต 1 ศรีสะเกษ เพราะระหว่างหาเสียง เสี่ยโต้ง-สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ไปกราบขอคะแนนจากคนเสื้อแดง ด้วยคำมั่นสัญญาไม่เอา “ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรี จนได้คะแนนท่วมท้น
สมัยที่เสี่ยโต้งยังสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ได้รวมกลุ่มกับลูกชายเฮียตือ ตั้งกลุ่มยังบลัด ปฏิวัติพรรคชาติไทยพัฒนา ชูธงไม่สนับสนุน คสช.
ปลายปี 2561 เสี่ยโต้งกำลังจ่อคิวเป็นเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา ตามสัญญาสุภาพบุรุษกับท็อป วราวุธ แต่ดันเจอกลุ่มผู้อาวุโสหักดิบ ไม่เอากลุ่มยังบลัด เสี่ยโต้งและลูกชายเฮียตือ จึงหอบผ้าหอบผ่อนมาอยู่พรรคภูมิใจไทย
อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในเวลานั้น ก็ทราบดีว่า เสี่ยโต้งคิดอ่านทางการเมืองอย่างไร แต่ด้วยการสรุปบทเรียนจากเลือกตั้งปี 2554 ภูมิใจไทยพ่ายยับ เพราะแสดงตัวเป็นพันธมิตร “3 ป.” ออกหน้าออกตา
เลือกตั้งปี 2562 ภูมิใจไทยยุคหนูอยู่เป็น จึงวางตัวเป็น “พรรคทางสายกลาง” และการได้กลุ่มเสี่ยโต้งเข้ามา ก็ดึงคะแนนคนรุ่นใหม่ให้เลือกพรรคสีน้ำเงินอีกต่างหาก
พูดง่ายๆ ค่ายบุรีรัมย์ ต้องการให้กลุ่มเสี่ยโต้ง แสดงบท “ผู้แทนหัวก้าวหน้า” เหมือน ส.ส.พรรคก้าวไกล เอาใจแฟนคลับรุ่นเยาวชนในต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสาน เพราะเสี่ยโต้ง เป็น “ไอดอลเด็กอีสาน” จากการเป็นนายทุนสร้างหนังไทยชุดไทบ้านเดอะซีรีส์
นี่คือ สิ่งที่ “นายใหญ่บุรีรัมย์” อ่านเกมในวันข้างหน้า ฉะนั้น การงดออกเสียงโหวตนายกฯ จึงจบตรงที่เสี่ยโต้งออกมาขอโทษทุกฝ่าย
กลางปี 2563 ขบวนการนอกสภา นำโดยเยาวชนปลดแอก จัดการชุมนุมใหญ่ เรียกร้องให้นายกฯ ประยุทธ์ ลาออก และแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เสี่ยโต้งกับลูกชายเฮียตือ กระโดดออกมาสนับสนุนข้อเสนอของขบวนการเยาวชนปลดแอกทันที
หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุด ไม่ว่าจะเหตุผลใดในวันข้างหน้า ทีมเสี่ยโต้ง ก็จะเป็นทัพหน้าฝ่ายประชาธิปไตยจ๋า หาแต้มบวกให้เสี่ยหนู
ทนายคารม ผู้ประกาศตัวว่าจะไปพรรคภูมิใจไทย
++
งูเห่าสีส้ม
++
พรรคภูมิใจไทยหรือพรรคสีน้ำเงิน ถือได้ว่า ถูกโฉลกกับพรรคสีส้มเอามากๆ เนื่องจากตอนที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ได้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ส.ส.เขต 9 คน เลือกไปอยู่พรรคภูมิใจไทย แทนที่จะพรรคก้าวไกล
ในวันลงมติซักฟอกรัฐบาล ปรากฏว่า มี ส.ส.พรรคก้าวไกล 4 คน โหวตให้ อนุทิน ชาญวีรกูล จนเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วประเทศ
4 ส.ส.พรรคก้าวไกล แหกมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน โหวตเห็นด้วยกับรองนายกรัฐมนตรี อาจมองว่าเป็น “เอกสิทธิ์ ส.ส.” ที่ตัดสินใจได้ โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่าพรรค
อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกล ได้มีมติลงโทษ 4 ส.ส.ได้แก่ คารม พลพรกลาง , นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ,พีระเดช คำสมุทร และขวัญเลิศ พานิชมาท โดยมีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับพรรค ข้อ 119 กล่าวคือ การตัดสิทธิที่พึงมีในฐานะสมาชิกพรรคการเมือง และการให้พ้นสมาชิกภาพจากพรรคการเมือง
พรรคก้าวไกล เลือกที่จะตัดสิทธิที่พึงมีในฐานะสมาชิกพรรคการเมือง โดยไม่ส่งสมาชิกทั้ง 4 ลงรับสมัครเลือกตั้งครั้งถัดไป และจะดำเนินการตามระเบียบพรรคเพื่อให้ถอด นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ออกจากการเป็นรองเลขาธิการพรรค
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกล ไม่อนุญาตให้สมาชิกทั้ง 4 เข้าร่วมกิจกรรมและไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อพรรคในการทำกิจกรรมต่างๆทางการเมือง
ตอนแรก คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้สัมภาษณ์นักข่าว PPTV ว่า พร้อมจะให้พรรคขับออก และเตรียมจะย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย แต่วันถัดมา “คารม” ให้สัมภาษณ์ใหม่ว่า คนอย่างเขาจะไปอยู่พรรคไหนก็ได้ ไม่ได้ระบุชื่อภูมิใจไทย
เรื่องงูเห่าสีส้ม ไม่มีปฏิกิริยาใดๆออกมาจากแกนนำค่ายสีน้ำเงิน แม้ “คารม” จะพาดพิงชื่อพรรค แต่ก็ไม่กล้าตำหนิทนายคารม
กรณีโหวตงดออกเสียง 2 พรรคคือ 6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ และ 4 ส.ส.กลุ่มดาวสีส้ม พรรคภูมิใจไทยมีท่าทีต่างกัน ทั้งที่สองกลุ่มทำเรื่องเดียวกันคือ ใช้เอกสิทธิ์ ส.ส. “งดออกเสียง” บนพื้นฐานข้อมูลแตกต่างกัน
ฤาถ้อยแถลงจากปากของทนายคารมจะเป็นเรื่องจริง?