คอลัมนิสต์

 ขัง"วันเดียว"ก็ขาด ส.ส. แล้ว...เปิด 3 คดีตัวอย่าง- เทียบจำคุก"กปปส." 

 ขัง"วันเดียว"ก็ขาด ส.ส. แล้ว...เปิด 3 คดีตัวอย่าง- เทียบจำคุก"กปปส." 

05 มี.ค. 2564

เถียงกันไม่ยอมจบกับกรณี 5 ส.ส. "พุทธิพงษ์-ณัฏฐพล-ถาวร-ชุมพล-อิสสระ" คดี กปปส. ว่าขาดสมาชิกภาพหรือยัง หลังจากถูกคุมขังในเรือนจำและภายหลังได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวออกมา.. แต่หากศึกษาจาก"คดีตัวอย่าง"ที่เคยตัดสินวางบรรทัดฐานไว้  ก็จะได้คำตอบที่ชัดเจน

กรณีศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 5 ส.ส.  ประกอบด้วย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์

และ นายอิสสระ สมชัย ส.ส. บัญชีรายขื่อ พรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 64 และส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์ สั่งตามคำร้องขอประกันตัวของจำเลยในคดีชุมนุมของกลุ่ม กปปส.  

ต่อมา 26 ก.พ. 64  ศาลอุทธรณ์  ให้ประกันตัว นายพุทธิพงษ์  นายณัฏฐพล  นายถาวร  นายชุมพล  และนายอิสสระ สรุป แล้วทั้ง 5 คน ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 2 วัน 2 คืน 

ต่อมาสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือมายังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ขอให้ กกต. ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพส.ส. ทั้ง 5 คน มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่ และ กกต. ก็ได้มีมติส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ กรณีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา อย่างคดี กปปส. การที่จะควบคุมตัวหรือขังจำเลยในเรือนจำได้นั้น จะต้องมี“หมายจำคุกจากศาล”  ทางเรือนจำ่จึงจะควบคุมตัวจำเลยไว้ได้ 

และที่จริงเรื่องนี้มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า การที่ทั้ง 5 คน ถูกคุมขังนั้นทำให้ขาด ส.ส. หรือไม่ หากศึกษาจาก“คดีสำคัญ” ที่เคยตัดสินวางบรรทัดฐานไว้แล้ว   

คดีแรก  คดี 3 กกต. พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภกับพวก อันโด่งดัง ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกเนื่องจากจัดการเลือกตั้งไม่ชอบ

วันที่ 25 กรกฎาคม 2549 ศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้น (ศาลเดียวกันกับที่พิพากษาจำคุก 5 ส.ส.ใน คดี กปปส. ) พิพากษาให้จำคุก 3 กกต. คือ พล.ต.อ. วาสนา เพิ่มลาภ  นายปริญญา นาคฉัตรีย์  และนายวีระชัย แนวบุญเนียร กรณีจัดเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตใหม่ในวันที่ 23 เมษายน 2549 โดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมคนละ 4 ปี

และพล.ต.อ. วาสนา นายปริญญา และนายวีระชัย ถูกขังอยู่ในเรือนจำ 3 วัน 3 คืน ก่อนศาลจะให้ประกัน และปล่อยตัวออกมา

รัฐธรรมนูญ 2540  ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น มาตรา 137(4) กำหนดว่า คนที่จะเป็น กกต. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 109 (4) ที่เขียนว่า “ต้องคำพิพากษาจำคุกและถูกควบคุมโดยหมายศาล”

ดังนั้น เมื่อ 3 กกต. ถูกศาลตัดสินจำคุกคนละ 4 ปีและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ โดยถูกคุมขังเป็นเวลา 3 วัน จึงได้ประกันตัวออกมา  กกต.ทั้ง 3 คน พ้นจากตำแหน่งทันทีเมื่อศาลส่งตัวเข้าเรือนจำ ด้วยเหตุขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ(ไม่เกี่ยวกับถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง )

ทั้งนี้เพราะข้อความที่บัญญัติในมาตรา 109(4) ที่เป็นลักษณะต้องห้ามของคนเป็น กกต. คือ “ต้องคำพิพากษาจำคุกและถูกควบคุมโดยหมายศาล” ของรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น

เป็นลักษณะต้องห้ามเดียวกันกับคนเป็น ส.ส. ตามมาตรา 98(6) ที่เขียนว่า "ต้องคําพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล" ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ 

 ดังนั้นเมื่อ ส.ส. ถูกส่งเข้าเรือนจำ เพียง"วันเดียว"ก็หลุดจากตำแหน่งแล้ว

คดีที่สอง  เป็นคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่วางบรรทัดฐานไว้ เกี่ยวกรณี สมาชิกอบต.แห่งหนึ่ง ถูกศาลสั่งจำคุก วันรุ่งขึ้นจึงได้ประกันตัวออกมา แต่นายอำเภอ มีคำสั่งให้ออกจากตำแหน่ง เพราะถูกคุมขังแล้ว ถือว่า ขาดสมาชิกภาพไปแล้ว สมาชิกอบต. คนนั้นจึงร้องต่อศาลปกครองสูงสุด 

ต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินว่า สมาชิกภาพของ อบต.คนนั้นสิ้นสภาพไปตั้งแต่วันที่ถูกคุมขัง แม้ต่อมาจะได้ประกันตัวออกไป ก็ไม่ทำให้การเป็นสมาชิกภาพฟื้นกลับคืนมาได้

คดีดังกล่าวได้แก่ คำพิพากษาปกครองสูงสุดที่ อ. 2162/2559 ที่วินิจฉัยว่า แม้ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ในวันเดียวกัน แต่ศาลแขวงก็มีคำสั่งให้ส่งคำร้องของผู้ฟ้องคดีไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาสั่ง โดยมิได้มีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวผู้ฟ้องคดี และมีหมายลงวันที่ 18 กันยายน 2555 จำคุกผู้ฟ้องคดีไว้ระหว่างอุทธรณ์

แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยผู้ฟ้องคดีชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ศาลแขวงจึงมีหมายลงวันที่ 19 กันยายน 2555 ปล่อยตัวผู้ฟ้องคดีก็ตาม กรณีถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 45(4) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545  

สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้ฟ้องคดีจึงสิ้นสุดลง 

จะเห็นได้ว่า แม้จะเป็นการถูกคุมขังเพียง 1 วัน และต่อมาผู้ฟ้องคดีจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ก็ไม่ทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้ฟ้องคดีซึ่งสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมายกลับฟื้นคืนมาได้แต่ประการใด

(ทั้งนี้ลักษณะต้องห้ามของการเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2545 มาตรา 45 ( 4 ) ก็เขียนไว้เหมือนกับลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส. คือ.. “ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล” )

คดีที่สาม คือ คดีนายจตุพร พรหมพันธุ์  ส.ส.เพื่อไทย ถูกจำคุก ทำให้ขาดการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ส่งผลให้ขาด ส.ส. ไปด้วย

 สืบเนื่องจาก นายจตุพร ถูกฟ้องคดีอาญาในคดีก่อการร้าย ตอนแรกได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองในฐานะ ส.ส.ที่จะไม่ต้องถูกจับกุมคุมขังในระหว่างสมัยประชุม จึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างมีการพิจารณาคดี 

แต่ต่อมามีการยุบสภาผู้แทนราษฎรและให้มีการเลือกตั้งใหม่ ศาลจึงได้มีคำสั่งสั่งเพิกถอนสัญญาประกันและได้ควบคุมตัวนายจตุพรไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ่ในวันที่ 12 พฤษภาคม  2554 และนายจตุพร ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานานก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

ต่อมาประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายจตุพร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่นายจตุพร  ต้องคุมขังโดยหมายศาล ทำให้ขาดการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง  และเมื่อขาดสมาชิกพรรคการเมือง จึงเป็นเหตุให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร( ส.ส. ) สิ้นสุดลงไปด้วย  (เพราะว่า ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง  )

"พุทธิพงษ์ -ณัฏฐพล“  เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ส่วน” ถาวร-ชุมพล -อิสสระ " เป็น ส.ส. และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ 

รัฐธรรมนูญและพ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 60 ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและขาดสมาชิกภาพ ส.ส. ก็เขียนเหมือนกับรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2550

จากทั้ง 3 คดีตัวอย่างที่ยกมา มันชัดเจนพอหรือยัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ส่ง "สุเทพ" - 3 รมต.กับพวกรวม 8 คน เข้าเรือนจำ -เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง-ถูกคุมขัง 5 ส.ส.ขาดสมาชิกภาพ