ส่องเมียนมา วัดใจ '20 กองกำลัง'สู่สงครามประชาชน
คนพม่าเรียกหา "กองทัพประชาชน" ตอบโต้เผด็จการทหาร "20 กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์" เป็นความหวังได้หรือไม่?
สถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนนในเมียนมา ดูเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ หลังมีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามของตำรวจและทหารมากกว่า 70 รายแล้ว มินับการจับกุมผู้ชุมนุมหรือสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี ถูกบังคับให้สูญหาย ถูกทรมาน หรือถูกปฏิบัติอย่างเลวร้าย
ขณะเดียวกัน ประชาชนเมียนมาที่สู้ด้วยมือเปล่า รู้สึกไร้หนทางสู้ จึงเรียกร้องให้ยูเอ็นส่ง “กองกำลังต่างชาติ” เข้ามาปกป้องผู้บริสุทธิ์ให้รอดพ้นจากการปราบปรามเข่นฆ่า
ล่าสุด คณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ (CRPH) ที่เป็นตัวแทน ส.ส.สหภาพ 900 กว่าคนที่ได้รับเลือกจากประชาชน ได้ประกาศแต่งตั้ง มานวินคายตาน (Mann Win Khaing Than) อดีตประธานสภาสูง เป็นรักษาการประธานาธิบดีเมียนมา
มานวินคายตาน ได้กล่าวกับประชาชนเมื่อค่ำวันที่ 13 มี.ค.2564 สรุปได้ว่า การลุกฮือครั้งนี้เป็นโอกาสสำหรับพวกเราทุกคนที่จะร่วมมือกันจัดตั้งสหภาพประชาธิปไตยแห่งสหพันธรัฐ ซึ่งเป็นปณิธานของพี่น้องชาติพันธุ์ทุกคน
เฉพาะหน้า คณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ (CRPH) จะเตรียมการเรื่องรักษาความปลอดภัย และปกป้องประชาชนโดยเร็วที่สุด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ยอดศึก'นำ10 ชาติพันธุ์หยุดเผด็จการทหาร
ชาติพันธุ์ฝ่ายตะวันตก
วันที่ 11-12 มี.ค.2564 เจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ในฐานะรักษาการประธานคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (PPST) ซึ่งประกอบด้วยผู้นำกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ที่เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลเมียนมา ได้จัดประชุมออนไลน์ปรึกษาหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองหลังรัฐประหาร ครั้งที่ 2
เจ้ายอดศึก ผู้นำไทใหญ่ใต้
เจ้ายอดศึก แถลงผลการประชุมที่ไม่ได้แตกต่างจากครั้งแรกมากเท่าใดนัก โดย 10 กลุ่มชาติพันธุ์ ยังสนับสนุนความเคลื่อนไหวของประชาชน ที่ออกมาต่อต้านระบอบเผด็จการ และการเข้ามายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาหรือตั๊ดมะด่อ
นอกจากนี้ 10 กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ได้เตรียมตั้งคณะกรรมการประสานงานกับต่างประเทศ แม้ว่าก่อนหน้านั้น ดร.ซาซ่า ตัวแทนของคณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ (CRPH) ออกข่าวว่า จะขอเข้าพบเจ้ายอดศึก แต่ก็ได้รับการปฏิเสธว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง
1.สภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA) หรือกองทัพไทใหญ่ใต้ มีที่มั่นใหญ่อยู่ดอยไตแลง รัฐฉานตอนใต้ ตรงข้าม จ.เชียงใหม่ ทหารไทใหญ่ใต้ น่าจะมีกำลังพลประมาณ 10,000 นาย
2.สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) แยกเป็น 7 กองพลน้อย ประมาณ 5,000-8,000 นาย กระจายกำลังอยู่ในเขตรัฐกะเหรี่ยง บริเวณแนวชายแดนเมียน-ไทย จากกาญจนบุรี, ตาก และแม่ฮ่องสอน
3.องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ(PNLO) มีที่มั่นอยู่แถวเมืองปั่น แขวงลางเคอ รัฐฉานตอนใต้ มีกำลัง 2,000 คน
4.กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตย หรือกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) มีกำลังประมาณ 5,000 นาย
5.แนวร่วมแห่งชาติชิน(CNF) มีกำลังพล 3,000 นาย เคลื่อนไหวในพื้นที่รัฐชิน
6.แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF) เป็นกองกำลังนักศึกษารุ่น 1988 มีกำลังพลประมาณ 2,000 คน
7.พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP) ไม่ใช่กองทัพอาระกัน (AA) มีที่มั่นอยู่ในรัฐชิน
8.สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC) แยกมาจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง มีกำลัง 3,000 นาย
มูตู เซพอ ผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง
9.พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) อยู่ในรัฐมอญ มีกำลังประมาณ 1,000 นาย
10.สหภาพประชาธิปไตยลาหู่(LDU) มีพื้นที่เคลื่อนไหวใน 9 เมือง รัฐฉานตะวันออก มีกำลังประมาณ 2,000 นาย
ในพื้นที่ภาคใต้ของเมียนมา ยังมีกองกำลังชาติพันธุ์ ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมเจรจาหยุดยิงอีก 1 กลุ่มคือ กองทัพก้าวหน้าแห่งชาติกะยา (KNPP) ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่บนดอยยามู รัฐกะยาหรือรัฐกะเรนนี ตรงข้าม อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
ส่วนกลุ่มกะยาดาวแดง (KNPLF) และกลุ่มกะยาดาวขาว(KNSO) ได้แปรสภาพเป็นกองกำลังป้องกันชายแดน (BGF) ดูแลในพื้นที่รัฐกะยาหรือรัฐกะเรนนี ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน
ชาติพันธุ์ฝ่ายจีน
ระหว่างวันที่ 11-13 มี.ค.2564 กองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) ได้เปิดยุทธการโจมตีค่ายทหารเมียนมา ที่เมืองผาก้าน และเมืองโมก้อง แขวงมิตจีน่า ซึ่งโฆษกกองทัพ KIA แถลงว่า เป็นการตอบโต้กองทัพเมียนมา ที่ใช้กำลังปราบปรามประชาชน
นับว่าเป็นครั้งแรกที่กองทัพเอกราชคะฉิ่น ได้แสดงท่าทีและจุดยืนทางการเมือง ขณะที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ในภาคเหนือ ในนาม “คณะกรรมการเจรจาทางการเมือง” (FPNCC) ยังคงสงวนท่าที ไม่มีปฏิกิริยาใดๆต่อการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของประชาชน
เอ็ม ปาละ ผู้นำองค์กรเอกราชคะฉิ่น
สมาชิกของคณะกรรมการเจรจาทางการเมือง (FPNCC) ประกอบด้วย 1.กองทัพสหรัฐว้า(UWSA) 2.กองทัพเอกราชคะฉิ่น(KIA) 3.กองทัพสัมพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ(NDAA) หรือเมืองลา 4.กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา(MNDAA) หรือโกก้าง 5.กองทัพรัฐฉานก้าวหน้า (SSPP/SSA) หรือไทใหญ่เหนือ 6.กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และ 7.กองทัพอาระกัน (AA)
เปาโหยวเฉียง ผู้นำสหรัฐว้า
ทั้ง 7 กลุ่ม เป็นกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้เซ็นหยุดยิงกับรัฐบาลเมียนมา มีบางกลุ่มที่ได้เซ็นสัญญาในลักษณะหยุดยิง 2 ฝ่าย
เขตปกครองพิเศษของกลุ่ม FPNCC อย่างน้อย 4 กองกำลังนั้น ติดชายแดนเมียนมา-จีน โดยแกนหลักของกลุ่ม FPNCC ในภาคเหนือ ก็คือ เปา โหยวเฉียง ผู้นำสหรัฐว้า และเอ็ม ปาละ ผู้นำองค์กรเอกราชคะฉิ่น ซึ่งมีความสนิทกับจีนเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม สหรัฐว้า และองค์กรเอกราชคะฉิ่น ยังไม่มีคำประกาศอย่างเป็นทางการว่า จะยืนอยู่ฝั่งไหน ระหว่างกองทัพเมียนมา กับพรรคเอ็นแอลดี