คอลัมนิสต์

คน "ชิดชอบ" มหากาพย์เขากระโดง

คน "ชิดชอบ" มหากาพย์เขากระโดง

23 มี.ค. 2564

มหากาพย์เขากระโดง ยืดเยื้อกว่า 20 ปี ตระกูล "ชิดชอบ" เกี่ยวข้องอย่างไร คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย... ขุนน้ำหมึก

++
สัปดาห์ที่แล้ว พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ,นิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ยื่นคำร้องขอให้ ป.ป.ช. ไต่สวนและดำเนินคดี ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีคมนาคม เนื่องจากมีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์พวกพ้องและญาติ กรณีบุกรุกที่ดินรถไฟเขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่กว่า 5,000 ไร่เศษ ซึ่งรัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแล ร.ฟ.ท. กลับไม่เพิกถอนโฉนดตามที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ถือเป็นการจงใจไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง....  เปิดคำร้องข้อกล่าวหายื่น ป.ป.ช.สอบ "ศักดิ์สยาม" เอื้อพวกพ้อง-ญาติ ไม่ถอนโฉนดรุกเขากระโดง

 

คน \"ชิดชอบ\" มหากาพย์เขากระโดง

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ


    

หลังเสร็จศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล พรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ทยอยยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ไต่สวนและดำเนินคดีกับรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหา
    

ในศึกซักฟอกช่วงกลางเดือน ก.พ.ปีนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กรณีที่ดินของการรถไฟเขากระโดง
    

เวลานั้น ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงทันที
    

กล่าวโดยสรุปว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ประชาชนฟ้องการ รฟท. โดยประชาชน 35 รายไปขอออกโฉนด ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาผูกพันเฉพาะที่ดินแปลงที่มีข้อพิพาท และศาลตัดสินว่าพื้นที่ของ 35 คนเป็นของ รฟท. แต่จะไปทึกทักว่าที่ดินรอบๆ แปลงอื่นรอบๆ เป็นของ รฟท. ซึ่งตามหลักธรรมาภิบาลหลักกฎหมายแล้วทำไม่ได้ เพราะต้องงดูเอกสารสิทธิเป็นรายๆ ไป ถือเป็นแนวทางการทำงานของ รฟท.
    

ศุภชัย ใจสมุทร พยายามย้ำว่า อย่าเอาคำพิพากษาดังกล่าวตีความว่าครอบคลุมทุกแปลงซึ่งไม่ใช่ความจริง
    

หากไปค้นข้อมูลเกี่ยวกับตระกูล “ชิดชอบ” กับที่ดินรถไฟเขากระโดง ย้อนหลังไปประมาณ 20 ปี จะพบว่า จะมีข่าวการเปิดปมเรื่องข้อพิพาทที่ดินการรถไฟมาโดยตลอด กลายเป็น “ประเด็นการเมือง” ถึงขั้นมีการฟ้องร้องกันก็หลายคดี

 

คน \"ชิดชอบ\" มหากาพย์เขากระโดง

ทางรถไฟสายเขากระโดง


++
ทางรถไฟเขากระโดง
++
นักท่องเที่ยวที่ไปชมสนามฟุตบอล และสนามแข่งรถที่บุรีรัมย์ จะคุ้นกับชื่อ “เขากระโดง” สัญลักษณ์แห่งเมืองภูเขาไฟ โดยมีปากปล่องภูเขาไฟที่สูงจากระดับน้ำทะเล 230 เมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยว
    

หลายคนคงเคยชมคลิปรถไฟสายเขากระโดง วิ่งผ่านชุมชน และเลียบสนามฟุตบอลช้างอารีน่า นี่คือ ทางรถไฟสายบุรีรัมย์–เขากระโดง หรือทางแยกเขากระโดง 
    

ทางแยกเขากระโดงเป็นเส้นทางรถไฟขนส่งหินระยะสั้น ในเขต อ.เมืองบุรีรัมย์ เริ่มจากสถานีรถไฟบุรีรัมย์ไปยังลานเก็บกองหินเขากระโดง โดยหินดังกล่าวจะใช้สำหรับโรยทางของกิจการรถไฟ 
    

เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว มีการก่อสร้างทางรถไฟจากนครราชสีมาจนถึงอุบลราชธานี จึงมีการประกาศพระราชกฤษฎีเขตที่ดินสร้างทางรถไฟ กำหนดให้ที่ดินบริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เป็นแหล่งผลิตศิลา เพื่อนำไปสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ 
    

ด้วยเหตุนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงเป็นเจ้าของที่ดินสองข้างทางรถไฟสายเขากระโดง ซึ่งระยะหลังๆ มีประชาชนบุกรุกที่ดินบ่อยครั้ง และพื้นที่บางส่วนการรถไฟได้เปิดให้ประชาชนเช่าใช้
    

ที่ดินของการรถไฟสายเขากระโดง อยู่ในเขตการปกครองของ ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งปัจจุบัน เป็นเขตเทศบาลตำบลอิสาณ 
    

คน \"ชิดชอบ\" มหากาพย์เขากระโดง

เนวิน ชิดชอบ

 

60 ปีที่แล้ว ชัย ชิดชอบ โยกย้ายครอบครัวจากสุรินทร์ มาตั้งรกรากที่เมืองบุรีรัมย์ ได้รับเลือกเป็นกำนัน ต.อิสาณ อยู่หลายปี ก่อนจะลาออกไปเล่นการเมือง ต่อมา กำนันชัยขอประทานบัตรระเบิดหินในเขตเขากระโดง ป้อนโรงโม่หินศิลาชัย 1991 อันเป็นธุรกิจในครอบครัว 
    

เมื่อกำนันชัย เป็น ส.ส.บุรีรัมย์ ก็มักเจอคู่แข่งทางการเมือง นำประเด็นที่ดินการรถไฟฯ เขากระโดงมาโจมตีอยู่เป็นระยะๆ 


++
การเมืองเขากระโดง
++
เลือกตั้งทั่วไป 2535/1 กำนันปั้นลูกชาย เนวิน ชิดชอบ เป็น ส.ส.สมัยแรก และเป็น ส.ส.อีก 2-3 สมัย เนวินก็เปลี่ยนจาก ส.ส.บ้านนอก เป็น “ดาวสภา” และขยับเป็นรัฐมนตรี 
    

ปี 2544 สมัยรัฐบาลทักษิณ ภาคแรก เนวินยังสังกัดพรรคชาติไทย ส่ง นที ขลิบทอง เป็นรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ แทนตัวเอง และช่วงปลายรัฐบาล มีข่าวเนวินจะกลับมานั่งเก้าอี้ รมช.เกษตรฯแทนนที ก็เจอการตรวจสอบแบบเข้มข้น มีภาคประชาชนบุรีรัมย์เริ่มคุ้ยปมการครอบครองที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งเวลาต่อมา เนวินย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย และกลายเป็นมือทำงานให้ทักษิณ เรื่องที่ดินเขากระโดงก็เงียบหายไป  
    

ถัดมา ยุครัฐบาลพลังประชาชน อลงกรณ์ พลบุตร สมัยเป็นประธานคณะทำงานตรวจสอบทุจริตของพรรคประชาธิปัตย์ ได้เกาะติดเรื่องนักการเมืองบุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดง จนมีเรื่องฟ้องร้องกับเนวิน ชิดชอบ อยู่หลายปี
    

ในวันที่ทีมงานภูมิใจไทย และข้าราชการกระทรวงคมนาคม ออกมาแถลงชี้แจงประเด็นที่ดินการรถไฟฯ ซึ่งถูกนำไปอภิปรายในสภาฯ ศุภชัย ใจสมุทร ที่รับเป็นทนายความคดีหมิ่นประมาทให้เนวิน ชิดชอบ กรณีพิพาทเขากระโดงช่วงปี 2550 จึงขมวดไปที่ประเด็น “ที่ดินของประชาชนตรงนั้นหลายร้อยครอบครัว มีการออกเอกสารสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีหลักฐาน รฟท.รับรองแนวเขต ดังนั้น อย่าพยายามทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าที่ดินทุกแปลงที่นั่นเป็นที่ดินของ รฟท.และครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
    

สำหรับกรณี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และคณะฝ่ายค้าน ยื่นคำร้องขอให้ ป.ป.ช. ไต่สวนและดำเนินคดี ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีคมนาคม เรื่องจะจบแบบเนวิน ชิดชอบ หรือไม่? ก็ต้องติดตามกันต่อไป