รู้จัก KNU กองพล 5 ปริศนาข้าวทิพย์
จับตากะเหรี่ยงสายแข็ง กองพลที่ 5 ตัวแปร "กองทัพสหพันธรัฐ" หลังเบรกการส่งเสบียงทหารเมียนมา
กรณีสำนักข่าวชายขอบ อ้างแหล่งข่าวด้านความมั่นคงว่า มีกลุ่มคนฝั่งไทยจำนวนหนึ่งได้จัดส่งมอบข้าวสารและเสบียงอาหารให้แก่กองกำลังทหารเมียนมา ที่ตั้งที่ฐานปฏิบัติการอยู่ในรัฐกะเหรี่ยงบริเวณริมแม่น้ำสาละวิน โดยเป็นข้าวสารจำนวนอย่างน้อย 700 กระสอบ
โดยข้าวสารจำนวนดังกล่าว อยู่ในพื้นที่ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งในตอนแรก ไม่มีผู้ใดแสดงความเป็นเจ้าของข้าวสาร ทั้งทหารเมียนมา และทหารกะเหรี่ยง ต่อมา ฝ่ายทหารเมียนมา เขต จ.ผาปูน ก็ยอมรับว่า เป็นเสบียงอาหารของทหารเมียนมา ที่ถูกส่งมาให้ทหารที่ประจำการแถวนั้น
เหตุที่ทหารเมียนมา ไม่ยอมมาขนข้าวสารไป เพราะนายพาโดมานมาน โฆษกสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) ประจำกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) กองพลน้อยที่ 5 พื้นที่ จ.ผาปูน หรือมูตรอ (Mutraw) ได้ออกคำประกาศกรณีกองทัพเมียนมาภาคตะวันออกเฉียงใต้ ได้ส่งข้าวสาร 700 กระสอบ พร้อมด้วยเนื้อกระป๋อง น้ำมันพืช และใบชาแห้งถูกลำเลียง โดยรถยนต์บรรทุกจาก อ.แม่สอด จ.ตาก ไปส่งที่ริมชายหาดแม่น้ำสาละวิน ด้าน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ทั้งนี้เพื่อส่งให้ทหารเมียนมาตามฐานปฏิบัติการริมแม่น้ำสาละวินนั้น ทางกองพลน้อยที่ 5 จะไม่รับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น หากเสบียงอาหารทั้งหมดผ่านไปยังพื้นที่ของ KNU
พูดง่ายๆว่า ถ้าทหารเมียนมา มาขนเสบียงจากริมฝั่งสาละวิน ก็จะผ่านพื้นที่ของ KNLAกองพลน้อยที่ 5 ซึ่งทหารกะเหรี่ยงไม่ยอมให้ผ่านอยู่แล้ว ดังคำประกาศข้างต้น
กองพลน้อยที่ 5 จัดงานวันปฏิวัติกะเหรี่ยง เมื่อปลายเดือน ม.ค.64
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
รบสิบทิศ76 ปี 'ตั๊ดมะด่อ'ผ่า 6 กองทัพภาค
KNU สายแข็ง
ดังที่ทราบกัน สภาพการนำภายในสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกนำโดย KNLA กองพลน้อยที่ 7 จ.ผาอัน มี พล.อ.มูตูเซพอ ตู เซพอ ซึ่งเป็นฝ่ายริเริ่มการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลเต็งเส่ง มาตั้งแต่ปี 2555
กลุ่ม KNLA กองพลน้อยที่ 7 ตัดสินใจเจรจาสันติภาพ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในรัฐกะเหรี่ยงจะต้องร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมา รวมทั้งปฏิรูปทางเศรษฐกิจในพื้นที่
ด้านกลุ่ม KNLA กองพลน้อยที่ 5 จ.ผาปูน หรือ จ.มูตรอ นำโดยนอว์ซิปโปรา เส่ง รองประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง โดยแกนนำสำคัญในกลุ่มนี้คือ พล.ท.บอจ่อแฮ รองผู้บัญชาการ KNLA ซึ่งเคยเป็นผู้บัญชาการ KNLA กองพลน้อยที่ 5
กลุ่มกองพลน้อยที่ 5 ไม่ไว้ใจในการร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมา และเรียกร้องให้เมียนมาเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และร่วมมือกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ลี้ภัยไปต่างประเทศ
ทหารกะเหรี่ยงกองพลน้อยที่ 5
ทหารหญิงกะเหรี่ยง
อย่างไรก็ตาม กองพลน้อยที่ 5 ได้ร่วมลงนามหยุดยิง ช่วงที่พรรคเอ็นแอลดีเป็นรัฐบาลในปี 2559 เพราะประเมินว่า อองซานซูจี จะผลักดันให้แผนสันติภาพมีความคืบหน้า
เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2564 ตรงกับวันครบรอบปีที่ 72 ของการปฏิวัติกะเหรี่ยง KNLA กองพลน้อยที่ 5 ได้จัดงานเฉลิมฉลอง ในพื้นที่หมู่บ้านทีลอ ซิ ท่า อ.แดวโล จ.มือตรอ
พล.ต.จอ มื่อ ผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 5 กล่าวว่า ภายใต้ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ เรามีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมือง ด้วยการพูดคุย ด้วยแนวทางทางการเมือง แต่ไม่คืบหน้า เพราะรัฐบาลเมียนมา ไม่เปิดโอกาสให้ได้พูดคุยและพัฒนาแนวทางสันติภาพอีก
หลัง พล.อ.อาวุโสมิน อ่องหล่าย ก่อการรัฐประหาร ชาวกะเหรี่ยงใน จ.มือตรอ หรือ จ.ผาปูน ได้จัดการชุมนุมต่อต้านเผด็จการ โดยการสนับสนุนของ KNLA กองพลน้อยที่ 5
ขณะที่พรรคเอ็นแอลดี พยายามแสวงหาความร่วมกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ เพื่อยุติระบอบการปกครองโดยกองทัพเมียนมา ปรากฏว่า สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ให้การตอบรับข้อเสนอจากพรรคเอ็นแอลดี ด้วยความกระตืนรือล้น
ตัวแทนของพรรคเอ็นแอลดี กำลังขายฝันเรื่อง “กองทัพสหพันธรัฐ” ต่อกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ เพื่อต่อกรกับทหารเมียนมา และปกป้องประชาชนให้พ้นเงื้อมมือเผด็จการ
น่าจับตา KNLA กองพลน้อยที่ 5 อาจเป็นกองกำลังสหพันธรัฐชุดแรกๆ ที่ร่วมกับประชาชนเมียนมาลุกฮือล้มการปกครองเผด็จการทหาร