คอลัมนิสต์

 ปราบสิบทิศวันตั๊ดมะด่อชาติพันธุ์เงียบ

ปราบสิบทิศวันตั๊ดมะด่อชาติพันธุ์เงียบ

27 มี.ค. 2564

วันกองทัพพม่า "รัสเซีย" มาให้กำลังใจ "มินอ่องหล่าย" แต่ไร้เงา "จีน" เกิดอะไรขึ้น คอลัมน์ .. ท่องยุทธภพ โดย .. ขุนน้ำหมึก

++
    วันเสาร์ที่ 27 มี.ค.2564 เป็นวันกองทัพเมียนมา หรือวันตั๊ดมะด่อ ครบรอบ 76 ปี การขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกจากประเทศ ซึ่งปีที่แล้ว การสวนสนามวันกองทัพเมียนมา ครบ 75 ปี ได้ถูกยกเลิกโดยกะทันหัน เพราะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรก 
    สำหรับปีนี้ สถานีโทรทัศน์ช่อง MWD ของกองทัพเมียนมา และ MRTV ถ่ายทอดสดการแสดงแสนยานุภาพกองทัพเมียนมา ณ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ขณะที่สื่อออนไลน์เมียนมา รายงานข่าวการชุมนุมประท้วงเผด็จการทหารเมียนมาในทั่วประเทศ
    แม้ยอดผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมจะพุ่งถึง 300 กว่าศพ แต่คนหนุ่มสาวทุกชาติพันธุ์ ก็ยังเดินหน้าจัดการชุมนุมประท้วงต่อเนื่อง
    ด้าน พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานสภาบริหารภาครัฐ (SAC)  กล่าวในวันกองทัพเมียนมาว่า กองทัพจะร่วมมือกับทั้งประเทศเพื่อปกป้องประชาธิปไตย และว่าทางการจะปกป้องประชาชน และฟื้นคืนสันติภาพให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ

ปราบสิบทิศวันตั๊ดมะด่อชาติพันธุ์เงียบ

มินอ่องหล่าย ในวันกองทัพเมียนมา 
    มีข้อสังเกตว่า กองทัพเมียนมา ได้ออกหนังสือเชิญตัวแทนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 10 กลุ่มที่ลงนามหยุดยิงและเข้าสู่กระบวนสันติภาพ มาร่วมงานวันกองทัพเมียนมา แต่ปรากฏว่า ไม่มีตัวแทนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เข้าร่วมแต่อย่างใด

++
รัสเซียมา-จีนไม่มา
++
    เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2564 พล.อ.อาวุโสมิน อ่องหล่าย ประธานสภาบริหารภาครัฐ(SAC) ได้ให้การต้อนรับนายพลอเล็กซานเดอร์ โฟมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม สหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งเดินทางมาเข้าร่วมชมพิธีสวนสนามแสดงแสนยานุภาพของกองทัพเมียนมา 
    ระหว่างที่อยู่ในกรุงเนปิดอว์ อเล็กซานเดอร์ โฟมิน รมช.กลาโหม รัสเซีย กล่าวว่า "เมียนมาเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่เชื่อถือได้ของรัสเซียในเอเชีย"
    เป็นที่ทราบกันดีว่า กองทัพรัสเซียกับกองทัพเมียนมา มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และพล.อ.อาวุโสมินอ่องหล่าย เดินทางไปรัสเซียบ่อยครั้ง รวมถึงส่งนักเรียนนายร้อยทหารไปศึกษาต่อที่รัสเซีย

ปราบสิบทิศวันตั๊ดมะด่อชาติพันธุ์เงียบ

มหามิตรรัสเซีย ยืนเคียงข้างกองทัพเมียนมา
    ก่อนหน้าการยึดอำนาจ วันที่ 21 ม.ค.2564 นายพลเซอร์เอก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมสหพันธรัฐรัสเซีย เดินทางมาเยือนสหภาพเมียนมาอย่างเป็นทางการ
    ปีที่แล้ว พล.อ.อาวุโสมินอ่องหล่าย ได้ไปร่วมงานวันแห่งชัยชนะ (Victory Day) ครบรอบ 75 ปี ที่กรุงมอสโก ตามคำเชิญของรัฐมนตรีกลาโหม รัสเซีย
    สิ่งที่น่าคิดจากวันกองทัพเมียนมา ที่มีภาพนายพลรัสเซียเดินทางมาเยือนเนปิดอว์ ขณะที่กองทัพจีนไม่ได้ส่งนายพลคนไหนมา มีเพียงแต่นักการทูตจีนที่มาร่วมงานเท่านั้น

++
ฝันทัพสหพันธรัฐ
++
    นับแต่วันที่ 1 มี.ค.2564 คณะกรรมการผู้แทนสภาสหภาพ(CRPH) ฝ่ายพรรคเอ็นแอลดี มีประกาศให้สภาบริหารภาครัฐ (SAC) และกองทัพเมียนมา เป็นกลุ่มก่อการร้าย ตามกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของเมียนมา
    จากนั้น วันที่ 17 มี.ค.2564 คณะกรรมการผู้แทนฯ (CRPH) ได้ประกาศว่ากองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในเมียนมา ไม่ใช่องค์กรก่อการร้าย แต่เป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถนำกำลังเข้ามาในพื้นที่ต่างๆ เพื่อปกป้องประชาชนที่กำลังถูกกองทัพเมียนมาทำร้ายได้
    ดร.ซาซ่า ตัวแทนของคณะกรรมการผู้แทนฯ (CRPH) ได้พยายามพูดคุยกับตัวแทนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ เพื่อรวมกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม เป็นกองทัพเดียว ในนาม “กองทัพสหพันธรัฐ” ต่อสู้กับเผด็จการเมียนมา

ปราบสิบทิศวันตั๊ดมะด่อชาติพันธุ์เงียบ

 

ปราบสิบทิศวันตั๊ดมะด่อชาติพันธุ์เงียบ

กองทัพเมียนมา แสดงแสนยานุภาพ
    เท่าที่ติดตามข่าวสาร ความฝันเรื่อง “กองทัพสหพันธรัฐ” ยังดูห่างไกล เพราะมีเพียงตัวแทนสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) และสหภาพแห่งชาติกระเหรี่ยง (KNU) เท่านั้น ที่ดูจะเอาจริงเอาจังกับแนวคิดดังกล่าว
    ขณะที่กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ทางภาคเหนือ อย่างพรรคสหรัฐว้า (UWSP) และองค์กรเอกราชคะฉิ่น (KIO) ที่จัดว่าเป็นกองทัพที่มีศักยภาพในการสู้รบมากที่สุด ยังสงวนท่าที และไม่ได้พูดคุยกับ ดร.ซาซ่า โดยตรง
    เฉพาะองค์กรเอกราชคะฉิ่น (KIO) ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนการชุมนุมประท้วงโดยสันติของประชาชน และไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมา 
    ด้านประชาคมว้า 10 กลุ่ม ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้พรรคสหรัฐว้าและกองทัพสหรัฐว้า (UWSP/UWSA) ว่า อย่านิ่งเฉยต่อการกระทำของกองทัพเมียนมา ที่ปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วยอย่างหนัก โดยภาคประชาสังคมว้า ได้เรียกร้องกองทัพว้า ให้เลือกยืนข้างประชาชนชาวว้าและประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ 
    สรุปว่า กองทัพสหพันธรัฐ ยังต้องรอเวลา รอความสุกงอม และรอสัญญาณจากมหาอำนาจที่เป็น “พี่เลี้ยง” ขาใหญ่ภาคเหนือ