คอลัมนิสต์

 นี่ไง 'กำนันกี'เปลี่ยนสระแก้ว ไร้เงาเจ้าพ่อวังน้ำเย็น

นี่ไง 'กำนันกี'เปลี่ยนสระแก้ว ไร้เงาเจ้าพ่อวังน้ำเย็น

27 มี.ค. 2564

สระแก้วโฉมใหม่ ยุค "กำนันกี" จับมือคนรุ่นใหม่ ล้างภาพจำเจ้าพ่อวังน้ำเย็น

++
    นับจากวันนี้ไป ผู้คนคงรู้จักชื่อ “กำนันกี” ขวัญเรือน เทียนทอง นายก อบจ.สระแก้ว มากขึ้นเพราะเธอคือมารดาของ ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 
    “กำนันกี” ของชาวสระแก้ว ในวัย 76 ปี ได้ตัดสินใจลงสมัครนายก อบจ.สระแก้ว โดยตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา คนในตระกูล “เทียนทอง” ได้เข้ามาบริหาร อบจ.สระแก้ว ติดต่อกันมา 5 สมัย
    “ดิฉันทำใจ มาตั้งแต่แรกที่ตัดสินใจลงสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้วในครั้งนี้แล้วว่า "นามสกุล" จะเป็นหนึ่งในเป้าหมายการโจมตีตัวดิฉัน และข้ออ้างที่จะหยิบมาใช้เรียกคะแนนเสียงคงหนีไม่พ้น "การเปลี่ยนหน้า" ให้คนใหม่ๆ เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้บ้าง”
    ดังนั้น กำนันกี จึงใช้คำขวัญว่า “ครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิม” แม้ว่าจะนามสกุล “เทียนทอง” แต่ก็เป็นเทียนทองยุคใหม่ ที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วม "ไม่ผูกขาด" แบบที่มีใครต่อใครวิพากษ์วิจารณ์

นี่ไง \'กำนันกี\'เปลี่ยนสระแก้ว ไร้เงาเจ้าพ่อวังน้ำเย็น

นายก อบจ.สระแก้ว โปรโมตแหล่งท่องเที่ยวสระแก้ว

++
กำนันยุคสงครามเย็น
++
    เสนาะ เทียนทอง นักการเมืองอาวุโสชาวสระแก้ว มีน้องชาย 2 คนคือ วิทยา เทียนทอง และพิเชษฐ์ เทียนทอง โดยวิทยาเล่นการเมืองมากับพี่ชาย แต่พิเชษฐ์ลุยงานด้านธุรกิจอย่างเดียว
    พิเชษฐ์มีภรรยาชื่อ “ขวัญเรือน” คนวัฒนานครเหมือนกัน ห้วงเวลาที่สระแก้วยังเป็นส่วนหนึ่งของ จ.ปราจีนบุรี เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ยังเป็นยุคสงครามเย็น หรือยุคสงครามเขมร 4 ฝ่าย มีชาวเขมรอพยพอยู่แถวชายแดนไทย-กัมพูชา นับแสนคน
    ขวัญเรือน น้องสะใภ้เสนาะ เป็นกำนัน ต.วัฒนานคร ซึ่งเธอได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “คุณแม่ลูกสี่ เกิดและโตที่วัฒนานคร เข้าสู่เส้นทางการเมืองครั้งแรกในบทบาทกำนันที่ตำบลบ้านเกิด "กำนันกี" คือชื่อเล่นและชื่อเรียกที่พี่น้องชาวสระแก้วเรียกขานอย่างติดปาก”
    วัฒนานคร เป็นอำเภอเล็กๆ อยู่ไม่ไกลจาก อ.อรัญประเทศ ตระกูล “เทียนทอง” จึงขยายฐานธุรกิจ จากวัฒนานครไปชายแดนอรัญฯ

นี่ไง \'กำนันกี\'เปลี่ยนสระแก้ว ไร้เงาเจ้าพ่อวังน้ำเย็น

กำนันกี สมัยสระแก้ว วัฒนานคร ยังเป็นอำเภอชายแดน

    “ช่วงนั้นการทำมาค้าขายเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีผู้อพยพเข้ามาเป็นเรือนแสน หนีร้อนมาพึ่งเย็นที่บ้านเรา เมื่อสงครามยุติลง ความเป็นเมืองจึงเริ่มเกิดขึ้น ที่เคยเป็นป่าเป็นเขาก็ได้รับการบุกเบิก ทำถนน ลงเสาไฟฟ้า ติดตั้งน้ำประปา ฯลฯ จนกลายเป็นสระแก้ว แบบที่เราอยู่กันไม่กี่สิบปีมานี้เองค่ะ”
    วันที่ 1 ธ.ค.2536 เป็นวันที่ยกระดับสระแก้ว จากอำเภอหนึ่งของ จ.ปราจีนบุรีขึ้นเป็นจังหวัดที่ 74 ของประเทศไทย “เราเป็นเมืองด่านหน้าที่คอยตรวจคน สินค้าเข้า-ออก ชายแดนไทย-เขมรมานานก่อน จะมีตลาดโรงเกลือเป็นร้อยๆ ปีค่ะ แต่กระนั้น ด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ทำให้พื้นที่ของเราเป็นเสมือน "กันชน" ให้กับเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ชั้นในของประเทศไปอีก”
    กำนันกี บอกเล่าเรื่องราวของสระแก้วในอดีต ด้วยการเป็นหัวเมืองชายแดน สระแก้วจึงกลายเป็น “เมืองทหาร” ไปโดยปริยาย 

++
บุกเบิกวังน้ำเย็น
++
    สมัยที่เขาฉกรรจ์ และวังน้ำเย็น ยังเป็นป่าดิบดงดำ มีนักแสวงโชคจากทั่วไทย เข้ามาหักล้างถางพงทำไร่ข้าวโพด “กำนันกี” ในฐานะตัวแทนตระกูลเทียนทอง ก็เข้าไปดูแล “ลูกไร่” จนรู้จักมักคุ้นกับชาวบ้านแถวนั้นเป็นอย่างดี
    เมื่อเสนาะ เทียนทอง เป็น รมช.เกษตรฯ สมัยรัฐบาลเปรม ได้ส่งเสริมให้ชาววังน้ำเย็น เลี้ยงโคนม แทนการทำไร่ข้าวโพด และกลายเป็นสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น ที่มีชื่อเสียงในวันนี้ 
    สมัยเลี้ยงโคนม “กำนันกี” จับมือ “กำนันอำนวย” ช่วยกันผลักดันจนชาวบ้านประสบความสำเร็จในการเลี้ยงโคนม
    ว่ากันตามจริง ระยะหลัง “เสนาะ เทียนทอง” ไม่ได้ดูแลทุกข์สุขชาวบ้านในพื้นที่ เพราะมอบหมายให้กำนันกีเป็นตัวแทน ในนามบ้านใหญ่สระแก้ว
    เมื่อวันที่ตัดสินใจนำลูก 2 คนคือ ฐานิสร์และตรีนุช มาอยู่พรรคพลังประชารัฐ ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตการเมืองของกำนันกี แต่ก็จำเป็นต้องเลือก เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

นี่ไง \'กำนันกี\'เปลี่ยนสระแก้ว ไร้เงาเจ้าพ่อวังน้ำเย็น

กำนันกี กับลูกสาว ตรีนุช เทียนทอง 

    หลังส่งลูกสาวลูกชายไปสภาฯ สำเร็จ ก็ถึงวันที่ต้องตัดสินใจเล่นการเมืองท้องถิ่น กำนันกีก็เลือกที่จะลงสมัครนายก อบจ.สระแก้ว โดยสัญญากับคนสระแก้วว่า ครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิม
    หากส่องเฟซบุ๊คกำนันขวัญเรือน เทียนทอง ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีของชาวสระแก้ว ที่มีนายก อบจ.วัย 76 ปี ที่กระฉับกระเฉง และมีทีมงานคนรุ่นใหม่ที่แข็งขัน