"พปชร."ชิงธงนำแก้รธน. ฆ่าพรรคเล็ก-เพิ่มอำนาจสส.ของบฯได้
"พปชร."ชิงธงนำแก้รธน. ฆ่าพรรคเล็ก-เพิ่มอำนาจสส.ของบฯได้ คอลัมน์... วิเคราะห์การเมืองร้อน
ระหว่างที่ 3 พรรคอย่าง ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา กำลังสาละวนกับการหารือเพื่อตั้งไข่ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราอยู่นั้น
ปรากฎว่า พลังประชารัฐ (พปชร.) ชิงธงนำมาก่อนด้วยการเตรียมเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา จะยื่นต่อประธานสภาในวันที่ 7 เมษายน นี้
สาระสำคัญหลักๆ ของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของ พปชร. อาทิ การแก้ไขให้ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว ได้ง่ายขึ้น ด้วยการแก้ไขมาตรา29
นัยว่าประเด็นนี้ต้องการจะเอาใจบรรดา "แกนนำม็อบราษฎร" ที่ถูกคุมขังในเรือนจำ
แต่สิ่งที่ซ่อนเอาไว้ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมของ พปชร.คือ ผลประโยชน์ของนักการเมืองและพรรคการเมือง
อาทิ การตัดระบบไพร์มารี่โหวตทิ้ง ยกให้เป็นอำนาจของ กรรมการบริหารในการเลือกคนลงสมัคร ส.ส. การให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ให้มี ส.ส.เขต 400 เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน
โดยให้มีการนับคะแนนแบบใหม่ คือคะแนน ส.ส.เขตไม่ต้องนำไปรวมกับคะแนนพรรค และการคิดคำณวนคะแนนพรรค สมมุติ มีคนมาใช้สิทธิ์ 30 ล้านคน ก็เท่ากับ คะแนน 300,000 คะแนน จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน
ที่สำคัญคือ จะบังคับให้พรรคการเมืองต้องส่ง ส.ส.เขตไม่ต่ำกว่า 100 เขตขึ้นไป จึงจะมีสิทธิ์ได้รับการคำณวนคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
วิธีการเช่นนี้เท่ากับเป็นการคุมกำเนิดหรือฆ่าพรรคการเมืองเล็กไปทันที ใครที่ใช้ยุทธวิธีแตกพรรคหรือแตกแบงก์พัน จะไม่ได้ประโยชน์ มันตรงกันข้ามกับรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ที่ให้โอกาสพรรคเล็กเพราะทุกคะแนนมีค่าไม่มีทิ้งน้ำ
แต่การแก้ไขของ พปชร.นั้นให้พรรคการเมืองใหญ่ได้เปรียบเหมือนในอดีต เท่ากับว่าพรรค พปชร. พรรคเพื่อไทย จะได้เปรียบในการเลือกตั้งใหม่
จะทำให้มีรัฐบาลผสมเพียงไม่กี่พรรค จากเดิมที่รัฐบาลผสมปัจจุบันมีถึง 19 พรรคการเมือง หากไม่ตัดพรรคไทยศิวิไลซ์ออกไปก็จะมีถึง 20 พรรค
ฉะนั้นบรรดานักการเมืองที่คิดจะออกมาตั้งพรรคเอา ส.ส. 5-10 คน เพื่อหวังจะไปร่วมรัฐบาล จะไม่ได้ประโยชน์จากร่างของ พปชร.
ยังไม่หมด พปชร.ยังเสนอแก้ไข เพิ่มอำนาจให้ ส.ส.ด้วยการเสนอแก้มาตรา144 ที่ ส.ส.ไม่สามารถไปของบประมาณจากหน่วยงานรัฐได้ แก้ใหม่เป็นให้อำนาจ ส.ส.สามารถของบประมาณจากหน่วยงานรัฐได้ โดยไม่มีความผิด
โดยอ้างว่าที่ผ่านมา ส.ส.ทำงานไม่ได้เพราะไม่สามารถจัดสรรงบลงพื้นที่เลือกตั้ง ทำให้การพัฒนาท้องถิ่นล่าช้า นอกจากนี้ยังแก้ให้ ส.ส.สามารถสั่งการหน่วยงานราชการเพื่อให้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ ซึ่งจากของเดิมไม่ได้ให้อำนาจตรงนี้เอาไว้
อย่างไรก็ตาม ร่างแก้ไขของ พปชร. ไม่แตะอำนาจของ ส.ว. เพราะมองว่าอีก 3 ปี อำนาจของ ส.ว.ก็หมดไป โดยมุ่งหวังสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง จะได้มีรัฐบาลผสมไม่เกิน 3 พรรค
ในขณะที่ 3 พรรคอย่างประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา มุ่งแก้อำนาจของ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่ผ่านการพิจารณาเพราะกระบวนการแก้ไข ยังให้ ส.ว.เข้ามามีอำนาจเกี่ยวข้อง
จากนี้ไปต้องจับตาเกมแก้รัฐธรรมนูญให้ดี เพราะเมื่อกติกาที่ พปชร.ต้องการเสร็จสิ้น นายกฯจะตัดสินใจยุบสภาเพื่อไปเลือกตั้งใหม่ทันที.