ไฟโควิดลามไหม้รู'หนู' อยู่ยาก
โควิดระลอก 3 ก่อวิกฤตสาธารณสุข เตียงไม่พอ ยาจะไม่มี วัคซีนมาช้า "เสี่ยหนู" จะรับผิดชอบอะไรบ้าง คอลัมน์ .. ท่องยุทธภพ โดย .. ขุนน้ำหมีก
เสียงสวดชยันโตรัฐบาลดังหนักขึ้นทุกวัน เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ไม่ลดระดับความรุนแรง ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งทะลุสองพัน
มิหนำซ้ำ ปัญหาการประสานจัดหาสถานที่รักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อรายใหม่ ไม่เพียงพอ ไม่ทันต่อความต้องการของผู้ป่วย เกิดมีดราม่ามากมายในสื่อโซเชียลล่าสุด วันที่ 23 เม.ย.2564 แฟนเพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้โพสต์ข้อความกรณีอาม่า 3 คน ติดโควิดตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. จนถึง 22 เม.ย. ยังไม่มีใครเข้าช่วยเหลือ และเกิดมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 คน กรณีอาม่าสร้างความเศร้าสะเทือนใจคนทั้งแผ่นดิน
การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 แพร่กระจายขยายเป็นวงกว้าง จากคลัสเตอร์ผับ บาร์ คาราโอเกะ ลุกลามไปยังคณะรัฐมนตรี ,ทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา ซึ่งมีอัตราการแพร่เชื้อเร็วและรุนแรงกว่าปีที่แล้ว
“อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะแม่ทัพใหญ่ฝ่ายการเมืองของกองทัพสาธารณสุขไทย ถูกตั้งคำถามมากมาย เรื่องเตียงคนไข้ไม่เพียงพอ ,การประสานงานล้มเหลว รวมไปถึงเรื่องบริหารจัดการวัคซีน
รัฐมนตรีสาธารณสุข ผู้ที่เคยประกาศอย่างทะนงองอาจว่า การสาธารณสุขเรารับมือไหวกับโควิดทุกสายพันธุ์ บอกผู้สื่อข่าวว่า ระบบสาธารณสุขทั่วประเทศสามารถคุมสถานการณ์ได้ หากผ่านพ้นวงรอบการระบาดเดือน เม.ย.นี้ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ คาดว่าจะกลับเป็นปกติ
ประเด็นร้อน “วัคซีนโควิด” ทำเอารัฐบาลประยุทธ์เป๋ไปทั้งองคาพยพ วันก่อน “เสี่ยหนู” ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ตนจะพบกับตัวแทนจากไฟเซอร์ บริษัทยาสัญชาติสหรัฐฯ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเจรจาให้ผู้ผลิตรายนี้ส่งมอบวัคซีนให้ไทยได้เร็วที่สุด
“จะให้กราบเขาเพื่อให้ส่งได้เร็วที่สุด ก็จะทำ” ถ้อยวลีนี้ ถูกแชร์ไปมากมายในโซเชียล และค่อนข้างเป็นลบแก่รัฐมนตรี
เนื่องจาก “เสี่ยหนู” ได้ให้สัมภาษณ์สื่อเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนมาแต่ปีที่แล้ว ด้วยความมั่นอกมั่นใจว่า เราจัดหาวัคซีนได้เพียงพอแน่ แต่ถึงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน เราก็มีวัคซีนจำนวนไม่มาก กระทั่งภาคเอกชนต้องมากระตุ้นรัฐบาลให้เร่งจัดหาวัคซีนโควิดมาโดยเร็ว
คำว่า “วัคซีนเสรี” ที่ฝ่ายค้านเรียกร้องมาหลายครั้งหลายหน จึงเริ่มเป็นจริง เมื่อรัฐบาลประยุทธ์มีปัญหาเรื่องการจัดหาวัคซีน
++
การเมืองเก่า
++
ช่วงปี 2561 พรรคภูมิใจไทย ที่มี อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค ได้พยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ให้เป็นพรรคการเมืองทางเลือกของประชาชน
อันดับแรกคือ การสร้างภาพ “อนุทิน” จากลูกชายเถ้าแก่รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของประเทศ ให้เป็นนักการเมืองคนรุ่นใหม่ คนติดดิน จึงมีจัดพิมพ์หนังสือชีวิตอนุทินชื่อ “ “มีรู..มีหนู” อันหมายถึง “ที่ไหนมีโอกาส ที่นั่นมีอนุทิน”
ที่ไหนมีโอกาส ก็มีเสี่ยหนู เริ่มจากปี 2539 ได้เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาฯ ช่วงนั้น บิดา-ชวรัตน์ ชาญวีรกูล นั่งรัฐมนตรีช่วยคลัง สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ โควตาพรรคชาติพัฒนา
ปี 2539-2542 เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีตั้งแต่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รัฐบาลพล.อ.ชวลิต และรัฐบาลชวน
ปี 2544 เป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย และเป็นกรรมการที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (พล.อ.วัฒนชัย วุฒิศิริ)
ปี 2547-2548 ได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข ,รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ แล้วกลับไปนั่งรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข อีกรอบ
จริงๆแล้ว เส้นทางการเมืองในอดีตของเสี่ยหนู ไม่ค่อยมีใครได้จดจำเท่าไหร่ เพราะเข้ามาสู่วงจรอำนาจการเมืองเพียงช่วงสั้นๆ
อนุทิน เจอศึกหนักในโควิดระลอก 3
++
คนชื่อหนู
++
นับแต่ปี 2560 “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ได้ใช้เฟซบุ๊ก Anutin Charnvirakul สื่อสารความคิดความอ่านทางการเมือง เพื่อแนะนำตัวกับผู้คน ด้วยสไตล์นักการเมืองรุ่นใหม่
ปี 2561 เสี่ยหนูมอบให้ทีมงาน “สื่อคนเสื้อแดง” มาทำสื่อออนไลน์ ทั้งช่องยูทูบ “Ringside การเมือง” ที่เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กด้วย พร้อมกับเว็บไซต์ เนื่องจากเมื่อการเลือกตั้งปี 2554 ภาพของพรรคภูมิใจไทย คือพรรคทรยศคนแดนไกล จึงไม่เป็นชื่อชอบของคนเสื้อแดงทั่วไป
ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เสี่ยหนูได้โปรโมตตัวเอง ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ของนักสื่อสารรุ่น Gen X ทำให้ฝ่ายผู้รักประชาธิปไตย และไม่ชอบ คสช. มีความชื่นชอบเสี่ยหนู จำนวนไม่น้อย
หลังเลือกตั้ง เข้าสู่ห้วงเวลาเตรียมการจับขั้วตั้งรัฐบาล ฝ่ายประชาธิปไตยจึงส่งเสียงถึงเสี่ยหนู ให้จับขั้วกับฝ่ายพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ แต่สุดท้าย เสี่ยหนูก็เข้าร่วมรัฐบาลประยุทธ์
ความจริงทางการเมืองที่ “ละอ่อน” ฝ่ายประชาธิปไตยไม่ทราบคือ พรรคภูมิใจไทย ได้เจรจากับ “3 ป.” ไว้ล่วงหน้าแล้ว ว่าจะได้กระทรวงไหนบ้าง
นี่คือคุณลักษณะของนักการเมืองผู้ยึดคติที่ว่า “ที่ไหนมีโอกาส ที่นั่นมีเสี่ยหนู” ฉะนั้น นักการเมืองสายพันธุ์นี้ ก็ไม่ต่างจากนักการเมืองยุคเก่า