ไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน "รมว.ศธ." ดึงติวเตอร์มาอบรมครู
"ตรีนุช" ดึงติวเตอร์มาอบรมครู ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ยังไม่พบว่ามีประเทศใดในโลกดำเนินการด้วยแนวทางนี้
เรียน รมว.ศธ.(คุณตรีนุช เทียนทอง) ตรีนุช เทียนทอง
Cr. อ. อรรถพล ครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ. น่าฟัง และใช้วิจารณญาณเพื่อ. Mindset ที่ถูกต้องต่อวิธีการจัดการศึกษา
“ผมได้เห็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ และเห็นกำหนดการในโปรแกรมอบรมครูทั่วประเทศที่ส่งต่อกันในไลน์อย่างกว้างขวางแล้ว เกิดข้อสงสัยอย่างยิ่งเกี่ยวกับการคัดเลือกวิทยากรโดยระดมครูจากสถาบันกวดวิชา และเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมจากสถาบันเอกชนที่ขายคอร์สพัฒนาครูเป็นหลัก มาอบรมครูในระบบ เท่าที่ผมศึกษาดูจากนโยบายพัฒนาครูในหลายประเทศ ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ยังไม่พบว่ามีประเทศใดในโลกดำเนินการด้วยแนวทางนี้นะครับ
ธรรมชาติของงานที่ติวเตอร์ทำกับครูเต็มเวลาใน รร.ทำต่างกันมาก การดึงพวกเขามาไม่ใช่ความผิดพวกเขาเลย แต่มันสะท้อนว่าการกำหนดนโยบายยังขาดความเข้าใจเรื่องการศึกษาและไม่ได้กำหนดนโยบายบนฐานปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม ปฏิรูปนิยม และมนุษยนิยมใหม่ อันเป็นหัวใจของการศึกษากระแสหลักที่มีคุณภาพทั่วโลก รวมทั้งระบุอยู่ใน พ.ร.บ.การศึกษาฉบับปัจจุบัน กิจกรรมตามนโยบายนี้สะท้อนชุดความคิดที่ยังติดอยู่ในโลกของการศึกษา 100 ปีที่แล้ว ที่คิดว่าต้องหาวิธีถ่ายทอด อธิบาย วิเคราะห์ให้ฟัง มองงานสอนเป็นงานเชิงเทคนิควิธีการมากกว่าการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน
ความรู้ว่าด้วยการพัฒนาครูประจำการ (In-service Teacher Development) ในระดับนานาชาติเน้นการสร้างความแข็งแกร่งชองชุมชนเรียนรู้ของครู (TLC : Teacher Learning Community) ใช้การสืบสอบ (Inquiry) การวิจัยชั้นเรียน (ClassroomResearch) การศึกษาบทเรียน (Lesson Study) ทำให้ครูเป็นนักปฏิบัติที่ชำนาญขึ้นจากการไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflective Practitioner) และทำให้โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC: School as Leaning Community) ที่มีชีวิตชีวาสำหรับทุกคน
การอบรมแบบฟังอย่างเดียวให้ได้ Input แบบนี้หลายประเทศยกเลิกไปนานแล้ว ใช้เฉพาะวาระรับฟังนโยบายบางอย่างที่สำคัญมาก ๆ หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องระดับนานาชาติมาคุย
ในลิสต์รายชื่อวิทยากรที่มี ผมเชื่อว่าสำหรับครูไทยที่เก่ง ๆ ใฝ่รู้ รักดี ก้าวข้ามกำแพงภาษาพอได้ เห็นเข้าคงส่ายหัว พวกเขาหาฟังประชุมออนไลน์นานาชาติที่มีวิทยากรดัง ๆ ระดับเอเซีย-แปซิฟิค ระดับโลก ได้ด้วย Free Webinar หรือเรียนผ่าน Mooc และ Coursera ได้มากมาย ทั้งในและต่างประเทศ มาสักพักใหญ่แล้วนะครับ
ยิ่งไปกว่านั้นครูเก่ง ๆ ของเราเป็นวิทยากรอบรมระดับประเทศกันหลายคน พวกเขาน่าจะทำหน้าที่นี้ในการสื่อสาร แชร์ประสบการณ์จากห้องเรียนจริง ๆ สร้างแรงบันดาลใจ และพูดจาภาษาห้องเรียนเช่นเดียวกับเพื่อนครูได้มากกว่า
ปรากฎการณ์นี้ยังสะท้อนเรื่องใหญ่ที่สำคัญในการพัฒนาครู นั่นคือการขาดการเชื่อมต่อยึดโยง (Alignment) กับสถาบันเตรียมครูพัฒนาครูอย่างคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นปัญหาทั้ง 2 ฝั่ง
กล่าวคือ ศธ.ก็มองไม่เห็นคุณค่า ไม่ศรัทธาเชื่อมั่น มองไม่เห็นทั้งความพร้อมที่มีอยู่ (Availability) และการเปิดให้สาธารณะเข้าถึงได้ (Accessibility) จากสถาบันครุศึกษา ในระดับสถาบันนะครับ ไม่ใช่การเชื้อเชิญเจาะจงตัวเป็นราย ๆ ไป
ในอีกมุมหนึ่ง สถาบันครุศึกษาเหล่านี้ก็ทำตัวห่างเหิน ไม่แสดงภาวะผู้นำทางการศึกษา ไม่กระตือรือร้นมากพอที่จะร่วมรับผิดรับชอบกับสถานการณ์ปัญหาทางการศึกษา ลอยตัวจากความล้มเหลวของระบบ มาอย่างยืดเยื้อเรื้อรังยาวนาน พูดภาษาชาวบ้าน คือ ผู้กำหนดนโยบายเขามองไม่เห็นหัวพวกท่าน เพราะพวกท่านไม่เคยอยู่ให้เห็นหัว
พอจะเห็นบางคน บางกลุ่ม ในบางสถาบัน ที่พยายามจัดกิจกรรม โปรแกรมพัฒนาครูอยู่พอสมควร แต่ก็เป็นการดิ้นรนพยายามด้วยความมีแก่ใจจะร่วมรับผิดชอบระดับบุคคลและกลุ่ม โดยขาดแรงส่งจากกลไกเชิงสถาบันที่เป็นกลุ่มเป็นก้อน (เรายังมีสภาคณบดีครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ฯ และที่ประชุมคณบดีครุศาสตร์ฯ กลุ่ม16+1 และกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ อยู่นะครับ)
แม้ศธ.จะไม่ได้มีอำนาจโดยตรงในการสั่งการ และรีบูตบทบาทหน้าที่ให้คณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ แต่เป็นหลักการพื้นฐานที่ ศธ.หรือ MOE.ทั่วโลก ต้องทำ คือ ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับสถาบันเตรียมครูพัฒนาครู อย่างคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์
ถ้าพวกเขามองไม่เห็นบทบาทหน้าที่นี้ ท่านก็ต้องหารือกับ กระทรวง อว. ให้จัดแพลตฟอร์มหารือกัน
เปรียบเทียบโดยง่าย กำลังเจอโจทย์ยากทางการแพทย์ เช่น โรคระบาด ไม่มีประเทศใดจะกะเกณฑ์หมอ พยาบาล มานั่งฟังบรรยายจากนักเทคนิคการแพทย์ หรือตัวแทนจำหน่ายยา ซึ่งทำหน้าที่ในฟังค์ชั่นอื่น มาอธิบายแนะนำ 'เครื่องมือ' และ 'สินค้า' แต่เขาจะสนับสนุนให้ระบบผู้ให้คำปรึกษา (Consultation) ระหว่างหมอและพยาบาลด้วยกันเข้มแข็ง ฟีดข้อมูลจากงานวิจัยและข้อมูลที่อัพเดตที่สุดให้คนทำงานภาคสนาม
ผมหาได้กล่าวโทษ หรือดูแคลนวิทยากรทุกท่านในลิสต์ พวกเขาแค่ถูกเชิญ และเป็นการเลือกกำหนดโจทย์ที่ผิดจากผู้กำหนดนโยบาย
ผมเข้าใจว่า ท่าน รมว.ในฐานะผู้มาใหม่ของวงการย่อมถูกห้อมล้อม ให้คำแนะนำและมีคนพยายามขอเข้าพบจำนวนมากจากสารพัดบริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจการศึกษาและพร้อมเสนอความช่วยเหลือด้วยความหวังดีห่วงใย
น่าสนใจว่าเราเปลี่ยนรัฐมนตรีมาไม่รู้กี่คน แต่ปัญหาเหล่านี้ยังคงอยู่ เครือข่ายระหว่างเทคโนแครต ข้าราชการระดับสูง และหน่วยธุรกิจเหล่านี้ น่าจะแข็งแกร่งเป็นกำแพงเหล็กที่ท่านคงต้องพยายามหาทางเจาะช่องรับฟังสื่อสารกับครูจริง ๆ ที่เป็นคนทำงานที่หน้างานให้มากขึ้น
ฟังเสียงครู เสียงเด็ก ๆ ที่เป็นผู้เรียนให้มากที่สุด ทำความเข้าใจกลไกเชิงระบบ จัดทีมศึกษาข้อมูลแนวปฏิบัติที่ดีจากต่างประเทศ แล้วกำหนดแผนการทำงานที่เป็นประโยชน์ บนหลักวิชา ความรู้ และงานวิจัย
ผมมีข้อเสนอ 3 ข้อสำหรับช่วงเลื่อนเปิดเทอม 11 วัน
1. สนับสนุนให้ทุก รร.มีการจัดการประชุมออนไลน์ถอดบทเรียนการทำงานในรอบปีที่ผ่านมา ครูทุกคนได้มีประสบการณ์ตรงและลงมือแก้ปัญหามาหมดแล้ว ทั้ง Online (เลื่อมเวลา/ประสานเวลา) - On Air - On Screen - On Hand - On Site. รวมทั้ง Hybrid
ไม่มีติวเตอร์หรือนักวิชาการเจอบริบทการสอนการทำงานแบบเดียวกับคุณครูในช่วง พ.ค.-ก.ค.63 และ ธ.ค.63 -ม.ค.64 ที่ต้องจัดกิจกรรมการเรียนทั้ง 5 ช่องทางนี้ผสมกัน
คุณครูเท่านั้นที่เคยล้มเหลว เรียนรู้ หลายคนปรับตัว จนเกิดแนวปฏิบัติที่ดี สามารถแลกเปลี่ยน ให้คำแนะนำเพื่อนครูร่วม รร.ได้
การรับมือสถานการณ์นี้ เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของเพื่อนครู รร.อื่น ผู้สอนในบริบทอื่นได้ แต่เรื่องสำคัญ คือการแลกเปลี่ยนกันเองกับครูที่ดูแลนักเรียนในบริบทเดียวกัน วิธีที่ใช้ได้กับ รร.ขนาดกลางระดับชุมชนเมือง ไม่อาจใช้ได้กับ รร.ในพื้นที้ห่างไกล หรือกระทั่ง รร.ใหญ่ในเมือง
และต่อให้ขนาดใกล้เคียงกัน รร.ในบริบทเด็กหลากชาติพันธุ์ เด็กในบริบทวัฒนธรรมเฉพาะ และเด็กที่มีพื้นเพสถานะ ความพร้อมสนับสนุนของครอบครัวก็ไม่อาจเหมือนกัน
ให้เวลาคุณครูได้คุยหารือ ได้พัก ได้เตรียมตัวสอนเถิดครับ ดีกว่าบังคับให้เปิดหน้าจอเช็คชื่ออบรมออนไลน์กับใครก็ไม่รู้ ที่ไม่ได้เข้าใจปัญหาเฉพาะหน้าที่ครูกำลังต้องเผชิญ แล้วก็ต้องแอบปิดกล้องนั่งประชุมเตรียมสอนกันไป
และฝากโจทย์ให้คุณครูขบคิดวิธีการทำความรู้จักสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับ นร. ในการสอนทางไกลตั้งแต่สัปดาห์แรกของเทอม
2. ให้เด็ก ๆ ได้พัก ได้เล่นสนุกตามใจบ้างเถิดครับในช่วง 11 วันที่เลื่อนเปิดเทอม เด็ก ๆ ล้ามาเต็มทีกับการเรียนปนไปปนมาระหว่างออนไลน์์/ออฟไลน์ หลายคนเครียด เบื่อ เหนื่อยล้า หมดแรงจูงใจไปแล้ว รวมทั้งอีกไม่น้อยที่ซึมซับรับรู้ความเครียดทางเศรษฐกิจ สังคม และความหวั่นกลัวการติดเชื้อร่วมกับผู้ใหญ่
ให้เขาได้เล่น ได้เป็นเด็ก มีเวลาว่างสั้น ๆ สัก 11 วัน ถ้าท่านเกรงว่าจะสูญเปล่า แนะนำว่าให้ รร.ประสานงานกับเด็กล่วงหน้าว่าไม่มีงาน ไม่มีการบ้าน ให้เล่นเต็มที่ แต่ฝากให้เขียนสั้น ๆ หรือวาดอะไร เตรียมมาเล่าให้เพื่อนและครูฟังในวันแรกที่ได้เปิดเทอมว่า '11 วันที่ได้มีเวลาว่าง ฉันทำอะไร'
3. หารือด่วนกับ อว. และเครือข่ายสถาบันครุศึกษา เชิญชวนผู้นำองค์กรของกลุ่มมหาวิทยาลัยทึ่มีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ หารือ ร่วมกันแบ่งพื้นที่ดูแลสนับสนุนงานคุณครูในช่วงภาคการศึกษาต้น ไม่มีงบประมาณก็น่าจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ทุกสถาบันภายใต้มหาวิทยาลัยถูกกำกับด้วยตัวชี้วัดต้องให้บริการวิชาการอยู่แล้ว ทำเป็นออนไลน์แพลตฟอร์ม ให้เรียนรู้สนับสนุนยึดโยงกันระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย
เริ่มจากมหาวิทยาลัยไหนที่ส่งนิสิตนักศึกษาลงฝึกสอน ต้องร่วมสนับสนุนงาน รร.นั้น และ รร.ใดทึ่ไม่ใช่พื้นที่ฝึกงานของนิสิตนักศึกษา ก็ควรจัดโซนพื้นที่ ระดมพลังช่วยสนับสนุนกัน
ทั้งหมดนี้คือข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่อยากนำเรียนฝากไว้เพื่อพิจารณาใคร่ครวญอย่างถ้วนถี่รอบคอบ
ด้วยความเคารพ
อรรถพล อนันตวรสกุล
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หากข้อความนี้เป็นประโยชน์ ฝากคุณครู นิสิตนักศึกษาครู นักการศึกษา นักวิชาการ สื่อมวลชน และทุกท่านช่วยแชร์เพื่อส่งไปให้ถึงท่านรัฐมนตรีและคณะทำงานด้วยครับ”