ทางวิบาก พลังประชารัฐ ภาพซ้ำ "สามัคคีธรรม"
โควิดปิดล้อมรัฐบาลประยุทธ์ สะเทือนพลังประชารัฐ ส่อแววซ้ำรอยสามัคคีธรรม คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย... ชุนน้ำหมึก
++
ในที่สุด พิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรฯ และอดีตประธาน ครป. ถือโอกาสวาระครบรอบ 29 ปี พฤษภาทมิฬ ออกมาสนับสนุน “ทนายนกเขา” ไล่รัฐบาลประยุทธ์ พ่วงข้อเสนอ “นายกคนนอก” เพื่อการสร้างชาติ 2 ปี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง... ไผเป็นไผ สแกนค่าย "ผู้กอง"
ผู้กองธรรมนัส ถูกจับตามองเป็นพิเศษ
ประสานเสียงกับ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ และจตุพร พรหมพันธุ์ ที่ปักหลักจัดเวทีไล่ประยุทธ์อยู่ในสตูดิโอพีซทีวี รอวันลงถนนอีกครั้ง
การต่อสู้เอาชนะโควิดรอบใหม่นี้ เป็นความท้าทายของผู้นำที่มาจากกองทัพ หากมหกรรมฉีดวัคซีนทั้งประเทศ ในเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้ วัคซีนโควิดยัง “เอาไม่อยู่” รัฐบาลก็อยู่ยาก
ดังนั้น บทวิเคราะห์การเมืองเกือบทุกสำนักข่าว ต่างฟันธงว่า หลัง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2565 โยกย้ายข้าราชการเกษียณในเดือน ก.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงได้ยุบสภาแน่ ถ้าการเมืองเรื่องโควิดยังมะรุมมะตุ้มอยู่อย่างนี้
ว่ากันว่า พรรคพลังประชารัฐ อาจแปรสภาพเป็น “พรรคลูกข้าวนึ่ง” ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส่วนก๊กอื่นๆ คงขยับขยายหาที่ทางใหม่ ตามวิถีนักเลือกตั้ง และในสภาพความเป็นจริงของพลังประชารัฐ ก็คือพรรคเฉพาะกิจ มาตั้งแต่แรกแล้ว
สมศักดิ์ และสุริยะ คู่หูสามมิตร
++
พรรครวมไทยภาค 2
++
เรื่องราวของพรรคสามัคคีธรรม จะถูกพูดถึงบ่อยครั้ง เมื่อเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเวียนมาครบรอบปี แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า พรรคสามัคคีธรรม เป็นการสานฝันของ ณรงค์ วงศ์วรรณ ที่ต้องการเป็น “นายกคนเมือง” คนแรกของประเทศไทย
เลือกตั้งทั่วไปปี 2529 ณรงค์ วงศ์วรรณ อดีต ส.ส.แพร่ ได้ก่อตั้ง “พรรครวมไทย” พร้อมปลุกกระแสพรรคของคนเหนือ และชูคำขวัญ “นายกคนเมือง” หรือ “นายกลูกข้าวนึ่ง” แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ปี 2532 พ่อเลี้ยงณรงค์ ตัดสินใจยุบพรรครวมไทย เข้ากับพรรคกิจประชาคม และพรรคประชาชน เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “พรรคเอกภาพ” ที่มีพ่อเลี้ยงณรงค์ เป็นหัวหน้าพรรค
หลังรัฐประหาร 2534 “บิ๊กเต้” พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล แกนนำคณะทหาร รสช. มอบให้ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ และ น.ต.ฐิติ นาครทรรพ ไปประสานกับนักการเมืองสายเหนือ จัดตั้งพรรคสามัคคีธรรม
พ่อเลี้ยงณรงค์ เห็นช่องทางลัดสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี จึงอาสาเป็นหัวหน้าพรรค และระดมนักการเมืองภาคเหนือ และภาคอีสาน เข้ามาสังกัดพรรคสามัคคีธรรม
ผลเลือกตั้ง 22 มี.ค.2535 พรรคสามัคคีธรรม ได้ 79 ที่นั่ง จึงเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หากไม่สะดุดกรณีสหรัฐระงับวีซ่าเข้าประเทศ พ่อเลี้ยงณรงค์ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว
ชั่วโมงนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ก็แอบฝันถึงการรวมพลัง “ลูกข้าวนึ่ง” เหมือนครั้งที่พ่อเลี้ยงณรงค์ ตั้งพรรครวมไทย
++
พรรคเฉพาะกิจ
++
สองปีก่อน พรรคพลังประชารัฐ คือชุมทางนักเลือกตั้ง ใต้ร่มเงาอดีตนายทหารใหญ่อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงได้เห็นอดีต ส.ส. และนักการเมืองท้องถิ่น ตบเท้าเข้ามาเป็นสมาชิกมากมาย
ท่ามกลางความสามัคคีรวมพลังสู้ศึกเลือกตั้ง ก็เริ่มเห็นร่องรอยของความแตกต่าง ความแปลกแยกระหว่างนักเลือกตั้ง กับเทคโนแครตที่เป็นกรรมการบริหารพรรค
มาถึงวันนี้ “บิ๊กป้อม” ต้องลุกออกจากหลังม่าน มาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพื่อกุมสภาพ และสร้างเอกภาพภายในพรรค
หลัง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และกลุ่ม 4 กุมาร ออกจากพรรคไป ก็เหลือกลุ่มก้อนใหญ่ๆในพลังประชารัฐ แค่ 2 กลุ่มคือ กลุ่มสามมิตร กับกลุ่มผู้กองธรรมนัส และสหาย
กลุ่มสามมิตร นำโดย สมศักดิ์ เทพสุทิน ที่มีประสบการณ์โชกโชน และเคยนำไพร่พลย้ายมาหลายพรรค จึงเดินเกมเงียบๆ ไม่โฉ่งฉ่าง
กลุ่มผู้กองธรรมนัส ที่มี สันติ พร้อมพัฒน์ และวิรัช รัตนเศรษฐ เป็นแนวร่วม ค่อนข้างมั่นใจว่า บิ๊กป้อมให้ความไว้วางใจ และมีผลงานจากการเลือกตั้งซ่อม จึงขยับหมากขยับเบี้ยบนกระดานอยู่เรื่อยๆ
ส่วน ส.ส.สายอาวุโสอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้สังกัด 2 กลุ่มข้างต้น ด้วยมากประสบการณ์ จึงพร้อมจะตัดสินใจ เมื่อได้สัญญาณชัดว่า ใครจะเป็นคนรับไม้ต่อจากบิ๊กป้อม
ความเหมือนกันของพลังประชารัฐ กับสามัคคีธรรม คือพรรคการเมือง ที่มีอดีตนายทหารใหญ่ ให้การสนับสนุน เพื่อภารกิจเลือกตั้ง และฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล
นักเลือกตั้งไม่ต่างจากนักเตะอาชีพ เมื่อจบฤดูกาลก็หาสังกัดใหม่ โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่มีทีมฟุตบอลของตัวเองรู้ดีว่า นักเตะก็อยากสังกัดทีมที่มีแววว่าจะเป็นแชมป์
นักการเมืองก็เช่นเดียวกัน ใครๆก็อยากไปสวมเสื้อพรรคที่มีโอกาสเป็นรัฐบาลสมัยหน้า